แจกสูตรเซฟ วิธีคำนวณกระแสเงินสด ฉบับเจ้าของธุรกิจใช้ได้จริง

TEXT : กองบรรณาธิการ

                                                                                              

     ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาเชื่อว่าในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยแทบจะทุกคนต้องเจอกับเรื่องของกระแสเงินสดที่อาจไม่คล่องตัวเหมือนกับในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งพอกำลังจะกลับมาเริ่มดี ก็ต้องเจอกับภาวะเงินเฟ้ออีก เช่น ราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น เพราะปรับตัวไม่ทันกับความต้องการใช้งานของผู้บริโภค ซึ่งการจะประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้การรักษาสภาพคล่องหรือเงินทุนหมุนเวียนสำคัญที่สุด ดังนั้นวันนี้จึงอยากมาแนะนำเทคนิคการบริหารกระแสเงินสดกัน

     โดย เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ ​ผู้ก่อตั้ง & Managing Director, Gnosis Company Limited ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ธุรกิจ การสร้างแบบจำลองทางการเงิน การวิเคราะห์การเงิน การประเมินมูลค่ากิจการ​ ได้แนะนำในงานสัมมนา “10 Ways  to improve your business” ตอน : เทคนิคบริหารการเงินในภาวะวิกฤตว่า อันดับแรกเพื่อให้เข้าใจข้อเท็จจริงให้ลองนึกถึงภาพภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ด้านบนกับภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนตัวอยู่ด้านล่างในน้ำก่อน

     โดยด้านบน คือ สิ่งที่คนทั่วไปมองเห็นในธุรกิจ ได้แก่

  • รายได้
  • มูลค่าธุรกิจ
  • กำไร หรือขาดทุน
  • เงินสดในมือ + บัญชี

     

ส่วนด้านล่างที่ซ่อนอยู่ คือ เบื้องหลังที่มาของปัจจัยต่างๆ ในการทำธุรกิจ ได้แก่

  • สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้
  • แหล่งที่มาของเงินทุน เช่น กู้ยืมเงิน และหุ้นส่วนธุรกิจ
  • กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
  • ต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
  • ต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่าย, เงินปันผลจ่าย)
  • ค่าใช้จ่ายด้านภาษี
  • ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (ในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน)
  • เงินทุนหมุนเวียน (ลูกหนี้ + สินค้าคงเหลือ – เจ้าหนี้การค้า)

     

     ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ คือ การบริหารรายได้และทำกำไรให้ได้สูงขึ้น เกิดจากการบริหารกระแสเงินสดให้สามารถต่อยอดสืบไปได้ โดยเงินสดที่ได้มาจะถูกจ่ายออกไปเป็นค่าดำเนินงาน และส่วนที่เหลือก็จะนำไปลงทุนต่อ เพื่อเกิดรายได้ใหม่ ดังนั้นหากรายได้ลดก็เท่ากับความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจลดลงไปด้วย

เงินสดแปลงร่างได้ยังไง?

เงินสด » วัตถุดิบ » สินค้า » ขาย » รายได้เพิ่ม

วิธีรักษากระแสเงินในธุรกิจ

     โดยวิธีการรักษากระแสเงินสดให้อยู่กับธุรกิจได้นานที่สุด ต้องทำดังนี้

  • ตรวจสุขภาพการเงินธุรกิจ

     ตั้งคำถามดังนี้

1. เงินสดขาดมือเสมอๆ ใช่หรือไม่

2. คุณสามารถชำระเงินกับซัพพลายเออร์ได้ตรงเวลา ใช่หรือไม่

3. ยอดขายของธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือลดลง

4. ธุรกิจสามารถทำกำไรได้ใช่หรือไม่ หาก ใช่ กำไรเติบโตในสัดส่วนเดียวกับการเติบโตของรายได้ ใช่หรือไม่

5. ยอดสั่งซื้อสินค้าของธุรกิจขยายตัว หรือหดตัวลง

6. ตรวจทานค่าใช้จ่ายดำเนินงานอย่างไร เช่น เปรียบเทียบจ่ายจริงกับงบประมาณ

7. คุณพบว่ามีการตรวจนับสต็อกสินค้าผิดพลาดบ่อยๆ หรือไม่

8. จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าลูกค้ารายใหญ่ขอลดราคาสินค้า

9. คุณวิเคราะห์อุตสาหกรรมของธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง และสถานะของคู่แข่งเป็นอย่างไร

10. คุณกำลังคิดว่า ธุรกิจของคุณกำลังแพ้คู่แข่งขันหรือไม่ อย่างไร

11. คุณมีแหล่งเงินทุนสำรองหรือไม่ เมื่อเกิดวิกฤต

 

  • วิธีอ่านรายงานทางการเงิน

     หากอยากบริหารกระแสเงินสดได้ ต้องอ่านงบการเงินให้เป็น โดยมีองค์ประกอบ 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. งบกำไรขาดทุน แสดงผลประกอบการ 2. งบแสดงฐานะทางการเงิน (งบดุล)

     งบกำไรขาดทุน แสดงผลประกอบการ ได้แก่

     ยอดขาย

     ต้นทุนขาย หรือค่าใช้จ่ายผันแปร

     กำไรขั้นต้น

     ค่าใช้จ่ายคงที่ อาทิ ค่าใช้จ่ายบุคลากร, ค่าเช่า

     ค่าดำเนินการต่างๆ

     กำไรสุทธิ

     สรุป

     เมื่อขายสินค้าได้ ก็จะมีต้นทุนขายหรือค่าใช้จ่ายผันแปร จากนั้นเมื่อนำมาหักลบแล้วจะได้กำไรขั้นต้นออกมา โดยกำไรขั้นต้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ 1. สามารถเพิ่มรายได้จากลูกค้าได้ไหม 2. ลดรายจ่ายหรือต่อรองกับซัพพลายเออร์ให้ต้นทุนถูกลงได้ไหม จากนั้นจึงจะนำไปจ่ายค่าใช้จ่ายคงที่ อาทิ ค่าเช่าสถานที่, เงินเดือนพนักงาน จึงจะเหลือกำไรที่แท้จริง ซึ่งหากค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost)  เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะทำให้กำไรแท้จริงลดลงมากเท่านั้น

     งบแสดงฐานะทางการเงิน (งบดุล) ได้แก่

     สินทรัพย์หมุนเวียน คือ เงินสด, สินค้า และลูกหนี้การค้า

     หนี้สินหมุนเวียน คือ เจ้าหนี้การค้าที่เราต้องจ่าย

     สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ได้แก่ โรงงาน, เครื่องจักร, อุปกรณ์ต่างๆ หรือเงินลงทุนระยะยาว

     หนี้สินไม่หมุนเวียน อาทิ เงินกู้ระยะยาว

     ส่วนของผู้ถือหุ้น (จะอยู่ในตำแหน่งสุดท้าย ถ้ากิจการมีปัญหาผู้ถือหุ้นจะได้สุดท้าย)

สูตรคำนวณกระแสเงินสดธุรกิจ

ระยะเวลาถือสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาจ่ายชำระหนี้ = วงจรเงินสด (วัน)  

     โดยให้จำไว้ว่ายิ่งสั้นยิ่งดี (มีค่าน้อย) เพราะแสดงว่าบริษัทมีสภาพคล่องสูงสามารถเปลี่ยนสินค้าเป็นเงินสดได้เร็ว จากวงจรเงินสด

     เช่น ระยะเวลาถือสินค้า (10 วัน) + ระยะเวลาเก็บหนี้ (30 วัน) – ระยะเวลาจ่ายชำระหนี้ (20 วัน)

     จะได้เป็น                             40 – 20 วัน = 20 วัน

     แปลว่าเราขาดเงินสด 20 วัน ก็ต้องพยายามลดระยะเวลาเก็บหนี้จากลูกหนี้การค้าให้สั้นลง หรืออาจขอรับเงินสดแทนก็ได้ ขณะเดียวกันอาจใช้วิธีเจรจากับฝั่งซัพพลายเออร์เพิ่ม เพื่อขอยืดระยะการชำระหนี้ออกไปก็ได้

กิจการต้องเตรียมเงินสดสำรองกี่วัน

ระยะเวลาเก็บหนี้

     ระยะเวลาการเก็บเงินลูกหนี้การค้า (วัน) = (ลูกหนี้การค้าเฉลี่ย / ยอดขาย) x 365

ระยะเวลาจ่ายชำระหนี้

     ระยะเวลาชำระเงินเจ้าหนี้การค้า (วัน) = (เจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย / ต้นทุนสินค้าขาย) x 365

ระยะเวลาถือสินค้า

     ระยะเวลาการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง (วัน) = (สินค้าคงคลังเฉลี่ย / ต้นทุนสินค้าขาย) x 365

ตัวอย่างที่ 1 : ต้องมีเงินสดไว้ใช้เท่าไหร่

     บริษัท A จำกัด ผลิตสินค้าได้วันละ 5,000 หน่วย ต้นทุนหน่วยละ 200 บาท

     ระยะเวลาในการผลิตสินค้าและการขาย 25 วัน

     ระยะเวลาในการเรียกเก็บหนี้ 30 วัน

     ระยะเวลาในการชำระหนี้ 45 วัน

     ฉะนั้นวงจรเงินสดของบริษัท คือ กี่วัน และบริษัทต้องมีเงินสดไว้เท่าไหร่

ระยะเวลาถือสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาจ่ายชำระหนี้ = วงจรเงินสด (วัน)

     25+30-45 = 10 วัน

     ฉะนั้นจำนวนเงินสดที่ต้องมี 5,000 x 200 x10 = 10,000,000 บาท

ตัวอย่างที่ 2 : ต้องมีเงินสดไว้ใช้เท่าไหร่ (ค่าใช้จ่ายทั้งปี)

     ถ้าวงจรเงินสด คือ 120 วัน โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งปี ดังนี้

     ต้นทุนขาย 2,400,000 บาท

     ค่าใช้จ่ายในการขายและดำเนินงาน 900,000 บาท

     ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 160,000 บาท

     ภาษี 30,000 บาท

     ค่าเสื่อมราคา 250,000 บาท รวมอยู่ในค่าใช้จ่ายในการขายและดำเนินงานแล้ว (ไม่ต้องนำมาคิดเพิ่ม)

     ต้องหาเงินสดที่บริษัทต้องมีไว้ใช้ในการดำเนินงานเท่าไหร่

เวลาที่ใช้ในการดำเนินงาน / วงจรเงินสด  = อัตราหมุนเวียนของเงินสดใน 1 ปี

     360 / 120 = 3 รอบ

     ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เป็นเงินสด

2,400,000 + 900,000 + 160,000 + 30,000 – 250,000 บาท = 3,240,000 บาท

ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด / รอบ = จำนวนเงินสดที่ต้องถือไว้ (ทั้งปี)

     3,240,000 / 3 = 1,080,000 บาท

การกำหนดยอดเงินสดขั้นต่ำ

     พิจารณาจากยอดเงินสดที่ใช้จ่ายในอดีต และปัจจุบัน

(เงินสดจ่ายโดยเฉลี่ยต่อวัน) x วงจรเงินสด = จำนวนเงินสดขั้นต่ำ

     ถ้าจำนวนรายจ่ายที่เป็นเงินสดใน 6 เดือน (180 วัน) ที่ผ่านมาของกิจการเป็น 2,400,000 บาท

     กิจการมีวงจรเงินสด 90 วัน

     ฉะนั้นจำนวนเงินสดขั้นต่ำที่ควรจะมี คือ ?

     (2,400,000 / 180 วัน) x 90 = 1,200,000 บาทต่อ 90 วัน

     ขอเชิญผู้ประกอบการ SME ร่วม “สัมมนา ยกระดับ-ปรับกลยุทธ์-ฟื้นฟูธุรกิจ 10 Ways to improve your business“ กับ 10 กูรูมืออาชีพชั้นนำ โดยกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อมรบฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย!!! ผ่านระบบ Zoom Meeting

     สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/10waystoimproveyourbusiness/

     สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 08-4555-0802

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน