SME พร้อมหรือยัง เชื่อมระบบสแกนจ่ายข้ามประเทศ เมื่อสังคมไร้เงินสดเอเชียอาคเนย์โตเร็ว

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

Main Idea

  • จากการประเมินของทูซีทูพี การใช้จ่ายผ่านอี-คอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นราว 162% ในปี 2025 มาอยู่ที่มูลค่า 179,800 ล้านดอลลาร์

 

  • 91% จะเป็นการชำระเงินออนไลน์ ตลาดใหญ่สุดได้แก่ อินโดนีเซีย (83,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เวียดนาม (29,000 ล้านดอลลาร์) และไทย (24,000 ล้านดอลลาร์)

 

  • จำนวนผู้ใช้ mobile wallet จะพุ่งมากถึง 311% จาก 141.1 ล้านรายในปี 2020 มาอยู่ที่ 439.7 ล้านรายในปี 2025

     ปรากฏการณ์หนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือรูปแบบการชำระค่าสินค้าและบริการที่เปลี่ยนถ่ายจากเงินสดไปสู่การชำระแบบดิจิทัลอย่างคึกคัก เหตุจากตลาดออนไลน์เฟื่องฟู และแม้กระทั่งร้านค้าที่มีหน้าร้านไม่ว่าจะข้างทางหรือที่ไหน ๆ ก็ต้องมี QR code ให้ลูกค้าสแกนจ่าย ยิ่งช่วงวิกฤติโควิด-19 ระบาด การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากผู้คนจับจ่ายผ่านออนไลน์มากขึ้น และต้องการลดการสัมผัสเสี่ยงจากธนบัตร  

     จากการประเมินของทูซีทูพี ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์การใช้จ่ายผ่านอี-คอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นราว 162 เปอร์เซ็นต์ในปี 2025 มาอยู่ที่มูลค่า 179,800 ล้านดอลลาร์ และในการทำธุรกรรมต่าง ๆ 91 เปอร์เซ็นต์จะเป็นการชำระเงินออนไลน์ โดยตลาดใหญ่สุดได้แก่ อินโดนีเซีย (83,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เวียดนาม (29,000 ล้านดอลลาร์) และไทย (24,000 ล้านดอลลาร์)

     ทั้งนี้ การเติบโตของระบบชำระเงินดิจิทัลยังเป็นผลจากปัจจัยต่างๆ อาทิ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เทรนด์ค้าปลีก และระบบการชำระเงินที่มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ทำให้คาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ใช้บริการอี-คอมเมิร์ซจะเพิ่มเป็น 411 ล้านราย ขณะที่ผลการศึกษาของบริษัทโบกุ สตาร์ทอัพด้านฟินเทคอีกรายที่ให้บริการแพลตฟอร์มชำระเงินผ่าโทรศัพท์มือถือก็ระบุในทิศทางเดียวกันว่าจำนวนผู้ใช้กระเป๋าสตางค์ดิจิทัล (mobile wallet) จะพุ่งมากถึง 311 เปอร์เซ็นต์ จาก 141.1 ล้านรายในปี 2020 มาอยู่ที่ 439.7 ล้านรายในปี 2025 

     Mobile wallet คือการนำเงิน ใส่ลงไปในกระเป๋าตังค์ดิจิทัลด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การซื้อบัตรเติมเงิน การโอนเงินจากบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิต จากนั้นค่อยนำมูลค่าเงินเหล่านี้ไปทำการจับจ่ายใช่สอยตามร้านที่รองรับบริการ ตัวอย่างของ Mobile wallet ในไทยก็เช่น ShopeePay,True Money, AIS mPay, Rabbit LINE Pay เป็นต้น

     โดยสรุปแล้ว การทำธุรกิจโดยปราศจากเงินสดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวอย่างมากมาจาก 3 ปัจจัยหลักได้แก่

     1. ง่ายและสะดวก จากข้อมูลของบริษัทจัดอับดับฟิตช์ เรตติ้ง ประชากรราว 290 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกลุ่มเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ (unbanked) หรือเป็นผู้ใช้บริการทางการเงินแค่ผิวเผิน (Underbanked) ทำให้พวกเขาหันหาทางเลือกใหม่ เช่น กระเป๋าสตางค์ดิจิทัลที่สะดวกและง่ายกว่าเมื่อเทียบกับระบบธนาคารแบบดั้งเดิม ยกตัวอย่าง การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ หากเป็นเมื่อก่อนต้องชำระผ่านตัวกลางที่เป็นธนาคารพาณิชย์ แต่ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์มากมายให้บริการ ทำให้ผู้บริโภคสามารถทำธุรกรรมแบบไร้เงินสดได้

     2. การใช้โทรศัพท์มือถือมีอัตราที่สูงมาก มีการคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในภูมิภาคนี้จะแตะ 80 เปอร์เซ็นต์ และเพราะการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างกว้างขวาง และการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ขยายตัวจึงทำให้การทำธุรกรรมโดยไม่ต้องใช้เงินสดเป็นเรื่องง่ายขึ้น อย่างที่เวียดนาม ผลสำรวจพบว่าในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ระบบการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือผ่านกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ มากกว่าระบบชำระเงินปลายทาง 

     3. การผุดขึ้นของซูเปอร์แอปพลิเคชั่นที่เป็นกองหน้าทำให้สังคมไร้เงินสดเติบโตในภูมิภาคนี้ ยกตัวอย่าง “แกร็บ” (Grab) ที่สร้างกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์บนแพลทฟอร์มทำให้ผู้ใช้สามารถชำระค่าโดยสาร ค่าอาหาร ค่าส่งอาหาร และทุกบริการแกร็บ รวมถึงการชำระค่าโทรศัพท์และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ซูเปอร์แอปจึงเป็นเครื่องมือที่ไม่เพียงสร้างความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคในการชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ หากยังเปิดโอกาสให้ผู้ค้าปลีกและร้านค้าได้ติดตามและเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าจากรายละเอียดที่บันทึกเมื่อลูกค้าใช้บริการอีกด้วย

     สตาร์ทอัพด้านฟินเทค โบกุประเมินการทำธุรกรรมผ่านกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลซึ่งมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีมีแนวโน้มเติบโต จากผู้ให้บริการ 54 รายในปี 2020 จะขยับเพิ่มเป็น 69 รายในปี 2025 ปรากฏการณ์นี้อาจสร้างแรงกดดันให้บรรดาผู้ค้าเนื่องจากผู้บริโภคมีหลากหลายช่องทางให้เลือกมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัฐบาลต่าง ๆ กำลังร่วมมือกันเพื่อหาทางทำให้การทำธุรกรรมไร้เงินสดสามารถควบคุมได้มากกว่านี้

     ข้อมูลระบุราวปลายปี 2022 นี้ ธนาคารต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถเชื่อมระบบการชำระเงินเข้าด้วยกันหมดซึ่งจะเอื้อให้ประชาชนสามารถชำระค่าสินค้าและบริการข้ามประเทศได้ง่ายเพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ด อย่างปัจจุบัน ระบบการชำระเงินออนไลน์ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยเชื่อมกันแล้ว ส่วนสิงคโปร์เชื่อมเฉพาะกับไทย แต่ในอีกไม่นาน 5 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมฟิลิปปินส์ก็จะเชื่อมโยงระบบการชำระเงินเป็นเครือข่ายเดียวกัน

     นั่นหมายความว่าผู้บริโภคจะสามารถชำระค่าสินค้าและบริการข้ามประเทศโดยใช้เงินสกุลท้องถิ่นของตัวเองโดยไม่ต้องอิงเงินดอลลาร์ ท้ายที่สุด เครือข่ายนี้จะเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก ก่อให้เกิดเครือข่ายการโอนอัตโนมัติผ่านธนาคาร และกระทั่งอาจเห็น Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ  

     แม้สิ่งที่กล่าวมาจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ดูเหมือนการแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อสร้างฐานผู้ใช้บริการธุรกรรมไร้เงินสดจะกำลังประทุ เนื่องจากผู้ใช้บริการยังเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินไปมาและการทำธุรกรรมดิจิทัลยังไม่นิ่งเหมือนในประเทศอื่น เช่น จีน และญี่ปุ่น บรรดาผู้ค้าปลีกจึงต้องสัประยุทธ์กันต่อไปเพื่อสรรหาวิธีที่สร้างสรรค์และสะดวกในการเข้าถึงผู้บริโภค

ที่มา : https://www.d8aspring.com/eye-on-asia/the-phenomenal-growth-of-cashless-transactions-in-southeast-asia

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน