คุยกับ ระบิล พรพัฒน์กุล ผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มาตรการเสริมแกร่งพี่น้องมุสลิมและ SME

TEXT: กองบรรณาธิการ

PHOTO: เจษฎา ยอดสุรางค์

Main Idea

  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หนึ่งในสถาบันการเงินที่ให้บริการเหมือนสถาบันการเงินทั่วไป

 

  • แต่จะมีความแตกต่างกับธนาคารทั่วไปคือ สินเชื่อของธนาคารจะบริการโดยไม่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ย

 

  • ล่าสุดธนาคารได้เปิดให้บริการ สินเชื่อ iBank Small SMEs ที่เปิดให้บริการกับลูกค้าทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องเป็นชาวมุสลิม

     นอกจากชื่อของธนาคารที่อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าลูกค้าทั่วไปใช้บริการได้หรือไม่แล้ว หลายคนอาจสงสัยหรือเคยได้ยินมาว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (i-bank) ต้องไม่มีเรื่องดอกเบี้ยเพราะถือว่าขัดกับหลักชะรีอะฮ์ของศาสนาอิสลาม ดังนั้นการขอสินเชื่อต่างๆ ต้องทำอย่างไร

     SME Thailand Online จะพาไปไขข้อสงสัยเรื่องราวเหล่านี้กับ ระบิล พรพัฒน์กุล รักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มาให้ความกระจ่างกับชาวเอสเอ็มอีได้ทราบกัน

I-bank ใครๆ ก็ใช้ได้

     แนวคิดในการจัดตั้งธนาคารอิสลามเริ่มขึ้นจากความต้องการของชาวมุสลิม โดยมีเงื่อนไขคือต้องให้บริการถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์ ซึ่ง ดอกเบี้ย (อัร-ริบา) ถือเป็นหนึ่งในข้อห้ามของหลักการนี้ เพราะจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนให้เงินกับคนรับเงิน ธนาคารอิสลามจึงใช้ระบบแบ่งปันผลกำไรขาดทุน (Profit and losssharing / PLS) แทนระบบดอกเบี้ย หมายถึงทั้งฝ่ายธนาคาร ผู้ฝากเงิน ทุกฝ่ายมีความเสี่ยงร่วมกัน

     ทั้งนี้การปล่อยสินเชื่อนั้นจะอยู่บนพื้นฐานของหลักศาสนาอิสลาม ที่เกี่ยวกับการอนุมัติ (หะลาล) และการไม่อนุมัติ (หะรอม) ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ปัจจัยหลักดังนี้

     หนึ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคน เช่น เรื่องที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การศึกษา เงินออมและการลงทุน

     สอง เรื่องการค้า ระดับรากหญ้า วิสาหกิจชุมชน

     สาม เรื่องศาสนา เช่น การไปแสวงบุญนครเมกะ ต้องมีค่าใช้จ่ายการเดินทาง เป็นต้น

     ทั้งนี้ทางธนาคารไม่ได้จำกัดกลุ่มลูกค้าว่าต้องเป็นคนมุสลิมเท่านั้น หากผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อทางธุรกิจก็สามารถมาใช้บริการได้

สินเชื่อสำหรับ SME

     สำหรับเงินทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้นมีหลายรูปแบบอย่างปัจจุบันก็มี โครงการสินเชื่อ iBank Small SMEs  สำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยทั่วไปวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจแล้วสักสองสามปี เริ่มมีความชัดเจนในตัวเองว่าจะไปต่ออย่างไร

     โดยทางธนาคารจะแบ่งประภทสินเชื่อดังนี้ สินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลา สินเชื่อหมุนเวียน สินเชื่อเพื่อการค้ำประกัน สินเชื่อเพื่อการนำเข้าและส่งออก และจะแบ่งการช่วยเหลือเป็นสองช่วงๆ แรกคือ 1-3 ปี ช่วงที่สองคือ ปีที่ 4 เป็นต้นไป โดยจะให้อัตราผลตอบแทนส่วนแบ่งกำไร เรียกว่า standard profit rating long-term for customer (SPRL) ในช่วงแรกให้อัตราพิเศษ SPRL - 1% หลังสามปีไปแล้วเชื่อว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้แข็งแรงขึ้นจะขอปรับลดลงมาเป็น SPRL - 0.50% เพื่อนำเงินตรงนี้ไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายอื่นต่อไป

     ต้องยอมรับว่าธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจยอดฮิตสำหรับผู้ประกอบการมุสลิม ทางธนาคารจึงมี "สินเชื่อ iBank SMEs ธุรกิจอพาร์ทเม้นท์มุสลิม" วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ผ่อนชำระไม่เกิน 15 ปี อีกด้วย

ยกระดับพี่น้องมุสลิม

     ในปี 2566 ธนาคารอิสลามจะครบ 20 ปี มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งแนวทางการทำงาน ในอนาคตเราอยากให้ธนาคารเป็นช่องทางเข้าถึงพี่น้องมุสลิมให้มากที่สุด ความตั้งใจระยะยาวทำให้คนออกจากเงินนอกระบบให้ได้

     ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรมุสลิมประมาณ 3 ล้านคนกระจายอยู่ใน 4,000 มัสยิดทั่วประเทศ โดยเฉพาะ ภาคใต้ ตอนนี้ธนาคารฯ ก็ช่วยเหลือไปได้กว่า 1,000 มัสยิดประมาณ 9 แสนคน เรากำลังทำ Muslim data center กำลังสะสมฐานข้อมูล

     นอกจากนี้ทางธนาคารจะเข้าไปเสริมจุดอ่อนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งมีปัญหาหลักๆ 3 ด้านคือ การจัดการ การส่งออก และการวิจัยและการพัฒนา ถ้าผู้ประกอบการได้รับการชี้แนะที่เหมาะสม ทั้งเรื่องการเงิน ความรู้ โดยธนาคารจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเข้มแข็งขึ้นแบบยั่งยืน

     รวมทั้งปรับปรุงระบบการค้าให้เป็นแบบ Virtual market เพื่อรองรับรูปแบบการค้าในอนาคต ดังนั้นก็ต้องมี E-market เกิดขึ้นที่ต้องทำ

แนะ SME ต้องรู้จักวางแผนธุรกิจ

     จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สงครามการค้าระหว่างประเทศ โควิด ทำให้เกิดผลกระทบยากต่อการคาดเดาได้ในอนาคต ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ เรียกว่า VUCA ที่มาจาก Volatility คือ สถานการณ์ที่มีความผันผวนสูง Uncertainty คือ สถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนสูง Complexity คือ สถานการณ์ที่มีความซับซ้อนสูง และ Ambiguityคือ สถานการณ์ที่มีความคลุมเครือสูง

     ฉะนั้นสิ่งสำคัญแรกที่ผู้ประกอบการต้องมีคือ Visionary ให้ชัดเจน และลงรายละเอียดได้มากเท่าไหร่ ทำให้เกิดแนวทางวิธีคิดที่ชัดเจนในการทำงานนั้น ยิ่งรายละเอียดชัดเจน วิชั่นนั้นก็จะมีโอกาสเกิดได้ง่ายขึ้น

     สำหรับหลักการสำคัญคนทำการค้า หนึ่งมีเป้าหมาย สองมีแนวคิด สามมีความจริงใจกับลูกค้า เหมือนธนาคารอิสลามเพื่อนร่วมคิด มิตรร่วมค้า

Timeline of I-Bank

2541-2545

  • แนวคิดในการจัดตั้งธนาคารอิสลามได้ริเริ่มขึ้นจากความต้องการของชาวมุสลิม โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

  • ปี พ.ศ. 2541 รัฐบาลจึงผลักดันให้ธนาคารอิสลามเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ เพื่อสนองความต้องการสำหรับชาวไทยมุสลิมให้มีช่องทางทางการเงินที่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม

 

  • ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดเตรียมพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาผ่านออกมาเป็นกฎหมายและสำเร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545

2545-2547

ก่อตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

  • “ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)” จัดตั้งตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท

 

  • เริ่มเปิดดำเนินกิจการครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2546 โดยมีสำนักงานใหญ่และสาขาแห่งแรกอยู่ที่คลองตัน จากนั้นก็เริ่มทยอยเปิดสาขาในกรุงเทพฯ พื้นที่ภาคใต้ จนกระทั่งสิ้นปี พ.ศ. 2547 มีสาขารวมทั้งสิ้น 9 สาขา

 

2548-2549

การควบรวมกิจการ กับกรุงไทย

  • การดำเนินธุรกิจของไอแบงก์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และต่อมาได้ดำเนินการตามนโยบายการควบรวมธุรกิจของกระทรวงการคลัง โดยการซื้อกิจการบริการทางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

 

  • ได้มีพิธีลงนามสัญญาโอนกิจการบริการทางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ของธนาคารกรุงไทย ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548

 

  • ส่งผลให้ไอแบงก์มีสาขาเพิ่มขึ้นอีก 18 สาขา เป็น 27 สาขา และเพื่อรองรับปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้น

 

  • ได้ย้ายสำนักงานใหญ่จากคลองตัน มาที่ย่านศูนย์กลางธุรกิจ ณ อาคารคิวเฮ้าส์ อโศก ในเดือนสิงหาคม 2549

 

2550

เป็นรัฐวิสาหกิจ

  • ในเดือนตุลาคม 2550 กระทรวงการคลังได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้ไอแบงก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัด กระทรวงการคลังนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

2565

  • ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นที่สัดส่วน 59% ภายหลังจากที่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 ซึ่งถือเป็นพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 โดยบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561

 

  • ไอแบงก์มีเครือข่ายรวม 95 สาขา ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน