รวมแหล่งเงินทุนสำหรับ SME รู้วิธีเข้าถึง ข้อดี-ข้อเสีย ครบ จบ ในที่เดียว

TEXT : ภัทร เถื่อนศิริ                  

Main Idea

  • เพราะปัญหาเรื่องเงินคือเรื่องใหญ่ในการทำธุรกิจ นี่คือ แหล่งเงินทุนสำหรับ SME ที่รวมไว้ครบในที่เดียว

 

     ช่วงต้นปีผมเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายๆ ท่าน กำลังวางแผนที่จะเติบโตขยายกิจการกันในปี 2566 นี้อย่างแน่นอน ซึ่งปัจจัยในการขยายตัวนั้นก็คงจะมีหลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจ แต่ผมเชื่อว่าในทุกๆ ธุรกิจ “ปัจจัยสำคัญในการขยายตัวของ SME คือ แหล่งเงินทุน” แล้วเราเหล่า SME จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจของเราจากไหนได้บ้าง

1. แหล่งเงินทุนของตัวเอง (Founder, Family, Friend)

  • เงินออม Founder เจ้าของธุรกิจ SME ที่มีเงินออมหรือเงินเก็บส่วนตัวที่คำนวณแล้วว่าถ้าหยิบเงินออมมาใช้จะไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ทั้งนี้ควรนำเงินออมออกมาใช้เพียงครึ่งเดียว เพื่อยังเหลือเงินออมของตัวเองไว้

 

  • หยิบยืมจากครอบครัว หากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดมีกำลังทรัพย์ เจ้าของธุรกิจ SME อาจเลือกการหยิบยืมเงินทุนจากครอบครัว เพราะไม่มีดอกเบี้ย และหากธุรกิจมีผลกำไรก็สามารถแบ่งให้ครอบครัวได้

 

  • หลายคนก็เตือนเรื่องของการใช้แหล่งเงินทุนประเภทนี้ หากใช้เงินของครอบครัว หรือ หยิบยืมจากเพื่อนฝูง จำเป็นต้องมีการบริหารความสัมพันธ์ให้ดี เพราะอาจจะมีปัญหาระยะยาวก็ได้ เพราะแหล่งเงินนี้จะได้มาง่ายกว่าที่อื่น แต่ก็จะต้องคืนเงินที่รับมาให้ได้เช่นกัน

 

  • คำแนะนำหากจะขอยืมเงินคนใกล้ตัวมาเริ่มธุรกิจ ควรจะเริ่มด้วยทุนของตัวเองก่อน เพื่อทดสอบตลาดว่าตอบรับธุรกิจที่เราคิดจะทำขึ้นหรือไม่ หากทำแล้วมีแนวโน้มดีอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับเราและผู้ที่เราจะไปขอสนับสนุนทางการเงินว่า ให้เงินไปแล้วจะได้รับเงินคืนในอนาคต

 

2. นักลงทุน Angel Investor หรือ Venture Capital

  • Angel Investor คือ นักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์มักเลือกลงทุนในธุรกิจที่ตัวเองชื่นชอบไอเดียและทีมงาน โดยให้เงินทุนสำหรับการเริ่มต้น แต่การจะเจอกับนักลงทุนอิสระต้องอาศัยคอนเนกชั่นทางธุรกิจ

 

  • Venture Capital (VC) คือ องค์กรที่รวบรวมเงินจากกลุ่มนักลงทุนหรือบริษัท เพื่อนำไปหาโอกาสการลงทุนและสร้างผลตอบแทนจากธุรกิจที่มีรายได้หรือการเติบโตที่ดี ซึ่ง Venture Capital จะให้เงินลงทุนสูงกว่า Angel Investor และมีระยะเวลาลงทุนนานกว่า โดยอยู่ที่ 3-5 ปี

 

  • แหล่งเงินทุนที่มาจาก Investor, Venture Capital นี้ สาเหตุที่ลงทุนส่วนใหญ่ก็เพราะรู้เข้าใจในสถานการณ์ธุรกิจ กลุ่มนักลงทุนอิสระที่จะใช้เงินทุนส่วนตัวของตัวเองมาร่วมลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยมาก จะเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มีเงินทุน และมีความสนใจหรือมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่จะร่วมลงทุน ซึ่งนอกจากจะให้เงินทุนแล้ว ยังสามารถให้คำแนะนำ ช่วยเหลือธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือช่วยหาเครือข่ายธุรกิจ (Connection) ให้ในการทำธุรกิจได้ ด้วย ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ลงทุนด้วยจำนวนเงินที่สูงมาก แต่ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทมากในช่วงแรก เพราะสามารถช่วยให้สตาร์ทอัพเริ่มต้นธุรกิจได้

 

3. ธนาคารและสถาบันการเงิน

  • การกู้สินเชื่อธุรกิจกับธนาคารหรือสถาบันการเงินนับเป็นการกู้เงินในระบบ มีข้อดีต่อเจ้าของธุรกิจ SME ที่หาแหล่งเงินทุน คือ กฎหมายจะมีการรับรองว่ามีการกู้หนี้ยืมสินจริง มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นไปตามกฎหมาย มีการพิจารณาให้สินเชื่อและกำหนดระยะเวลาชำระคืนตามความเหมาะสมของธุรกิจ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารและสถาบันการเงินกำหนด

 

  • แนวทางนี้เป็นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ประกอบการ เงินกู้คือการขอยืมเงินจากสถาบันการเงินโดยมีสัญญาว่าจะใช้คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามระยะเวลา การกู้เงินประเภทนี้ จะนำเอาแผนธุรกิจ หรือทรัพย์สินอื่นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อขอเงินกู้ออกมาใช้ในการขยายธุรกิจ

 

  • สำหรับเงินกู้นั้นแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น เงินกู้ปกติ (Loan) เงินกู้เบิกเกินบัญชี (Overdraft : O/D) , เงินกู้แบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N ) , หนังสือค้ำประกัน (Bank Guarantee) เป็นต้น

 

     ข้อดี: วงเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับประวัติธุรกิจ

     ข้อเสีย: เงื่อนไขในการสมัครสินเชื่อ เช่น การใช้หลักประกัน และระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติที่กำหนดแน่ชัดไม่ได้

4. เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

  • หน่วยงานรัฐบาลหลายๆ หน่วยงาน เช่น สสว., บสย., ISMED ฯลฯ มักมีโครงการที่สนับสนุนเงินทุนให้เปล่าสำหรับเจ้าของธุรกิจ SME โดยเปิดรับสมัครเจ้าของธุรกิจเข้ามาเสนอแผนธุรกิจในโครงการต่างๆ ส่วนใหญ่จะพิจารณาธุรกิจที่สร้างนวัตกรรมหรือสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ

 

  • ดังนั้นเจ้าของธุรกิจต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อนำเสนอแผนธุรกิจ หากโครงการน่าสนใจ ได้รับการคัดเลือก อาจจะต้องรอการอนุมัติเงินสดภายใน 3-6 เดือน เจ้าของธุรกิจจึงควรเตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อให้ธุรกิจไม่หยุดชะงัก

 

  • สำหรับหน่วยงานรัฐ จะให้การสนับสนุนตามวัตถุประสงค์ขององค์กร เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะให้เงินสนับสนุนในการทำวิจัย ด้านนวัตกรรมเพื่อช่วยให้สินค้ามีคุณภาพสูงขึ้นแปลกใหม่และส่งออกได้มากขึ้น หรืออย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่เปิดให้ผู้ประกอบการสามารถขอทุรของโครงการนวัตกรรมแบบเปิดเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน

 

5. ระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding)

     คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) คือ การระดมทุนจากนักลงทุน เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SME หรือ Start up ผ่าน คลาวด์ฟันดิง แพลตฟอร์ม (Crowdfunding Platform หรือ Funding Portal) ที่ได้การยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง ทั้งหมด 6 บริษัทด้วยกัน หรืออัพเดทรายชื่อบริษัทได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.

     การระดมทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) มี 4 ประเภท ดังนี้

  • การระดมทุนในรูปแบบการบริจาค (Donation-Based)

 

  • การระดมทุนเพื่อแลกกับสินค้าหรือของที่ระลึกเป็นสิ่งตอบแทน (Reward-based)

 

  • การระดมทุนที่เป็นการกู้ยืม (Peer-to-peer Lending)

 

  • การระดมทุนในรูปแบบหลักทรัพย์ (Investment-Based) แบ่งออกเป็น 2 แบบ

 

     1. การระดมทุนโดยการออกหุ้น (Equity-Based Crowdfunding)

     2. การระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ (Debt-Based Crowdfunding )

     ปัจจุบันการระดมทุนที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยคือ การระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ โดยมีคลาวด์ฟันดิง แพลตฟอร์ม เป็นตัวกลางทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ความประเมินความเสี่ยง คำนวณอัตราดอกเบี้ย

     นักลงทุนที่สนใจและเข้าลงทุนในหุ้นกู้นั้นๆ จะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ส่วนผู้ขอออกหุ้นกู้จะมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” มีหน้าที่ชำระดอกเบื้ยตามอายุของหุ้นกู้

  • เจ้าของธุรกิจ SME ที่มั่นใจว่าแผนธุรกิจที่คิดขึ้นมาจะดำเนินไปได้ด้วยดี สามารถเปิดให้ระดมทุนจากบุคคลทั่วไปผ่านเว็บไซต์ที่เปิดให้ระดุมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) เช่น Kickstarter, Indiegogo, GoFundMe ฯลฯ ธุรกิจที่ฝันไว้ก็อาจเป็นจริงได้แน่นอน

 

    ข้อดี: ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สมัครง่ายผ่านออนไลน์ และต้อนรับทุกอุตสาหกรรม

     ข้อเสีย: ความสามารถในการระดมทุนขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของบริษัท

 

6. บริษัทผู้รับซื้อลูกหนี้ (Factoring Company)

  • บริษัทแฟคเตอร์ (Factor) เป็นตัวกลางในการรับซื้อใบแจ้งหนี้ (Invoice) จากบริษัทผู้ขายสินค้า (Seller) เมื่อส่งมอบสินค้าให้บริษัทผู้ซื้อสินค้า (Buyer) เรียบร้อยแล้ว บริษัทผู้ขายสินค้า (Seller) จะโอนสิทธิ์ในหนี้การค้าให้กับ บริษัทแฟคเตอร์ (Factor) เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอระยะเวลาชำระหนี้ (Credit Term) หลังจากทำการโอนสิทธิ์แล้ว บริษัทแฟคเตอร์ (Factor) จะมีหน้าที่ในการเรียกเก็บเงินกับบริษัทผู้ซื้อสินค้า (Buyer) เมื่อครบกำหนดชำระ

 

     ข้อดี: ผู้ขายสินค้าจะได้รับเงินเร็ว และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

     ข้อเสีย: บริษัทจำเป็นต้องมีคู่ค้าขนาดใหญ่ และน่าเชื่อถือ

7.พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ (Ecosystem หรือ Supply Chain Finance)

  • ลองตรวจสอบดูว่าพาร์ทเนอร์ของคุณมีบริการในด้านสินเชื่อหรือไม่ เนื่องจากบริษัทพาร์ทเนอร์จะรู้จักประวัติของคุณเป็นอย่างดี และสามารถเสนอสินเชื่อที่เหมาะสมให้กับธุรกิจของคุณได้ ถ้าคุณมีประวัติการค้าขายที่ดี ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะได้รับการอนุมัติ

 

     ข้อดี: ง่ายต่อการได้รับอนุมัติ หากมีประวัติค้าขายที่ดี สมัครง่ายผ่านแพลตฟอร์มพาร์ทเนอร์ที่ใช้ได้เลย

     ข้อเสีย: วงเงินขึ้นอยู่กับยอดขาย

 

ตัวอย่างพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ

  • Shopee มีบริการสินเชื่อเงินสด SEasyCash รูปแบบสินเชื่อระยะสั้น สำหรับร้านค้ามีบัญชีกับ Shopee

 

  • Grab มีบริการสินเชื่อเงินสด Grab Finance สินเชื่อสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านค้า Grab

 

  • QWIK ร่วมกับ อินเวสทรี มีบริการเงินทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) สำหรับผู้ใช้บริการ QWIK ที่มีรายการในระบบอย่างน้อย 6 เดือน วงเงินสูงสุด 5,000,000 บาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 6% ต่อปี

 

  • ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร่วมกับ อินเวสทรี มีบริการเงินทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) สำหรับเจ้าหนี้การค้า

 

8. ขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็น

     หากมีทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นสำหรับกิจการ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือยังไม่มีแผนว่าจะจัดการอย่างไร เจ้าของธุรกิจสามารถขายทรัพย์สินเหล่านั้น เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ลงทุนต่อยอดต่อไป วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีมาก เพราะนอกจากจะได้เงินทุนแล้ว ยังช่วยจัดการทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งหากเก็บไว้ไปเรื่อย ๆ ก็อาจสร้างภาระหลายอย่าง เช่น ค่าเช่าพื้นที่จัดเก็บ ค่าบำรุงรักษา ฯลฯ

9. LiVE Exchange หรือ LiVEx

     ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เกิดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสและสนับสนุนการเติบโตให้ผู้ประกอบการ SMEs และ Startups เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุน ได้เปิดให้บริการ LiVE Platform เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ความรู้ เพิ่มศักยภาพและสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ผ่านบริการต่าง ๆ อาทิ ห้องเรียนผู้ประกอบการ, โครงการ Incubation และ Acceleration Program และได้ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. พัฒนาหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับ SMEs / Startups เพื่อให้สามารถระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้

วิธีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ให้สำเร็จ

     โดยปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ที่ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผู้ประกอบการรายใหม่ ก็คือ “การเขียนแผนธุรกิจ” ซึ่งต้องขอย้ำว่าสิ่งนี้ถือว่าเป็น “หัวใจ” สำคัญมากๆ"

     เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการด้านการเงินของคุณให้อยู่รอดในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ แผนและกลยุทธ์ที่สำคัญก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง “การประมาณการณ์ความต้องการในการใช้เงิน”พูดง่ายๆ ก็คือ การจัดทำงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน ทำเป็นรายเดือน เห็นความเคลื่อนไหวตลอดทั้งปี จัดทำทุกรายการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าเดินทาง และอื่นๆ จะทำให้ผู้ประกอบการ SME ก้าวสู่เส้นทางธุรกิจอย่างถูกทาง

     การเขียนแผนธุรกิจ คือบันไดขั้นแรกที่จะแสดงให้เห็นถึงโอกาสของธุรกิจ แผนธุรกิจจะทำให้ทราบถึงกลุ่มลูกค้าหรือตลาดเป้าหมาย ประมาณการผลกำไร การหมุนเวียนของกระแสเงินสด วางกรอบค่าใช้จ่าย เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าโสหุ้ย และภาษีที่ต้องจ่าย อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสให้นักธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผู้ประกอบการรายใหม่ได้เป็นอย่างดี แผนธุรกิจที่ดียังต้องมีการวางกลยุทธ์ทางการเงินที่ดีด้วย นั่นคือ “การจัดเตรียมแผนทางการเงิน” ผู้ประกอบการ SME ต้องวางแผนการใช้จ่ายควบคู่ไปกับแผนการออมเงิน ตรงนี้คือหัวใจที่ต้องถือเป็นข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องมีวินัยทางการเงินอย่างมาก ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ อีก เช่น การจัดทำงบประมาณ ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงตัวเลข ยอดขาย รายได้ และผลกำไรที่คาดว่าจะได้รับ ประมาณการต้นทุนธุรกิจ ซึ่งจะสามารถประมาณการได้จากยอดขายและผลกำไร ซึ่งต้องมีความแม่นยำ

     วิธีหาแหล่งเงินทุนผู้ประกอบการยุคใหม่ในยุคนี้ หากมีการจัดทำแผนธุรกิจที่ชัดเจน มีวินัยทางการเงิน และปฎิบัติอย่างเคร่งครัด นอกจากจะหาแหล่งเงินทุนมาเพิ่มพัฒนาธุรกิจได้แล้ว ผู้ประกอบการ SME ยังสามารถต่อรองเพื่อให้ได้เงินทุนมาต่อยอดหรือขยายธุรกิจได้ด้วยในวันข้างหน้า หรือสามารถต่อรองเพื่อให้ได้ระยะเวลาในการชำระหนี้ที่ยาวนานขึ้นด้วยเช่นกัน นี่คือหลักการง่าย ๆ ที่จะเป็นใบเบิกทางให้ผู้ประกอบการ SME ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจ แต่หลักการง่ายๆ นี้มีอยู่สิ่งเดียวที่จะก้าวข้ามผ่านไปได้ คือการสร้างวินัยทางการเงิน ถ้าทำได้ความสำเร็จก็อยู่แค่เอื้อมครับ

ที่มา : https://www.investree.co.th/knowledge-hub-detail/what-type-of-financing-are-available-for-sme-business

https://exac.exim.go.th/detail/20200325111005/20211228092344

https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/easy-ways-to-find-capital

https://krungthai.com/th/krungthai-update/promotion-detail/1329

https://bit.ly/3XslRl9

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

 

RECCOMMEND: FINANCE

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้

ฟังผู้บริหาร บสย. แนะ SME เสริมสภาพคล่อง เข้าถึงสินเชื่อในระบบ

ในยุคที่เศรษฐกิจผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต่างต้องการ “เงินทุน” ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ “การเข้าถึงสินเชื่อในระบบ” ยังเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการ ทางออกหนึ่งคือการหันไปหา “เงินกู้นอกระบบ”