การชำระบัญชีของกิจการที่หยุดดำเนินงาน






เรื่อง : อชิระ ประดับกุล
misterachira@hotmail.com

    

    การจัดตั้งห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทสมัยนี้ทำได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น หากเป็นบริษัท สมัยก่อนต้องมีผู้ถือหุ้นหรือผู้ร่วมก่อการอย่างน้อยถึง 7 คน และใช้เวลาอีกหลายวันในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แต่สมัยนี้รูปแบบการทำงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีการปรับเปลี่ยนให้รวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนข้อกำหนดเงื่อนไขในการจัดตั้ง ทำให้ปัจจุบันสามารถจัดตั้งบริษัทได้ แม้มีผู้ร่วมก่อการหรือผู้ถือหุ้นเพียง 3 คน และหากเอกสารครบถ้วนก็สามารถจัดตั้งบริษัทเบ็ดเสร็จได้ภายใน 1 วัน รวดเร็วทันใจดีจริงๆ

    จะว่าไปแล้วก็ถือว่าเป็นผลดีในแง่ของระยะเวลาที่ใช้ในการจัดตั้งที่ใช้เวลาน้อยลงและจัดตั้งบริษัทได้ง่ายกว่าเดิม แต่ในทางตรงกันข้ามการจัดตั้งบริษัทที่ง่ายขึ้นเช่นนี้ ก็อาจส่งผลในทางลบได้หากผู้จัดตั้งหรือผู้ถือหุ้นเหล่านั้นไม่ได้ศึกษาหรือเตรียมตัวเตรียมใจที่จะรับมือว่ามีหน้าทีอันใดบ้างที่ต้องรับผิดชอบหลังจากจัดตั้งบริษัทแล้ว

    เมื่อบริษัทถูกจัดตั้งขึ้นจึงถือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ก็จะมีหน้าที่ในการยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลปีละ 2 ครั้ง และหากคาดว่ากิจการอาจมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ยังจะต้องทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สรรพากรเขตอีกด้วย นอกจากนี้ต้องทำการยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปีละ 1 ครั้ง นั่นหมายถึง ต้องมีการจัดทำบัญชีและจัดทำงบการเงินของกิจการ โดยผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีได้แก่ กรรมการ หรือผู้มีอำนาจของบริษัทนั่นเอง

    แม้หากว่ากรรมการ/ผู้มีอำนาจ ไม่สามารถจัดทำบัญชีได้ จะด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตามก็ต้องจัดหา ‘ผู้ทำบัญชี’ มาแทนตัวให้ได้ เช่น อาจจะจ้างนักบัญชีอิสระ หรือจ้างสำนักงานบัญชีมาจัดทำก็ย่อมได้ เพื่อทำการบันทึก เก็บข้อมูลและจัดเตรียมงบการเงินที่ต้องนำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากรทุกสิ้นปี

    ที่กล่าวมาเมื่อครู่เป็นเพียงบางส่วนสำหรับหน้าที่ของนิติบุคคลที่ต้องทำหลังจากมีการจัดตั้งเกิดขึ้น นั่นหมายถึงเมื่อการจัดตั้งบริษัทกระทำได้โดยง่าย ผู้ประกอบการบางส่วนก็นึกอยากจะจัดตั้งบริษัทกันเป็นว่าเล่น ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษาหน้าที่และความรับผิดชอบที่ตามมา และอาจทำให้เกิดผลเสียหายแก่ตนเองโดยไม่รู้ตัว

    เช่น หากกิจการดำเนินงานได้เพียงปีเดียวและปรากฏว่า กรรมการที่ร่วมกันจัดตั้ง ไม่สามารถแบ่งผลประโยชน์ได้อย่างลงตัว ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินงาน หรือจะด้วยสาเหตุอื่นใดก็ตาม ที่ทำให้แต่ละคนไม่อยากร่วมงานกันอีกต่อไป จนต้องหยุดการดำเนินงานในนามบริษัทที่ร่วมกันจัดตั้งไปในที่สุดและไม่มีการกระทำการใดๆ อีก

    สำหรับปัญหาจากการหยุดการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าว คือพบว่า ผู้ประกอบการหลายรายไม่ทราบว่าจะต้องทำการจดทะเบียนเลิกบริษัทและชำระบัญชี ณ วันที่เลิกกิจการให้เรียบร้อย คิดแต่เพียงว่า เมื่อไม่อยากดำเนินงานต่อ ก็แค่ ‘หยุด’ นั่นคือ ไม่มีการยื่นงบการเงิน ไม่ชำระบัญชี ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี ณ วันที่ เลิกกิจการ

    หากไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัท หรือชำระบัญชีให้เสร็จสิ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กิจการจะต้องนำส่งงบการเงินจะยังคงถือว่ากิจการยังคงดำเนินไปอย่างปกติ แม้ว่าในความเป็นจริงจะไม่มีความเคลื่อนไหวในการประกอบกิจการเลยก็ตามในปีถัดๆ มา

    นั่นหมายถึงหากกรรมการผู้จัดการที่ก่อตั้งบริษัทไม่ทำการชำระบัญชี/ภาษีให้เรียร้อย แต่ปล่อยทิ้งบริษัทไปเสียดื้อๆ ก็จะเท่ากับว่า ไม่มีการยื่นงบการเงินประจำปีต่อกรมพัฒนาธุกิจการค้า และยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อกรมสรรพากร อาจป็นเหตุให้ได้รับโทษปรับตามมาในที่สุด ซึ่งก็มีอัตราแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่ามิได้นำส่งงบการเงินมาแล้วนานกี่เดือน และอาจมีโทษอาจติดคุกได้หากเพิกเฉย!

            ฉะนั้นหากผู้ประกอบการตัดสินใจแล้วว่า จะไม่ประกอบการใดๆ อีกต่อไปในนามบริษัทที่ได้ร่วมกันจัดตั้งกับผู้ร่วมจัดตั้งท่านอื่นๆ ก็ต้องทำการจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชีให้เรียบร้อย และนำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แม้ว่าจะไม่มีการดำเนินการใดๆ อีกแล้วก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทราบว่า กิจการดังกล่าวได้หยุดการดำเนินงานแล้วอย่างเป็นทางการ และต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ วันเลิกกิจการให้เรียบร้อยต่อกรมสรรพากรด้วยเช่นกัน 

    หากคุณทำเพิกเฉย นิ่ง ไม่ไหวติง ต่อบริษัทที่คุณได้ร่วมกันจัดตั้งกับเพื่อนๆ เพราะเหตุว่า มิได้ทำการอันใดอีก  เชื่อผมเถอะครับว่า ไม่เกิน 2 เดือนหลังจากครบกำหนดการยื่นแบบแสดงรายการประจำปี (ส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงสิ้นเดือนพ.ค.) คุณอาจได้รับจดหมายแจ้งเตือนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ทำการยื่นงบการเงินให้ถูกต้อง และหากไม่ยื่นงบดังกล่าวอาจมีค่าปรับได้ในที่สุด และหากละเลย เพิกเฉย นานเกินกว่า 6 เดือน จากจดหมายแจ้งเตือนที่มาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเปลี่ยนเป็นหมายเรียกจากสถานีตำรวจ และหากยังเพิกเฉยอยู่อีกจากหมายเรียกจะเปลี่ยนเป็นหมายจับในที่สุด นี่ยังไม่รวมถึงค่าปรับที่อาจตามมาอีกเป็นพรวน ทั้งจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร เมื่อถึงตรงนี้ก็ตัวใครตัวมันครับ…!!!

www.smethailandclub.com ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)


RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน