ตลาดหลักทรัพย์แหล่งเงินทุนระยะยาวที่ SME ไม่ควรมองข้าม







    หนึ่งในหนทางที่เราจะสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน คือ ธุรกิจมีการบริหารจัดการที่ดี และมีเงินทุนหรือแหล่งเงินทุนที่ชัดเจนในระยะยาว การกู้เงินจากธนาคาร ถือเป็นแหล่งเงินทุนในระยะยาวช่องทางหนึ่ง แต่ถ้า SME ต้องการเติบโต ก้าวไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ ช่องทางของแหล่งเงินทุนที่น่าสนใจอีกช่องทางหนึ่งก็คือ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ...อย่าเพิ่งตกใจไป การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ยากอย่างที่คิด หากคุณเป็นคนที่ทำธุรกิจ มีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง และมีเงินทุนระดับหนึ่ง การเข้าสู่ลาดหลักทรัพย์ เป็นไปได้อย่างแน่นอน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 

    1. SET เป็นตลาดหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ ต้องมีทุนชำระแล้วหลัง IPO (Initial Public Offering) 300 ล้านบาทขึ้นไป
    
    การจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ SET ได้ต้องดำเนินธุรกิจต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 ปี และมีผู้บริหารชุดเดียวกัน 1 ปี ก่อนเข้าตลาด มีกำไรสุทธิ 2-3 ปีล่าสุดก่อนยื่นรวมกันไม่น้อยกว่า 50 ล้าน หรือปีล่าสุดมีกำไรไม่น้อยกว่า 30 ล้าน และมีรายละเอียดปลีกย่อยเบื้องต้น ดังนี้

    - การกระจายหุ้น กำหนดผู้ถือหุ้นรายย่อย SET กำหนดไม่น้อยกว่า 1,000 ราย

    - อัตราส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยในตลาด SET ผู้ถือหุ้นรายย่อยถือไม่น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ของทุนชำระแล้ว (ในกรณีที่ทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 3,000 ล้าน) แต่ถ้ามากกว่า 3,000 ล้าน ก็ถือได้ 20 เปอร์เซ็นต์ 

    2. MAI เป็นตลาดหลักทรัพย์ขนาดเล็ก ต้องมีทุนชำระแล้วหลัง IPO (Initial Public Offering) 20 ล้านบาทขึ้นไป

    การจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI ต้องมีผลการดำเนินงานต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2 ปี มีผู้บริหารชุดเดียวกัน 1 ปี มีกำไรสุทธิก่อนยื่นเข้าเท่าไหร่ก็ได้ แค่ตั้งมา 1 ปีก็เข้าได้ขอแค่มีกำไร และมีรายละเอียดปลีกย่อยเบื้องต้น ดังนี้

    - การกระจายหุ้น กำหนดผู้ถือหุ้นรายย่อย MAI กำหนดไม่น้อยกว่า 300 ราย

    - อัตราส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยในตลาด MAI ผู้ถือหุ้นรายย่อยถือไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ของทุนชำระแล้ว


 



    ประโยชน์ของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่บริษัทจะได้รับ คือ 

    1. เป็นประโยชน์ต่อบริษัท เพราะเป็นแหล่งเงินทุนในระยะยาว ถามว่าเราจะระดมทุนได้อย่างไร เมื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทก็สามารถออกตราสารต่างๆ ได้ ตั้งแต่หุ้นทุนเพื่อเพิ่มทุน หุ้นกู้แปลงสภาพ ใบสำคัญแสดงสิทธิ์หรือขายหลักทรัพย์ (Warrant) และก็มีเอกสารทางการเงินมากมายที่ออกได้ 

    2. บริษัทมีความน่าเชื่อถือ เพราะหากคุณเข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้ แปลว่าบริษัทของคุณได้รับการพิจารณาแล้วว่าบริษัทมีมาตรฐานระดับหนึ่ง

    3.ทำให้บริษัทมีภาพลักษณ์-ชื่อเสียงที่ดี เช่น อยากส่งสินค้าออกนอกประเทศ (Export) ถ้าเราเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ค้าที่อยู่ต่างประเทศก็จะมีความเชื่อมั่น เพราะอย่างน้อยคุณต้องมีมาตรฐานบริหารจัดการที่ดี ฉ้อโกงก็ไม่น่าทำได้ เพราะต้องมีหลักธรรมาภิบาลที่ดี ข้อมูลของบริษัทก็ต้องถูกเปิดเผยด้วย ทำให้หาคู่ค้าง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังมีผลดีต่อพนักงานด้วย

    3.1 หลายบริษัทเจอปัญหาพนักงานเก่งๆ หายไป อยู่กันมาดีๆ พอเก่งแล้วหายไป ในส่วนของการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะทำให้พนักงานมีความจงรักภักดี (Royalty) มากยิ่งขึ้น เพราะพนักงานในบริษัทจะมีสิทธิ์ได้หุ้นที่ขายในตลาดหลักทรัพย์ด้วย เรียกว่า ESOP – Employee Stock Option Program บางครั้งนี่คือสิ่งที่พนักงานรอคอย

    3.2 สร้างความรับผิดชอบในการบริหารงานแบบมืออาชีพ ตรงนี้จะแก้ปัญหาผู้ประกอบการที่มีทายาทธุรกิจ บางคนสร้างธุรกิจมาใหญ่โต แต่ลูกไม่อยากทำต่อ ก็สามารถให้คนที่บริหารงานมืออาชีพมาทำแทนได้ ลูกก็ถือหุ้นไป ได้รายได้ไประดับหนึ่ง ตัวเราก็ไปทำอย่างอื่นได้ ไม่ต้องยึดติดกับธุรกิจที่สร้างขึ้นมา  

    สุดท้ายทำให้ธุรกิจสามารถดำรงอยู่ในระยะยาวได้ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญในการทำธุรกิจ ว่าเราจะอยู่ได้อย่างไรในระยะยาว ซึ่งด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดก็จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่ได้ในระยะยาว



    ประโยชน์ของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับ คือ

    1. ผู้ถือหุ้นมีสภาพคล่อง เพราะหุ้นที่ถือจะมีมูลค่า และสามารถซื้อขายได้ทันที มูลค่าจะอยู่ในตลาด อยู่บนกระดาน เป็น Standard ไม่ต้องไปประเมิน เช่น วันนี้เรามีธุรกิจและต้องการถือหุ้น ต้องการขายหุ้น แต่บริษัทไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เราจะขายหุ้นตัวนี้ราคาเท่าไร ต้องไปจ้างคนมาทำ ต้องประเมินและตกลงราคากัน แต่ถ้าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ขายหุ้นตามสภาพคล่องได้เลย

    2. เพิ่มอำนาจต่อรองในการลดภาระค้ำประกัน เรื่องนี้สำคัญมาก (บริษัทที่ขยายตัวเร็ว ส่วนใหญ่จะกู้ธนาคาร) เมื่อบริษัทนั้นๆ เข้า ตลาดหลักทรัพย์ ชื่อเสียงเจ้าของธุรกิจก็จะดีขึ้น สามารถต่อรองเงื่อนไขกู้ยืมส่วนตัว หรือกู้ยืมให้กับบริษัทในเครือได้ดีขึ้น เพราะว่าบริษัทมีเครดิต

    3. หุ้นที่ถืออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินส่วนตัวได้ด้วย โดยผู้ถือหุ้นสามารถกู้ยืมเงินส่วนตัว โดยเอาหุ้นไปค้ำประกันโดยไม่ต้องใช้ที่ดิน นอกจากนั้นยังได้รับการยกเว้นภาษีจากกำไรของการขายหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย

    อย่างไรก็ตาม การจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ เราต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน (เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้) เพราะบริษัทมหาชน จะมีผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตจาก CPA เป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งถือว่ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

www.smethailandclub.com ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)
    
        


RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน