Venture Capital ร่วมแชร์ ร่วมคิด เพื่อธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ของ SME

 


    
เรื่อง เจษฎา ปุรินทวรกุล


    ถ้าคุณเป็นคนที่ทำธุรกิจ และต้องการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่มีเงินทุนเพียงพอ “ธุรกิจเงินร่วมลงทุน” หรือที่เรารู้จักกันในชื่อเรียกสั้นๆ ว่า “วีซี VC - (Venture Capital)” ถือเป็นสิ่งที่ควรศึกษา ซึ่งรูปแบบ VC  ได้เข้าสู่ประเทศไทยมากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทเงินร่วมลงทุนในประเทศไทยอยู่มากมาย โดย VC จะเข้ามาร่วมลงทุนกับเจ้าของธุรกิจเสมือนกับเป็นหุ้นส่วน 

    สำหรับการช่วยเหลือขึ้นอยู่กับการเจรจาและนโยบายของ VC ว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ช่วยประชาสัมพันธ์ หาช่องทางการตลาด หาคู่ค้า หรือให้เงินทุนเพียงอย่างเดียว หรือช่วยเหลือหมดทุกด้าน ซึ่งการช่วยเหลือจะเป็นในระยะสั้นๆ 3-5 ปี และยาวนานสุดไม่เกิน 10 ปี เพราะท้ายที่สุดแล้ว VC ต้องมองหาทางออก (Exit) จากการร่วมลงทุน และถือเป็นการปิด Job เพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งตามปกติแล้วจะมี 3 วิธีด้วยกัน คือ 

    1. นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งจะทำให้ VC ได้รับเงินสดกลับคืนมาง่าย มีสภาพคล่องสูง 

    2. หาคนมาซื้อหรือรับช่วงต่อ แต่กรณีนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก 

    3. เจ้าของซื้อคืนเอง
 
    โดยการลงทุนจาก VC จะมี 2 แบบ 

    1. Active Investor คือ เข้ามาช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยหาช่องทาง ช่วยให้คำแนะนำ และหาช่องทางให้ด้วย ซึ่ง VC ลักษณะนี้มีอยู่น้อยมาก นอกจากว่าเจ้าของจะอยู่ในธุรกิจนั้นอยู่แล้ว จึงมีความชำนาญเป็นพิเศษ 
 
    
    2. Passive Investor คือ ไม่ได้ทำอะไรเลย นั่งประชุมกรรมการอย่างเดียว ดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ VC ในประเทศไทยจะเป็น Passive Investor คือ ลงเงินแล้วรอดู ให้ช่วยเหลืออะไรบ้างนิดหน่อยเท่านั้น 



    VC สนใจบริษัทแบบไหน

    กองทุนส่วนใหญ่จะไม่สนใจบริษัทที่มีขนาดเล็กหรือบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่โลกธุรกิจ เพราะมีความเสี่ยงสูงเกินไป ส่วนเรื่องยอดขายจะเน้นยอดขายมากกว่ากำไร เพราะกำไรสามารถปรับการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลกำไรได้ แต่ถ้ายอดขายไม่โดดเด่น VC จะไม่ค่อยสนใจซักเท่าไหร่ เช่น บริษัทที่มีการเติบโตของยอดขายอย่างมากแบบ Rabbit Growth คือ ปีนี้ขาย 100 ล้าน ปีหน้าขาย 200 ล้าน แบบนี้ VC สนใจแน่นอน 

    อีกส่วนที่ VC จะให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ กิจการที่มีตลาดของสินค้าและบริการที่สูง สามารถขยายกิจการได้ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น กองทุนก็จะดูตลาดของสินค้าและบริการนั้นๆ ก่อนเลย ว่าตัวสินค้าอยู่ในตลาดแบบไหน ขยายได้ไหม ที่สำคัญคือกิจการที่มีหลักธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) การจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้หรือเปล่า รวมถึงเจ้าของ ผู้บริหารและกรรมการต้องมีความน่าเชื่อถือด้วย ซึ่งเจ้าของจะสำคัญมาก ถ้าเจ้าของมีชื่อในแง่ลบ VC จะไม่อยากร่วมลงทุนด้วย นอกจากนั้น VC ยังดูรายละเอียดส่วนอื่นๆ อีกด้วย เช่น

    1. ดูเจ้าของธุรกิจ ว่ามีความสามารถด้านการบริการจัดการหรือไม่ มีความเป็นผู้ประกอบการหรือเปล่า มีความน่าเชื่อมากน้อยเพียงใด

    2. ดูตลาด ว่ามี Precise Market Group หรือเปล่า ถ้ายังลังเลว่าจะขายใครคงไม่เอา

    3. ดูว่าผู้บริหาร มีความรู้ด้านการตลาดหรือเปล่า

    4. ดูแผนธุรกิจ มีหรือไม่ ชัดเจนไหม สมมติว่ามีแผนธุรกิจ ตัวเลขต่างๆ ในแผนธุรกิจเป็นไปได้ไหม สมเหตุสมผลหรือเปล่า

    5. ดูว่าบริษัทนั้นๆ เตรียมวิธีการออก (EXIT) ให้กับเขาอย่างไร

    ในขั้นตอนนี้ เรียกว่าการ Initial Screening เป็นการตรวจสอบของ VC ว่าผู้ที่ทำธุรกิจนั้นๆ อยากให้ร่วมลงทุนด้วยหรือเปล่า และดูว่าไปด้วยกันได้ไหม สมมติว่าไปกันได้คุยกันรู้เรื่อง ไม่มีอะไรขัดกันเลย เข้าใจว่าจะอยู่ด้วยกันไม่นาน เข้าใจว่าเสี่ยงร่วมกัน เข้าใจว่าจะสนับสนุนเรื่องเงิน เข้าใจว่าจะช่วยได้บางเรื่อง ก็จะเริ่มทำความเข้าใจร่วมกัน ตรงนี้จะใช้เวลานานมาก เพราะว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องดูข้อมูลหลายอย่าง ว่าธุรกิจนี้ทำยังไง ตลาดเป็นยังไง แก้ปัญหายังไง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ละเอียดมากๆ 

 


แล้วผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวอย่างไรให้ VC สนใจ

    1. อย่างน้อยต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือเป็นบริษัทที่พร้อมจะจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน (เป็นห้างหุ้นส่วนไม่ได้) เพราะสิ่งที่ต่างกันคือเรื่องของผู้สอบบัญชี บริษัทจำกัดจะมีผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็น CPA มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ แต่ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดจะเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ซึ่งมาตรฐานย่อมกว่า

    2. ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) กับบริษัทอื่นๆ และผู้บริหารต้องไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เป็นคู่แข่ง

    3. เรื่องของงบการเงิน มีการทำงบการเงิน และส่งงบการเงินอย่างถูกต้อง

    4. ต้องไม่อยู่ในแบล็คลิสต์ใดๆ ในเครดิตบูโร และไม่มีประวัติเสื่อมเสียทางการเงิน คดีความหรืออื่นๆ

    5. จะต้องมีความมุ่งมั่น มีความเป็นผู้ประกอบการ ทำจริง ไม่เลิกทำ

    6. ขนาดของตลาดควรเป็นตลาดที่ใหญ่ อาจไม่ได้เริ่มในตลาดที่ใหญ่ แต่ถ้าสามารถโยกย้ายไปสู่ตลาดที่ใหญ่ได้ VC จะให้ความสนใจ

     7. ตลาดที่เจ้าของธุรกิจ มีอิสระในการตั้งราคาสินค้าและบริการ และราคาไม่ถูกกำหนดจากคนอื่น

    8. สินค้าและบริการมีศักยภาพในการแข่งในตลาดได้อย่างดี สามารถที่จะเพิ่มยอดขายได้

    9. มีผลประกอบการที่สูงขึ้นทุกปี และมีอัตราค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับรายได้แล้วค่อนข้างคงที่ ค่าใช้จ่ายไม่ควรจะสวิงมาก ควรจะต้องเหมือนเดิม บวกลบไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์

    10. การลงทุนในระยะยาวคุ้มค่าต่อสินทรัพย์ถาวร และมีอัตรากำไรต่างๆ อย่างน้อยมากกว่าหรือเท่ากำไรจากบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน 

    11. มีการวางแผนว่า ต่อไปจะใช้เงินทำอะไรบ้าง มีแผนการบริหารจัดการเงินทั้งระยะสั้นระยะยาว มีแผนการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายบริษัท สามารถแจกแจงได้ว่าจะนำเงินไปทำอะไร สัดส่วนเท่าไร ระบุได้ว่าเม็ดเงินใหม่มีความคุ้มค่ากับการลงทุน คือ ได้คำนวณแล้วว่าผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นอย่างไร

    12. สุดท้ายการตั้งเป้าหมายของบริษัทให้ชัดเจน คือการระบุวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของบริษัท ในระยะสั้นและระยะยาว อย่างชัดเจน

    การลงทุนร่วมกับ VC ไม่ได้มีหลักประกันอะไรว่าบริษัทของเราจะได้รับกำไร หรือเติบโตไปตามที่คาดหวัง เพราะทั้งฝ่ายต่างต้องแบกรับความเสี่ยงด้านการลงทุนร่วมกัน หากบริษัทไปได้ดี VC ก็ได้ผลกำไร หากบริษัทไปได้ไม่สวย VC ก็ขาดทุน แต่การร่วมลงทุนกับ VC นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางและเป็นหนึ่งในแหล่งทุนที่ SME จะสามารถต่อยอดธุรกิจให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นได้  

www.smethailandclub.com ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)

RECCOMMEND: FINANCE

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน

พลิกอุปสรรค สู่ความสำเร็จ สร้างธุรกิจรายได้หลักร้อยล้าน

ทุกย่างก้าวในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเผชิญวิกฤตหรือได้รับโอกาส มุมมองในการบริหารธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญ และตัวช่วยที่ขาดไม่ได้ในการนำพาธุรกิจพุ่งทะยานสู่รายได้หลักร้อยล้าน คือ เงินทุน พบกับ 4 ธุรกิจ พลิกจากอุปสรรค เป็นสร้างรายได้ทะลุร้อยล้าน