ไขข้อข้องใจ! ทำไม SME ถึงเข้าแหล่งเงินทุนยาก ฟังแนวทางแก้ไขจากกูรูด้านการเงิน

TEXT : กองบรรณาธิการ

     รู้หรือไม่จำนวน SME ของไทยกว่า 3.2 ล้านราย มี SME ไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทั้งๆ ที่ SME คือฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่การที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงินกลับไม่ใช่เรื่องง่าย

     จากปัญหาดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดเสวนาเรื่อง "กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วยของ SME ในการเข้าถึงเงินทุน" เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันหาแนวทางเพื่อพัฒนากลไกที่จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ปัญหาหลักที่ SME เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

     สมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ได้สรุปผลการศึกษาของ ธปท. เกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME ดังนี้

     การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของไทย โดยสินเชื่อธุรกิจ SME หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด 19 ถึงปัจจุบัน ณ ไตรมาส 1 ปี 2567 สินเชื่อธุรกิจ SME หดตัว 5.1% นอกจากนี้ จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ ธปท. พบว่าจากจำนวน SME ในระบบทั้งหมด 3.2 ล้านราย มี SME ไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจในระบบสถาบันการเงิน (สง.)

     นอกจากนี้การที่ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก เนื่องจากมีทุนและความสามารถในการแข่งขันที่จำกัด ทำให้ผลประกอบการผันผวน การมีข้อมูลประวัติทางการเงินไม่เพียงพอ และไม่มีหลักประกัน รวมทั้งมูลค่าสินเชื่อมีขนาดเล็ก ไม่คุ้มกับต้นทุนของ สง. ในการประเมินและติดตามความเสี่ยง ทำให้โดยรวม สง. ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หรือให้สินเชื่อด้วยต้นทุนกู้ยืมที่สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อชดเชยความเสี่ยง

     อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา การค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นกลไกสำคัญที่แบ่งเบาความเสี่ยงของ SME ทำให้ สง. กล้าปล่อยสินเชื่ออย่างทั่วถึงขึ้น ซึ่งโครงการค้ำประกันสินเชื่อ (Portfolio Guarantee Scheme – PGS) ของ บสย. แต่ละโครงการ รวมถึงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูในช่วงโควิด 19 มีส่วนช่วยให้สินเชื่อธุรกิจ SME ขยายตัวได้แม้ในช่วงวิกฤต

ข้อจำกัด กลไกค้ำประกันในปัจจุบัน

     1.ขอบเขตการค้ำประกันที่จำกัด โดยครอบคลุมเฉพาะการค้ำประกันสินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์) และบริษัทลูกเท่านั้น

     2.ข้อมูลและเครื่องมือไม่เพียงพอ ทำให้การประเมินความเสี่ยงของ SME แต่ละรายทำได้ยาก จึงต้องใช้วิธีค้ำประกันแบบกลุ่ม (portfolio guarantee) ที่คิดค่าธรรมเนียมจากลูกหนี้เท่ากันทุกรายในแต่ละโครงการ ทำให้ลูกหนี้บางส่วนอาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงกว่าความเสี่ยงของตนเอง

     3.การค้ำประกันขาดความยืดหยุ่นในการช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจที่สอดคล้องกับทิศทาง/ยุทธศาสตร์ของประเทศ หรือเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจในช่วงวิกฤต เห็นได้จากในช่วงโควิด 19 ที่ต้องออกพระราชกำหนด (พรก.) เพื่อให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) แก่ SME ในการช่วยเหลือเพิ่มเติม

รูปแบบกลไกค้ำประกันเครดิตที่ดี

     กลไกค้ำประกันเครดิตที่มีประสิทธิภาพ ควรตอบโจทย์ทั้งภาครัฐ ผู้ให้กู้ยืม และ SME ภายใต้แรงจูงใจที่เหมาะสมร่วมกัน โดยตัวอย่างกลไกค้ำประกันเครดิตที่ประสบความสำเร็จในประเทศที่มี SME เป็นแกนหลักคล้ายกับไทย เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน มีลักษณะสำคัญดังนี้

     1.ไม่จำกัดประเภทผู้ให้กู้ยืม หรือรูปแบบการกู้ยืมอยู่ที่เฉพาะสินเชื่อ ทำให้สามารถสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME ในรูปแบบที่หลากหลายและเหมาะกับธุรกิจแต่ละกลุ่มมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนธุรกิจตามเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

     2.มีข้อมูลและแบบจำลองเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตที่สะท้อนระดับความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย ทำให้กำหนดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมได้ (risk-based pricing)

     3.มีความยืดหยุ่น สามารถใช้เป็นกลไก/เครื่องมือเชิงนโยบายทั้งในภาวะปกติและช่วงวิกฤต

     4.มีเงินทุน (funding) ที่มีเสถียรภาพ มั่นคง ที่มาจากผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละภาคส่วน อย่างเกาหลีใต้ เงินสมทบจะมาจากทั้งรัฐบาล สง. และภาคธุรกิจอื่น ๆ ตามความสมัครใจ ทำให้ทั้งรัฐ สง. และเอกชนต้องร่วมกันประเมินและปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ

     5.ให้การสนับสนุน SME มากกว่าเพียงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่มีบริการครบวงจร ทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ และการบริหารจัดการเงิน เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของ SME

มุมมองจากกูรู แนวทางพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิต

     ชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ในบริบทปัจจุบันงบประมาณภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความต่อเนื่องของโครงการค้ำประกัน หากโครงการค้ำประกันมีความต่อเนื่องขึ้นจะยิ่งมีส่วนช่วยให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น อีกทั้งหากมีการขยายขอบเขตค้ำประกันให้รวมผู้ให้กู้ยืม อาทิ บริษัทลีสซิ่ง/non-banks จะช่วยให้ SME มีทางเลือกในการกู้ยืมจากผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น

     "สิ่งที่เป็นปัญหา คือ ความสม่ำเสมอของงบประมาณของโครงการค้ำประกันผ่านบสย.ไม่มีความต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศเกาหลี มาเลเซีย ที่มีการจัดสรรงบประมาณ 0.2% เพื่อใช้ในโครงการ และหากมีการค้ำประกันแบบรายบุคคล (Individual) จะค่อนข้างดี เพราะธนาคารจะไม่ต้องเป็นคนพิจารณา แต่จะเป็นบสย.เป็นผู้พิจารณา" นายชัยยศ กล่าว

     สิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. เห็นด้วยกับแนวคิดของการมีกลไกค้ำประกันที่ยืดหยุ่นขึ้น ทั้งการคิดค่าธรรมเนียมแบบ risk-based pricing และการช่วยสนับสนุนกลไกภาครัฐต่าง ๆ ที่ให้เงินทุนแก่ SME ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ด้วยปัจจุบัน บสย. ยังเผชิญข้อจำกัดหลายด้าน เช่น การเข้าถึงข้อมูลเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงรายคน ซึ่งต้องคำนึงถึงกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกระบวนการขอ consent ทางดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งข้อจำกัดทางกฎหมายที่กำหนดให้ บสย. ค้ำประกันได้เฉพาะสินเชื่อที่ปล่อยโดย สง. เท่านั้น อย่างไรก็ดี บสย. มุ่งส่งเสริมให้ SME รายใหม่เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น และยังเพิ่มบทบาทช่วยให้คำแนะนำทางการเงินแก่ SME อีกด้วย

     ปัจจุบัน บสย.มีการช่วยเหลือ SME ผ่านการค้ำประกันสะสมราว 8 แสนราย ซึ่งประมาณ 50% หรือราว 4 แสนราย เป็นลูกค้าที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 โดยเฉลี่ยวงเงิน 80,000-120,000 บาทต่อราย สะท้อนว่า SME ต้องการสภาพคล่องเท่านั้น ดังนั้น เรื่องของแหล่งเงินทุนเป็นเรื่องสำคัญ

     "เป้าหมาย KPI ของ บสย. ต้องการเน้นจำนวนรายที่เข้าถึงสินเชื่อ และเข้าถึงการค้ำประกัน แต่ยอมรับว่าปัญหาของ SME มีหลายมิติทับซ้อนกัน และต้องมีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ. บสย.ให้สามารถค้ำประกันกว้างขึ้น จากเดิมที่สามารถค้ำประกันบนสินเชื่อเท่านั้น" นายสิทธิกร ระบุ

     สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า จุด Pain Point ของผู้ประกอบการ SME คือ ใหญ่กระจุก เล็กกระจาย ทำให้รายเล็กการเข้าถึงสินเชื่อยาก และในอัตราดอกเบี้ยแพง หนี้เสียสูง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีค่อนข้างน้อย จึงควรมีมาตรการที่ช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขันและการเข้าถึงเงินทุน โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อม (ecosystem) ที่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกการค้ำประกันเครดิต ซึ่งต้องอาศัยฐานข้อมูลที่เอื้อต่อการประเมินความเสี่ยงและให้การค้ำประกันเป็นรายธุรกิจ การแก้กฎหมายให้ บสย. ขยายการค้ำประกันไปถึงผู้ให้กู้ยืมรายอื่นนอกจาก สง. และการมีแหล่งเงินทุนในการค้ำประกันที่หลากหลาย ไม่เพียงจากภาครัฐเท่านั้น

     ดังนั้น หากออกแบบการค้ำประกันให้เหมาะสมกับทุกคนได้ จะเป็น Win-Win ทั้งภาครัฐ ผู้ให้กู้ และ SMEs ซึ่งจะช่วยก่อให้เกิดการจ้างงานและ GDP จะเพิ่มในที่สุด แม้ว่างบประมาณจะมาหรือไม่ก็ตาม ก็สามารถเดินหน้าไปได้

     แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการมีแรงจูงใจให้ SME เข้ามาในระบบได้มากขึ้น เช่น การเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ ตลอดจนการมีที่ปรึกษาด้านการเงินหรือการดำเนินธุรกิจที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจ และการแก้ไขกฎหมาย/กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของ SME

3 แนวทางการพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตให้ตอบโจทย์ SME

     1) การมีข้อมูลที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการประเมินความเสี่ยงแบบ individual risk เพื่อให้ SME แต่ละรายได้รับเงื่อนไขการค้ำประกันที่แตกต่างกันตามความเสี่ยงของตน ทั้งนี้ เห็นว่าการผลักดันแนวนโยบาย Open Data ที่ ธปท. ดำเนินการอยู่ จะมีส่วนทำให้ข้อมูลจากหลายแหล่งทั้งในภาคการเงินและนอกภาคการเงินถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

     2) การขยายขอบเขตของการค้ำประกันทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์และผู้ให้กู้ยืม ซึ่งจะช่วยให้ SME มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในหลายรูปแบบมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ให้กู้ยืม และ

     3) การให้เงินทุนต้องทำควบคู่กับการให้ความรู้ และเสริมศักยภาพของ SME ในด้านอื่น ๆ เพื่อพัฒนา SME ให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้

Cr:BOT

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน