คำนวณต้นทุนอย่างไร ไม่ให้เจ็บตัว

 




Text : เจษฎา ปุรินทวรกุล



    คำว่า “กำไร” แท้จริงแล้วมาจาก รายได้ – ตุ้นทุน = ผลกำไร เช่น ขายสินค้าได้ 1,000 บาท ใช้ต้นทุนไป 600 บาท จึงเหลือกำไรอยู่ที่ 400 บาท 


     แต่หลายต่อหลายคนที่คิดจะประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะขายสินค้าหรือขายอาหาร อาจยังไม่เข้าใจว่า “ต้นทุน” ต้องรวมค่าอะไรเข้าไปบ้าง และการคำนวณต้นทุนมีความสำคัญมากเพียงใด เอาเป็นว่าถ้าเราคำนวณต้นทุนผิดพลาดก็อาจส่งผลให้กิจการต้องปิดตัวกันเลยทีเดียว หรือถ้าธุรกิจยังพอเดินหน้าไปได้ เราก็อาจไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วธุรกิจของเราสามารถสร้างกำไรได้เท่าไหร่กันแน่ สุดท้ายอาจส่งผลให้ไม่สามารถจัดทำบัญชีได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย


    ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว ต้นทุนในการประกอบธุรกิจ จะมีต้นทุนของสินค้า (หรือต้นทุนคงที่) กับต้นทุนแฝง (หรือต้นทุนผันแปร) ซึ่งในแต่ละธุรกิจอาจมีแตกต่างกันไปดังต่อไปนี้ 



ธุรกิจร้านขายอาหาร

    ในส่วนของร้านอาหารนั้น ต้องมีเรื่องของค่าเช่าร้าน ค่าวัตถุดิบในการผลิต ค่าแก๊ซหุงต้ม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างพนักงาน ค่าแรงตัวเอง และยังรวมถึงต้นทุนแฝงอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นค่าน้ำมันในกรณีที่เราไปซื้อสินค้าด้วยตัวเอง ค่าที่จอดรถ ฯลฯ ซึ่งเราต้องคำนวณออกมาให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น


    ต้นทุนคงที่

   เป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ ไม่ว่าจะขายได้มาก หรือน้อยก็ตาม

    - ค่าเช่าสถานที่ 10,000 บาทต่อเดือน ค่าจ้างพนักงาน 9,000 บาทต่อเดือน ค่าน้ำ ไฟ และแก๊ส 5,000 บาทต่อเดือน ค่าต้นทุนคงที่ของธุรกิจร้านอาหารของคุณจะอยู่ที่ 24,000 บาท.

    ต้นทุนผันแปร

   ในธุรกิจร้านอาหารจะมีต้นทุนผันแปรไปตามยอดการขาย ถ้าคุณขายดี ต้นทุนของการซื้อวัตถุดิบก็จะสูงตามไปด้วย เช่นบางเทศกาลทางร้านจะขายดี เจ้าของร้านย่อมเตรียมซื้ออาหารมาตุนเอาไว้ แต่ช่วงที่ขายไม่ดี ก็จะไม่ซื้อสินค้ามาตุน 

    - ค่าวัตถุดิบต่างๆ เช่น ข้าว เนื้อหมู เนื้อไก่ ผัก น้ำมันพืช ไข่ไก่ ฯลฯ ซึ่งจะนำมาขายใน 1 วัน ตกอยู่ที่ 1,500 บาท สามารถปรุงอาหารออกมาขายได้ 100 จาน ต้นทุนส่วนนี้ก็จะอยู่ที่ 15 บาทต่อจาน และคิดเป็นต่อเดือนเฉลี่ยที่ 15 บาท x 3,000 จาน เท่ากับ 45,000 บาท 

    หากร้านของคุณขายอาหารจานละ 35 บาท x 100 จาน x 30 วัน หนึ่งเดือน จะมีรายได้ประมาณ 105,000 บาท

    และจากหลักการคำนวณ รายได้ – ต้นทุน(ต้นทุนคงที่ +ต้นทุนผันแปร) = ผลกำไร คือ 105,000 – (24,000 + (15x3,000)) = 36,000 บาท ถ้าหักค่าแรงตัวเองออก 15,000 บาท แปลว่าธุรกิจร้านอาหารคุณมีกำไรเดือนละประมาณ 21,000 บาท เป็นต้น

    จะเห็นได้ว่าถ้าคุณไม่คำนวณต้นทุนออกมาให้ชัดเจน แล้วไปตั้งราคาอาหารถูกเกินจริง เช่น ขายจานละ 30 บาท กำไรจะหายไปถึง 15,000 บาทต่อเดือนทีเดียว คงพอจะเห็นภาพคร่าวๆ กันแล้วใช่ไหมว่า การคำนวณต้นทุนก่อนเปิดร้าน สำคัญมากแค่ไหน   




ธุรกิจร้านขายสินค้า

    ธุรกิจขายสินค้า เช่น ซื้อมาขายไป หรือขายสินค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่จะมีเพียงแค่ต้นทุนของสินค้า ยกเว้นคุณมีหน้าร้านหรือเปิด Shop ก็จะมีต้นทุนอื่นๆ เพิ่มไปกับค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าลูกจ้างเพิ่มเข้ามาด้วย

ต้นทุนคงที่ 

    - สมมติว่าคุณขายสินค้าออนไลน์ คุณสั่งสินค้ามาขาย 2 แบบ คือ แบบ A สั่งมา 100 ชิ้น ในราคา 1,000 บาท ต้นทุนสินค้า A อยู่ที่ 10 บาท สั่งสินค้า B มาขายอีก 200 ชิ้น ในราคา 4,000 บาท ต้นทุนสินค้า B อยู่ที่ 20 บาท

ต้นทุนผันแปร

    - อาจมีค่าจัดส่งสินค้าหรือค่าเดินทางไปรับสินค้า 1,000 บาท ค่าน้ำค่าไฟ 2,000 บาทต่อเดือน รวมเป็น 3,000 บาท

    วิธีการคำนวณต้นทุนเพิ่มเติมคือ นำจำนวนสินค้าที่นำมาขาย แบบ A 100 ชิ้น และแบบ B 200 ชิ้น มารวมกัน = 300 ชิ้น (ต้นทุนผันแปร ? จำนวนสินค้า) = (3,000 ? 300) = 10 บาท ดังนั้น สินค้าทุกชิ้นจะมีต้นทุนแปรผันเพิ่มอีกชิ้นละ 10 บาท กล่าวคือ สินค้า A มีต้นทุนจาก 10 บาท กลายเป็น 20 บาทต่อชิ้น และสินค้า B มีต้นทุนจาก 20 บาท กลายเป็น 30 บาทต่อชิ้น ดังนั้น จะขายสินค้ากี่บาทต้องคำนวณให้ดีว่าจะรวมค่าจัดส่งไปรษณีย์ด้วยหรือไม่อีกครั้ง

    คงไม่ยากเกินไปหากวันนี้เราจะเริ่มคำนวณหาต้นทุนเพื่อให้ได้ทราบถึงรายได้และกำไรที่แท้จริง ที่สำคัญ อย่าเอาเงินรายได้ไปใช้เป็นเงินส่วนตัว เช่น ซื้อของใช้เข้าบ้าน จัดงานเลี้ยงวันเกิด ฯลฯ เพราะมันจะทำให้ส่งผลเสียต่อระบบการเงินในธุรกิจของคุณเป็นอย่างมาก     


    Tip : ในกรณีที่ร้านของคุณมีชื่อเสียง อย่าลืมบวกค่าการตลาดแบบรายปีเป็นต้นทุนคงที่ไปด้วย เช่น ปีนี้มีค่าการตลาด 45,000 บาท / 12 เดือน = 3,750 บาทต่อเดือน หรือค่าใช้อุปกรณ์ หรือเทคโนโลยี ก็ต้องคิดค่าเสื่อมสภาพด้วย เช่น ลงทุนเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้า 1,500,000 บาท อายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 10 ปี ก็ตกปีละ 150,000 บาท และอยู่ที่ 12,500 บาทต่อเดือน ซึ่งสามารถใส่ลงในค่าใช้จ่ายแบบคงที่ในระยะยาวได้เลย  


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)

RECCOMMEND: FINANCE

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน

พลิกอุปสรรค สู่ความสำเร็จ สร้างธุรกิจรายได้หลักร้อยล้าน

ทุกย่างก้าวในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเผชิญวิกฤตหรือได้รับโอกาส มุมมองในการบริหารธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญ และตัวช่วยที่ขาดไม่ได้ในการนำพาธุรกิจพุ่งทะยานสู่รายได้หลักร้อยล้าน คือ เงินทุน พบกับ 4 ธุรกิจ พลิกจากอุปสรรค เป็นสร้างรายได้ทะลุร้อยล้าน