Text: VaViz
เสียงฟ่อๆ สุดสะพรึงอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณของปัญหาด้านการเงินของคุณก็เป็นได้! ลองค้นดูดีๆ เพราะอาจมีตัวอะไรซุกซ่อนอยู่ภายใน เพราะจัดระเบียบและวางแผนการใช้จ่ายที่ไม่ดี
ขึ้นหัวเหมือนขู่มาแบบนี้ อย่าพึ่งกลัวไป เพราะนี่คือสิ่งที่ทางเศรษฐศาสตร์เขาเรียกว่า “Cobra Effect” หรือการสร้างแรงจูงใจที่ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจและขัดต่อความตั้งใจ แถมยังแก้ปัญหาหลักไม่ได้ แต่อาจบานปลายมากขึ้นด้วย
งูเห่ากับการเงินในกระเป๋ามาเกี่ยวอะไรกัน?
เพื่อให้เข้าใจอานุภาพของอรสพิษนี้ คงต้องย้อนไปดูถึงที่มาเมื่อครั้งที่อังกฤษยังปกครองประเทศอินเดียในศตวรรษที่ 19 ซึ่งต้องการแก้ปัญหางูพิษล้นเมือง จึงเสนอเงินรางวัลสำหรับการฆ่างู
อย่างว่า Kill ไปตัว 2 ตัวคงได้เงินไม่เท่าไร คนเลยพากันหัวใสเพาะพันธุ์งูแล้วค่อยเอาไปแลกเป็นเงินกันซะเลย ความบันเทิงเลยเกิดเมื่อโครงการถูกยกเลิก คนก็พร้อมใจกันปล่อยงู ปัญหาที่เคยมีจึงแย่ไปกว่าเดิม
จากสถานการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า การตัดสินใจใดๆ ที่ดูเหมือนจะแก้ปัญหาในระยะสั้นได้ อาจได้ผลลัพธ์ที่ร้ายแรงกว่าในระยะยาว หากไม่คิดให้รอบคอบ เช่นเดียวกับเรื่องของการบริหารจัดการทางการเงิน ที่ต้องคิดให้ละเอียด จะด่วนตัดสินใจโดยมองแค่ด้านใดด้านเดียวไม่ได้นั่นเอง
ไม่อยากถูกฉก อย่าปล่อยงูพ่นพิษการเงิน
ดังนั้น เพื่อป้องกันการคิดหน้าไม่ถึงหลัง หรือคิดถึงแต่ผลสั้นๆ ไม่คิดถึงระยะยาว แบบ “Cobra Effect” นี้ ธุรกิจควรสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับกิจการตั้งแต่เนิ่นๆ
1. ตั้งเป้าให้เป๊ะ วางแผนให้ชัด
จะทำอะไร จะใช้เงินในเรื่องไหนต้องตั้งเป้าหมายและวางแผนให้ชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าเงินที่มีอยู่นั้นจะถูกใช้อย่างไรในระยะยาว เช่น หากกำลังจะขยายธุรกิจหรือลงทุนซื้อข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ใหม่ ควรคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวมากกว่ามุ่งผลกำไรระยะสั้น
2. คิดให้รอบ ครอบทุกทิศ
แน่นอนว่าการจะใช้เงินเพื่อสร้างแรงจูงใจบางอย่างให้กับพนักงานหรือลูกค้า ควรพิจารณาถึงผลกระทบระยะยาว เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่คาดคิดอย่างความไม่ยั่งยืนของแคมเปญและพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของพนักงานหรือลูกค้า เช่น การให้โบนัสตามยอดขายสูงสุด 1 เดือน อาจทำให้พนักงานมุ่งมั่นที่จะขายของมากขึ้นในระยะสั้น แต่ไม่ได้มุ่งพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้าหรือสร้างความพึงพอใจระยะยาว หรือการทำโปรโมชั่นสินค้าที่อาจดึงดูดลูกค้าได้ในระยะสั้น แต่ถ้าทำบ่อยเกินไปอาจทำให้ลูกค้าไม่ยอมจ่ายเต็มราคาหรือคาดหวังโปรโมชั่นแบบต่อเนื่อง
3. มี Data คาดการณ์ได้ วิเคราะห์เป็น
ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรด้านการเงินควรทำการวิเคราะห์ข้อมูลและศึกษาเรื่องนั้นๆ อย่างละเอียด เช่น หากต้องทำการกู้ยืมเงิน ควรคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยและกระแสเงินสดในอนาคต รวมถึงมีการคาดการณ์ยอดรายรับและรายจ่าย เพื่อให้สามารถจัดการกับกระแสเงินสดได้อย่างรอบคอบ
4. คุมให้อยู่ ดู(การเงิน)ให้ออก
เพื่อให้ไม่มีงูเล็ดลอดสายตาเข้ามาสร้างรังในกระเป๋า ธุรกิจต้องรู้จักควบคุมการใช้จ่ายและมีการติดตามการเคลื่อนไหวทางการเงินอยู่เสมอ เช่น หากมีการลงทุนในทรัพย์สินหรือเครื่องจักรใหม่ ต้องมีการติดตามว่าของเหล่านั้นทำกำไรหรือไม่ เป็นต้น รวมถึงมีการจัดทำงบประมาณและตรวจสอบการใช้จ่ายเป็นประจำ โดยอาจใช้เครื่องมือหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้ามาช่วยให้ง่ายขึ้น เช่น โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ที่จะช่วยให้เห็นสถานการณ์ทางการเงินได้ทุกเวลา
5. รู้ว่าอะไรไม่จำเป็น ไม่ยั่งยืน
สุดท้าย จะตีงูให้ตายต้องจัดการกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้ และต้องรู้จักสร้างเงินสำรองในบัญชีธุรกิจ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น การสูญเสียลูกค้ารายใหญ่หรือต้องซื้อสินค้าคงคลังในช่วงที่รายรับชะงัก หรือต้องลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือทำการเจรจากับซัพพลายเออร์ เพื่อลดราคาสินค้า เมื่อเจอปัญหากระแสเงินสดติดขัด ไปจนถึงไม่ลงทุนในสินทรัพย์หรือโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้อย่างดี
ดังนั้น ถ้าไม่อยากเป็น SME ที่ตายเพราะงู ต้องอาศัยการบริหารการเงินอย่างมีระเบียบและจัดการอย่างมีระบบ เพื่อให้ธุรกิจไม่ต้องเสี่ยงเจอสภาพคล่องสะดุดและหยุดเติบโตไป
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี