บริหารคนแบบไหน ได้ทั้งใจได้ทั้งงาน

Text : กองบรรณาธิการ
 
 
     เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา Google ได้เริ่มโครงการ Aristotle ซึ่งมองหาปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพ โดยหลังจากผ่านการทดสอบจากหลายๆ กลุ่ม ก็พบว่าทีมที่มีพนักงานหลากหลายรูปแบบ มีวิธีคิดและแนวทางการแก้ปัญหาที่ต่างกัน จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่คนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำ ต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการให้พนักงานทุกคนที่มาจากแต่ละสถานที่ มีความรู้และประสบการณ์แตกต่างกัน สามารถทำงานร่วมกันและกลายเป็นทีมเดียวกันให้ได้


     
     
     แต่พนักงานส่วนใหญ่มักให้คะแนนหัวหน้าตัวเองที่ประมาณ 70 คะแนนเต็ม 100 ขณะที่บางคนให้ต่ำกว่าครึ่ง รวมถึงพนักงานกว่าร้อยละ 65 ยังมีความรู้สึกว่าไม่สามารถเอ่ยปากตั้งคำถามกับผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำได้ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำควรปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการของตัวเองให้มีประสิทธิภาพ เพื่อดึงความสามารถของพนักงานออกมาใช้ให้เต็มที่และกลายเป็นทีมที่แข็งแกร่งให้ได้ และนี่คือแนวทางในการพัฒนาการบริหารจัดการทีม

 
1. ถามให้มาก เพื่อให้เข้าใจกัน 

     การจะทำความเข้าใจใครซักคนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพยายามคุย สอบถาม เพื่อดูแนวคิดและวิธีการแก้ปัญหาเพื่อปรับจูนให้มีทัศนคติที่ใกล้เคียงกันทั้งหมดให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะไม่ใช่เรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ในวันสองวัน 

 
     อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่พนักงานมีความคิดแบบของตัวเอง แล้วไม่ได้รับการยอมรับจากหัวหน้าหรือผู้นำซึ่งมีแนวความคิดต่างกันมากๆ ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบและต่อต้านได้ เพราะฉะนั้นการพูดคุย จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายค่อยๆ เข้าใจถึงเหตุและผลได้มากขึ้น บางครั้งพนักงานทำผิดพลาดก็ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ หากลองสอบถามดูอาจรู้ถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ซ่อนอยู่ได้ด้วย ระหว่างการรับฟัง หัวหน้าอาจมีข้อเสนอแนะดีๆ ให้พนักงานสามารถรับมือสถานการณ์ที่ไม่ดีในครั้งหน้าได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกต่างหาก


2. พยายามหลีกเลี่ยงการตำหนิ

     ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะผิดพลาดเรื่องใดก็ล้วนกลายเป็นค่าใช้จ่ายหรือทำให้เสียเวลาได้ เมื่อหัวหน้าพบว่าลูกน้องทำผิดพลาด ต้องพยายามสงบสติอารมณ์ อย่าให้หัวร้อนจนนำไปสู่การตั้งคำถามสุดฮิตอย่าง “มันเป็นความผิดของใคร” หรือ “ทำไมทำให้ถูกต้องไม่ได้ซักที” แต่ให้พยายามจำเอาไว้ว่า เมื่อเกิดเหตุผิดพลาด ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องล้วนเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีอยู่แล้ว ดังนั้น พยายามหาทางแก้ไขปัญหาดีกว่า

 
     นอกจากนั้นการตำหนิหรือกล่าวโทษพนักงานบ่อยๆ ยังทำให้ความสามารถโดยรวมของการทำงานเป็นทีมลดน้อยลงด้วย เพราะเมื่อพนักงานถูกตำหนิในสิ่งที่คิดว่าตัวเองทำไปอย่างถูกต้อง ย่อมเสียกำลังใจและแรงจูงใจในการทำงาน และถ้าพนักงานในทีมทำงานผิดพลาดซ้ำๆ บางครั้งปัญหาอาจไม่ได้เกิดจากตัวพนักงานเองก็ได้ อาจเกิดจากปัจจัยภายนอก อาจเกิดจากการสั่งงานของหัวหน้า หรืออาจเกิดจากอะไรก็ได้ซึ่งถ้าไม่คุยกัน ก็คงไม่มีทางรู้อย่างแน่นอน

 
3. แสดงให้พนักงานเห็นว่าพวกเขามีคุณค่ากับเราจริงๆ

     เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับการทำงาน แต่เชื่อเถอะว่า พนักงานนั้นสำคัญกว่ามาก หัวหน้าหรือผู้นำบางคนมักชอบอ้างว่าไม่มีเวลา เมื่อไม่มีเวลาจะทำงาน แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาทำความเข้าใจพนักงานได้ละ จริงไหม ซึ่งจากรายงานของเว็บไซต์ Office Vibes ที่รวบรวมการมีส่วนร่วมของพนักงาน ระบุว่า

     - 31 % ของพนักงานในผลสำรวจ ต้องการให้หัวหน้าหรือผู้นำสื่อสารกับพนักงานมากขึ้น
     
     - 32 % ของพนักงานในผลสำรวจ ต้องรอนานเกิน 3 เดือน ถึงจะได้รับ Feedback เรื่องผลการทำงานกลับมาจากหัวหน้า  

     - 63 % ของพนักงานในผลสำรวจ ไม่ได้รับคำชื่นชมในการทำงาน

     ดังนั้น พยายามนั่งลงคุยกับพนักงานบ้าง หรือโทรสอบถามสารทุกข์สุกดิบ เพื่อสอบถามว่าเขาเป็นอย่างไร ต้องการพัฒนาอะไรในองค์กร หรือพัฒนาตัวเองในสายงานอย่างไรบ้าง เพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นถึงความใส่ใจของเรา

 
     สิ่งสำคัญคือ เราต้องใส่ใจและจับเข่าคุยกับพนักงานทุกคนในทีมให้ได้ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าได้รับความสำคัญเท่าๆ กัน ซึ่งทั้งหมดนี้คือเงื่อนไขสำคัญในการทำให้การทำงานเป็นทีม มีประสิทธิภาพสูงสุด 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เหนื่อยยังไง...ให้ไปต่อได้ 4 หลักคิดญี่ปุ่น ที่คนทำธุรกิจยุคไม่แน่นอนต้องรู้

ถ้าเป้าหมายการทำธุรกิจของคุณ ไม่ใช่แค่ “อยู่รอด” แต่คือ “อยู่ให้ได้อย่างยั่งยืนและมีคุณค่า”ลองดู 4 หลักคิดญี่ปุ่น ที่ช่วยให้ธุรกิจไปต่อได้ในวันที่เหนื่อยแทบขาดใจ

ลงทุนในคน ยังไงไม่ให้คนเก่งหนี  บทเรียนจากองค์กรชั้นนำ ยุคที่คนเปลี่ยนงานไวกว่าเปลี่ยนมือถือ

หากองค์กรจะลงทุนเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การพัฒนาคน” ทั้งในแง่ของทักษะ มุมมอง และการสร้างระบบที่หล่อเลี้ยงการเติบโตของคนกับองค์กรไปพร้อมกัน

ล้มไม่ใช่แพ้ ถ้ารู้จักลุกอย่างมีกลยุทธ์ “Resilience” ทักษะที่ SME ควรมี

ล้มแค่ไหนก็ไม่พัง ถ้าเราล้มเร็วลุกเร็ว มาเรียนรู้ 10 วิธีฟื้นใจและปรับตัวไว ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของความอดทน แต่คือศิลปะของการลุกขึ้นใหม่