TEXT : Sir.nim
พูดถึงเรื่องการนำ Data มาใช้ในธุรกิจ หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องขององค์กรขนาดใหญ่ หรือไม่ก็ธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการตลาดดิจิทัลเท่านั้น แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะธุรกิจไหนๆ ก็สามารถใช้ Data มาสร้างความได้เปรียบและพัฒนาธุรกิจได้ วันนี้เลยอยากชวนมาดูตัวอย่างธุรกิจที่มีการนำ Data มาใช้ในการทำธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด มีวิธีไหนบ้าง ไปดูกัน
ดีปาษณะ
วางคนให้เหมาะกับงาน ด้วย Data
Dpasanaa (ดีปาษณะ) ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยแห่งเมืองแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านับพันเปอร์เซ็นต์ โดยทางแบรนด์มีการจัดเก็บข้อมูล นำมาใช้ในธุรกิจที่โดดเด่น ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน โดยคัดคนให้ตรงกับงาน
“เราเป็น SME รายเล็กๆ แต่เราก็มีการจัดทำข้อมูลของตัวเอง เดิมแต่ก่อนรับคนเข้ามาทำงาน แผนกไหนขาด ก็ส่งเข้าไปแผนกนั้น โดยไม่ได้ดูว่าจริงๆ แล้วแต่ละคนถนัดงานอะไรมากกว่ากัน ภายหลังต่อมาเราจึงมีการทดสอบ และเก็บข้อมูล โดยให้พนักงานแต่ละคน สลับกันทดลองทำแต่ละแผนก จากนั้นเก็บเป็นข้อมูลว่าใน 1 ชม. แต่ละคนสามารถทำได้ปริมาณเท่าไหร่ เช่น คนปอกกล้วย 1 ชม. ปอกได้เท่าไหร่ จากนั้นก็มาดูว่าใครทำได้เร็วและดีที่สุด ก็เอาไปอยู่แผนกนั้น ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น พนักงานเองก็มีความสุขมากขึ้นที่ได้ทำสิ่งที่ถนัด ถ้าเขาทำงานเสร็จแล้ว นั่งว่าง เราก็ไม่ว่านะ เพราะต้องยอมรับความจริงว่าเราเปลี่ยนพนักงานบ่อยๆ ไม่ได้ แต่สามารถปรับคนให้ตรงกับงานได้” ศุภลักษณ์ บัวโรย เจ้าของแบรนด์กล่าว
How to ใช้ Data เลือกคนให้ตรงกับงาน 1.ให้พนักงานทดลองทำงานส่วนต่างๆ เพื่อแสวงหางานที่ถนัดที่สุด 2.เก็บเป็นสถิติข้อมูล วิเคราะห์ วางแผนจัดสรรคนให้ตรงกับงาน 3.ปรับเปลี่ยนโยกย้ายให้เหมาะสม คนทำงานมีความสุข ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น |
PDM
กำหนดยอดขาย ด้วย Data ตั้งแต่ยังไม่เริ่มผลิต
PDM แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านสุดชิคที่โดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะ “เสื่อ” สินค้าขายดีสร้างชื่อที่สามารถอัพราคาจากเสื่อธรรมดาราคาหลักร้อย สู่ราคาผืนละหลายพันบาทได้ ที่ออกตัวอย่างคอลเลคชั่นใหม่มาทีไร ก็ถูกสั่งจองเต็มตั้งแต่ยังไม่เริ่มผลิตทุกครั้งไป
สิ่งที่ทำให้ PDM สามารถทำได้แบบนั้น เป็นผลมาจากการที่แบรนด์มีการเก็บข้อมูล (Data) ก่อนที่จะผลิตจริงออกมา โดยใช้วิธีโยนหินถามทางกับลูกค้า ด้วยการทดลองปล่อยรูปแบบงานดีไซน์ที่ใช้เทคนิคการออกแบบ และจัดทำภาพให้ใกล้เคียงกับสินค้าจริงมากที่สุด เพื่อดูฟีดแบ็กจากลูกค้า
“PDM เราเป็นสินค้า Fashion Living เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้ว ลูกค้าจะชอบแบบไหน หรือไม่ชอบแบบไหน เราแค่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ทุกคนอยากให้บ้านสวย ฉะนั้นเราพยายามทำทุกอย่างให้ลูกค้าเห็นภาพว่า ถ้าสินค้านี้เข้าไปอยู่ในบ้านของเราแล้วจะเป็นยังไง ซึ่งเราก็มีฐานแฟนคลับระดับหนึ่ง ที่เข้ามาไลค์ คอมเมนต์ แชร์ หรือกดติดตาม ถ้าเป็นห้างฯ คนเหล่านี้ ก็คือ ลูกค้าที่เดินเข้าห้างของเรา จากตรงนี้ทำให้เราสามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ ทำให้รู้ว่าเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการไหม ซึ่งบางชิ้นที่ลูกค้าชอบ บางทีเปิดรีออร์เดอร์ล่วงหน้านาน 2 เดือน เขาก็รอได้” ดุลยพล ศรีจันทร์ ผู้ก่อตั้ง และเจ้าของแบรนด์ PDM เล่าให้ฟัง