Deesawat สร้างแบรนด์ สร้างความสำเร็จ



 



    Deesawat นับว่าเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยที่มีประสบการณ์ด้านการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้มากว่า 40 ปี โดยเน้นทำตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เรียกได้ว่าตลอดระยะเวลาของการดำเนินธุรกิจ Deesawat ได้ปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันความพยายามที่จะสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญเพราะตระหนักดีว่า แบรนด์ที่แข็งแกร่งย่อมนำพาธุรกิจให้สำเร็จได้อย่างยั่งยืน และด้วยความมุ่งมั่นนี้เอง ทำให้ Deesawat ได้รับ รางวัลโดดเด่นด้านการสร้างแบรนด์ จากการประกวด SME Thailand Inno Awards 2015

 




    จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ Deputy Managing Director บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด เปิดเผยว่า โจทย์ในการดำเนินงานของบริษัทที่ผ่านมา จะมุ่งเน้นที่การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากในอดีตที่เคยเน้นทำเฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลักฝังมุก และทำในลักษณะรับจ้างผลิต (OEM) แต่เมื่อตระหนักว่าการทำเช่นนี้ไม่สามารถไปถึงดวงดาวได้ จำเป็นต้องวางแนวทางใหม่ให้กับธุรกิจด้วยการเป็นเฟอร์นิเจอร์สนาม (Outdoor Furniture) ที่เน้นความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น พร้อมๆ กับการเดินไปข้างหน้าภายใต้แบรนด์ Deesawat

 




    สำหรับเฟสแรกของการปรับเปลี่ยนนี้ ได้นำเอาเรื่องของ Design มาเป็นโจทย์ในการพัฒนา เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ซึ่งได้รับการยอมรับจากตลาดเป็นอย่างดี โดยมีรางวัลด้านการดีไซน์มากมายเป็นตัวการันตี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งดีไซน์อย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป การพัฒนาแบรนด์ในเฟสที่สองได้หยิบความเป็น Green เข้ามาเพิ่ม เพราะด้วยตลาดหลักซึ่งเป็นลูกค้าต่างประเทศที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม จึงได้พัฒนาไปสู่การเป็นโรงงานสีเขียว โดยมีการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็น วัสดุ สี หรือแม้แต่กาวติดไม้ ก็เลือกใช้กาวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการออกแบบที่เป็น Eco Design และการทำ CSR ควบคู่ไปด้วย


 



    จากนั้นแบรนด์ Deesawat ก็ค่อยๆ พัฒนาไปอีกก้าว โดยมุ่งเจาะลึกลงไปที่เรื่องของ Well Being เป็นการใส่ใจเรื่องของสุขภาพและการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น อย่างเก้าอี้สำหรับคนสูงอายุ หรือคนพิการ จะเห็นได้ว่าเป็นการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มที่เล็กมากขึ้น และปัจจุบันได้นำ Innovation เข้ามาเติมเต็มให้ธุรกิจ ยกตัวอย่าง นวัตกรรมในการนำเอาเศษไม้ที่เป็นขยะทิ้งแล้ว มาเพิ่มมูลค่าให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ใหม่ จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้เองที่ส่งผลให้แบรนด์ถูกจดจำจากกลุ่มลูกค้าในฐานะเฟอร์นิเจอร์ไม้ Outdoor ที่สามารถตอบความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้หากลูกค้านึกถึงแบรนด์ Deesawat เขาจะนึกถึงมืออาชีพด้านไม้ และเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สบาย และมีรสนิยมเรียกได้ว่า เป็นทิศทางของการสร้างแบรนด์ที่ถูกวางไว้อย่างชัดเจน


 




    ถึงตรงนี้ การทำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นนับเป็นสิ่งที่จิรวัฒน์ก็ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเขามองว่า แบรนด์ทุกแบรนด์ต่างมีคุณค่าในตัวเอง ดังนั้น เขาจึงไม่เน้นสร้างแบรนด์ด้วยการทุ่มงบไปกับการโฆษณา และด้วยความที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างประเทศ การออกงานแฟร์จึงเป็นเสมือนการโชว์ตัวให้ลูกค้าได้รู้จัก พร้อมๆ กับการมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาให้ลูกค้าได้รู้จักอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อคนรู้จักแบรนด์พวกเขาจะติดตามความเคลื่อนไหนของแบรนด์จากสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องการรู้ว่า Deesawat จะพัฒนาไปในรูปแบบไหนอีกบ้าง


 




    “การสร้างแบรนด์เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเราจะไม่ใช่แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ที่ใครๆ ก็ต่างรู้จัก แต่ตอนนี้คนในวงการดีไซเนอร์เริ่มรู้จัก Deesawat มากขึ้น ส่งผลให้การรับรู้ของลูกค้าเปลี่ยนไป โดยเมื่อก่อนเวลาออกงานแฟร์ คนที่เดินมาดูเฟอร์นิเจอร์ที่บู๊ธจะเป็นคนที่บังเอิญเดินมาเจอ แต่ตอนนี้กลุ่มคนเหล่านั้นได้กลายมาเป็นคนที่ตั้งใจมาดูเฟอร์นิเจอร์ของเรา และผลของการสร้างแบรนด์อย่างจริงจังนี้เอง ยังทำให้การตัดสินใจซื้อของลูกค้าเปลี่ยนไปด้วย อย่างเมื่อก่อนลูกค้าตัดสินใจซื้อเพราะเป็นเฟอร์นิเจอร์ แต่วันนี้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเพราะเป็น Deesawat ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นความสำเร็จก้าวเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ของเรา” จิรวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย


www.smethailandclub.com 
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของ SME (เอสเอ็มอี)

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน