ฝ่าวิกฤติด้วยศักยภาพชุมชน

 
 
เรื่อง : มกร เชาวน์วาณิชย์
 
ผมมักได้รับคำถามเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ดีไซน์” ในการไปเป็นวิทยากร ที่จัดโดยหน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอๆ อาจเรียกได้ว่าแทบทุกครั้ง จะต้องมีคำถามนี้เกิดขึ้นในเวทีการสัมมนา ทั้งจากผู้ดำเนินรายการ หรือไม่ก็จากคนที่เข้ามาฟังว่า แท้จริงแล้ว “ดีไซน์” คืออะไร
 
ผมมีอยู่คำตอบเดียวครับสำหรับคำถามนี้ นั่นก็คือ “การแก้ปัญหา”
 
การแก้ปัญหาที่ว่า ไม่ใช่แก้ปัญหาแค่เรื่องของการทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงามมากขึ้นเพียงแค่นั้น หากรวมไปถึงการแก้ปัญหาเรื่องของการตลาด การสื่อสาร และอื่นๆ อีกหลายประการ ที่จะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกับตลาดได้
 
หลายต่อหลายครั้งที่เรามุ่งพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ด้วยหวังจะเป็นเจ้าของนวัตกรรม เป็นผู้นำในตลาด ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแรกที่คิดได้ โดยลืมไปว่ายังมีอีกหลายอย่าง ที่เคยดี เคยได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิด เคยเป็นที่นิยมในตลาดมาก่อน
 
การเริ่มต้นในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่นั้น ต้องอาศัยทรัพยากรเป็นจำนวนมากพอสมควร ทั้งในแง่ของเงินทุน การลองผิดลองถูก การวิจัยผลิตภัณฑ์ การทำการตลาด และอีกมากมายที่ล้วนต้องใช้เงินทุนทั้งสิ้น
 
ยิ่งมาเจอกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ ยิ่งต้องคิดหนัก จะลงทุนมาก็กลัวจะขายไม่ได้ จะลงทุนน้อยก็กลัวว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีพอ จะเอาเงินไปฝากแบงค์กินดอกเบี้ยก็ดูจะน่าหวาดเสียว หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วอย่างนี้จะให้ทำอย่างไร
 
ต้องเท้าความไปสักหน่อย เกี่ยวกับเรื่องที่ผมเข้าไปมีส่วนร่วมกับรายการ “สหเฮ็ด” ซึ่งออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส เป็นรายการที่นำไอเดียใหม่ ๆ เข้าไปผสมผสานกับผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของไทย ที่มีอยู่แล้วและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
 
หลังจากได้ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย เราก็จะทำการคิดนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้น มาปรับปรุงเปลี่ยนไปจากเดิม โดยใช้แนวคิดว่า “ดีไซน์ คือ การแก้ปัญหา” เข้าไปทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น
 
โดยเรายังคงให้ความเคารพในภูมิปัญญาของเจ้าของผลิตภัณฑ์ เพียงแต่เราเห็นว่าพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป บางทีความต้องการที่เคยมีในอดีต อาจไม่เป็นอย่างที่ผ่านมา อย่างเช่น ข้าวหลาม หลายคนชอบที่จะรับประทานส่วนบน ที่อุดมไปด้วยกะทิและถั่ว เข้มข้น หวานมัน (ถ้าท่านผู้อ่านกำลังหิวอยู่ก็ขออภัยด้วยนะครับ) 
 
ด้วยลักษณะทางกายภาพของกระบอกข้าวหลาม ที่ทำจากไม้ไผ่และเป็นลำตามแนวยาว กะทิก็ต้องอยู่บ้างบนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเจ้าไหน ทำข้าวเหนียวไม่อร่อยพอ ก็เรียกได้ว่า หลังจากรับประทานส่วนที่เป็นกะทิเรียบร้อยแล้ว แทบจะทิ้งให้คนอื่นรับประทานต่อกันเลยทีเดียว
 
ผมเลยเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยให้ข้าวหลามเป็นแนวขวางแทน กะทิก็จะอยู่กับเราทุกคำที่ตัก ผ่ามาปุ๊บ สำหรับคนที่ชอบส่วนของกะทิ ก็สามารถทานได้จนหมดกระบอก นี่เป็นแนวคิดหนึ่งเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ที่ต้องเข้าไปทำการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน
 
ที่ผมกล่าวเช่นนี้ เพราะบางครั้งสิ่งที่เราคิด อาจจะไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา ดังนั้นเราต้องเคารพในความคิดของชุมชนด้วย การเข้าไปคลุกคลีเพื่อเข้าถึงชุมชน เข้าใจวิถีชีวิตของเขาอย่างแท้จริง จะทำให้เราสามารถร่วมกับชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีได้ ด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน ไม่ใช่คิดเพียงว่าเขาต้องเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วจะดี หากแต่ต้องเรียนรู้ว่าเขาอยากเปลี่ยนหรือไม่ ถ้าอยากเปลี่ยนจะเปลี่ยนอย่างไร ให้ไม่ขัดกับวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา ไม่กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับชุมชน
 
อย่างที่บอกไปตอนต้นครับ ว่า ดีไซน์ คือ การแก้ปัญหา ดังนั้น บางครั้งเราอาจไม่ต้องคิดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไปเสียทุกครั้ง อาจจะแค่เข้าไปไขเรื่องของกระบวนการในการผลิต ให้มีระบบมากขึ้น ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลง ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ ผลกำไรก็มากขึ้น ซึ่งก็น่าจะทำให้การออกแบบ มีประโยชน์มากกว่าแค่ความสวยงาม
 
ยิ่งตอนนี้ ภาคธุรกิจต่างประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจกันถ้วนหน้า ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะนำเอาคำว่า “ดีไซน์” เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับภาคธุรกิจ ส่วนผู้ประกอบการ ก็ถึงเวลาที่จะทำความเข้าใจกับคำว่า “ดีไซน์” เสียใหม่แล้วนะครับ ว่าไม่ใช่เพียงแค่ทำให้สวยงามแล้วมูลค่าของสินค้าจะเพิ่มขึ้น แต่ต้องสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค แก้ปัญหาให้กับภาคธุรกิจเอง ซึ่งก็จะสามารถใช้ “ดีไซน์” ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และในที่สุด สินค้าหรือบริการของเรา ก็จะฝ่าวิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้นได้
 
เศรษฐกิจแบบนี้ ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง สินค้าอะไรที่เขาเห็นเป็นของฟุ่มเฟือย ก็อาจจะต้องเหนื่อยกับการเข็นยอดขายกันหน่อย แต่หากเป็นสินค้าที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตของเขาได้ อันนี้ก็น่าจะได้รับความสนใจไม่ยาก
 
ลองดูนะครับ ว่าท่านผู้อ่านเห็นโอกาสอะไร ในผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในชุมชนต่าง ๆ บ้าง อาจจะเริ่มต้นจากชุมชนที่เราคุ้นเคยด้วย แล้วลองดูว่ามีผลิตภัณฑ์อะไร ที่สามารถพัฒนาต่อยอดจากเดิมได้ หรือถ้าพอจะเห็นแนวทางบ้างแล้ว เมื่อมีโอกาสได้พบผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ และเห็นถึงศักยภาพของชุมชนที่มี ก็จงเดินเข้าไปหา ทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคย เพื่อร่วมกันนำศักยภาพที่มี มาต่อยอดให้ผลิดอกออกผลได้อย่างที่เราต้องการครับ  
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024