ของเสีย ทำธุรกิจเสียไม่รู้ตัว

 



เรื่อง : Lean Supply Chain by TMB

    เคยไหมที่ขับรถเส้นทางเดิมๆ มาหลายปีจนมีเหตุฉุกเฉินให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางถึงพบว่า ยังมีเส้นทางอื่นๆ ที่พาให้คุณไปถึงจุดหมายได้ ทั้งยังเป็นเส้นทางที่ดีกว่า ใกล้กว่าทางที่คุณเคยไปเป็นประจำอีกด้วย เพราะความเคยชินทำให้คุณมักทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง กว่าจะรู้ตัวก็สูญเสียทั้งเงินและเวลาไปมาก หากความสูญเสียแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในธุรกิจของคุณ นั่นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจขาดประสิทธิภาพ จนไม่ประสบความสำเร็จได้


    เป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการหลายรายมักพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มยอดขายเพียงอย่างเดียวเพื่อกำไรที่มากขึ้น แต่กลับมองข้ามการลดความสูญเปล่าในงาน ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนและยังเพิ่มกำไรได้อย่างไม่คาดคิด แล้วความสูญเปล่าที่ว่านี้คืออะไรกันแน่ เรามาทำความรู้จักกัน


    ความสูญเปล่า 7 ประการ หรือ 7 Wastes ถูกรวบรวมขึ้นโดย ไทอิจิ โอโน่ (Taiichi Ohno) หัวหน้าวิศวกรชาวญี่ปุ่นของบริษัทโตโยต้า ด้วยวัตถุประสงค์คือ มุ่งหาว่าสิ่งใดทำแล้วมีคุณค่าและสิ่งใดไม่มี เพื่อที่จะพัฒนากระบวนการที่จำเป็นให้ดีขึ้น และตัดขั้นตอนที่ไม่เกิดคุณค่าทิ้งไป 7 Wastes ประกอบด้วย


1. ความสูญเปล่าจากการผลิตมากเกินความจำเป็น (Over Production Waste) 

    คงพบเห็นกันบ่อยๆ เหล่าร้านข้าวแกงที่ปรุงอาหารออกมาเยอะ แต่ขายไม่หมด ต้องนำมาลดราคาตอนเย็น ทั้งที่สามารถผลิตอาหารให้ขายหมดพอดีได้ ยอดขายของวันก่อนหน้า คือตัวช่วยกำหนดว่าวันนี้ควรผลิตสินค้าออกมาจำนวนเท่าใด 


2. ความสูญเปล่าจากการมีขั้นตอนการทำงานมากเกินไป (Over Processing Waste)

    คนเรามักใช้ความเคยชิน ไม่เปลี่ยนแปลง หากพิจารณาให้ดีมีกิจกรรมบางอย่างที่สามารถรวบรัดทำพร้อมกันได้ เช่น เวลาสระผมคุณสามารถแปรงฟันไปด้วยได้เพื่อประหยัดเวลาอยู่ในห้องน้ำ ในธุรกิจเองมีหลายขั้นตอนที่ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพ หากสามารถทำไปพร้อมขั้นตอนการผลิตได้ จะช่วยลดเวลาการทำงานโดยรวมลงอีกขนาดไหน


3. ความสูญเปล่าจากการขนส่งหรือการเคลื่อนย้ายงาน (Transportation Waste) 

คงไม่สนุกเลย ถ้าหากสินค้าที่ผลิตเสร็จมีจุดเก็บสินค้าห่างจากจุดขนส่ง ทำให้ต้องเสียเวลาขนสินค้าไปเก็บ และขนจากจุดเก็บมาขึ้นรถขนส่งอีกรอบ การวางแผนกระบวนการขนส่งที่ดี ช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนได้


4. ความสูญเปล่าจากการมีสินค้าคงคลังมากเกินความจำเป็น (Inventory Waste) 

    เวลาเห็นของขายยกโหลในราคาถูกกว่าปกติเกินครึ่ง เรามักหน้ามืดตามัวซื้อมา คุณกำลังสูญเสียเงินที่สามารถเอาไปซื้อของที่จำเป็นอย่างอื่นได้หรือเปล่า ของที่ซื้อมาตุนไว้ก็เสื่อมสภาพไปตามเวลา ซื้อให้พอดีใช้ ของจะได้ใหม่และมีคุณภาพคุ้มราคาอยู่เสมอ


5. ความสูญเปล่าจากการเคลื่อนไหวของผู้ปฏิบัติงาน (Motion Waste)

     เคยไหมที่ต้องเดินไปหยิบเอกสารที่พรินเตอร์ซึ่งไกลจากโต๊ะทำงานวันละหลายรอบเสียแรงและเวลาไปแบบไร้ประโยชน์ หรืออย่างการต้องเอื้อมหยิบของที่อยู่หลายๆ จุดไกลกัน ก้มตัวยกของหนักที่วางอยู่บนพื้นบ่อยๆ ก็ส่งผลให้ทำงานช้าลงและผู้ปฏิบัติงานก็เกิดอาการล้าทำงานได้ไม่นานไปด้วย


6. ความสูญเปล่าจากการรอคอยงานที่ต้องทำ (Waiting Waste) 

    การต้องรองานจากกระบวนการก่อนหน้าทำให้งานสะสมเหมือนมีคอขวด เช่น เวลาไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าแล้วมีแคชเชียร์เปิดอยู่ช่องเดียว แต่มีคนซื้อของจำนวนมากต้องต่อแถวยาวเหยียด หากเพิ่มเลนด่วนเฉพาะสำหรับคนที่ซื้อสินค้าน้อยชิ้นก็ช่วยให้คิวรันไปได้เร็วขึ้น การลงทุนกับสิ่งเล็กน้อยแต่ช่วยขจัดปัญหาได้เป็นเรื่องที่ควรทำ


7. ความสูญเปล่าจากผลิตภัณฑ์ที่บกพร่อง (Defects Waste)

     เวลาใช้มีดหั่นเนื้อทำอาหารในบ้านหากมีดไม่คมก็เพียงออกแรงมากขึ้นใช้เวลาเตรียมนานขึ้นหน่อย คุณอาจไม่เดือดร้อนอะไร แต่สำหรับธุรกิจอย่างร้านปิ้งย่างนั้นมีดที่ไม่คมหั่นเนื้อไม่ขาดทำให้ชิ้นส่วนเนื้อที่ตัดออกมาไม่เท่ากัน ไม่ถึงเกณฑ์คุณภาพ จนกลายเป็นของที่ต้องทิ้งไป แค่เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมของเสียก็หมดไป


    มีตัวอย่างของผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ได้นำหลักการ 7 Wastes ไปใช้ โดยเริ่มจากการจับเวลาระยะทางการเดินของพนักงานที่ต้องเดินไปกลับเพื่อชั่งน้ำหนักปลา วันหนึ่งวัดระยะได้ถึง 20 กิโลเมตร เดินไปเดินมากันทั้งวัน โดยไม่เคยมีใครบ่นหรือมองว่านี่คือ Waste สุดท้ายผู้ประกอบการเข้าไปจัด Layout ตำแหน่งเครื่องชั่งใหม่ให้อยู่ข้างพนักงาน ตอนนี้ไม่ต้องเดินไกล แถมผลิตงานได้รวดเร็วขึ้นได้ปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นอีกโดยไม่ต้องเพิ่มเวลางานหรือจำนวนคนเลย


    ของเสียหรือความสูญเปล่าในกระบวนการทำงานนั้นคำนวณเป็นตัวเงินคร่าวๆ อาจมากพอที่จะเป็นเงินทุนได้สักก้อน ถึงตรงนี้หากใครอยากลองนำหลัก 7 Wastesไปใช้แล้วละก็ ให้เริ่มจากการตั้งคำถามเบสิกอย่าง What? When? Where? Why? Who? และ How? คือ ถามหาวัตถุประสงค์ของขั้นตอนที่ทำ ถามหาความเหมาะสมของเวลา ถามหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับงานนั้น ถามหาคนที่เหมาะสมกับงาน ถามหาวิธีการที่จะทำให้งานสำเร็จ และสุดท้ายถามว่าทำไมเราต้องทำสิ่งเหล่านั้นในแบบที่ทำอยู่ เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองแล้วประเมินดูคำตอบว่า จุดใดควรพัฒนาหรือตัดทิ้ง 

    ประสิทธิภาพเกิดได้ แค่มุมมองเปลี่ยน อย่าปล่อยให้ของเสีย ทำให้ธุรกิจต้องสูญเสีย


RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024