เพิ่มโอกาสชนะด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งซัพพลายเชน

    

    
เรื่อง : Lean Supply Chain by TMB


    ผ่านมาครึ่งปีแล้วเจ้าของธุรกิจหลายแห่งคงได้เริ่มประเมินการเติบโต ดูผลกำไร ดูการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในครึ่งปีแรกกันมาบ้างแล้ว ทั้งธุรกิจเล็กใหญ่ต่างมีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็น การผลิตล่าช้า สินค้าคงคลังมากจนล้น เงินทุนถูกจม บางครั้งซัพพลายเออร์ส่งของไม่ตรงเวลา และของที่มาส่งก็ยังไม่ได้มาตรฐานต้องกลับไปทำซ้ำ เสียเวลา และค่าโอทีให้พนักงานเพิ่ม ทั้งที่ลองเปลี่ยนแผนการทำงานก็แล้ว เพิ่มเงินทุน เพิ่มยอดการผลิตก็แล้ว ทำไมถึงยังแก้ปัญหาบางอย่างไม่ได้ 


    ลองกลับมาพิจารณาดูให้ดีว่า แท้จริงแล้วปัญหาของคุณคืออะไรกันแน่ และคุณกำลังแก้ปัญหาผิดจุดหรือเปล่า ปัญหาของคุณเกิดจากซัพพลายเชนที่ขาดประสิทธิภาพหรือเปล่า 


    การจัดการซัพพลายเชน เป็นการจัดการทุกสิ่งที่มีผลต่อการสร้างความพอใจให้กับลูกค้า ไม่ได้ทำเฉพาะแค่หน่วยงานภายในองค์กร แต่ต้องสร้างความสัมพันธ์เชื่อมต่อกับองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ผู้จัดหาวัตถุดิบหรือซัพพลายเออร์ บริษัทผู้ผลิต บริษัทผู้จำหน่าย รวมถึงลูกค้าของบริษัท แต่ละหน่วยงานมีความเกี่ยวเนื่องกันเหมือนห่วงโซ่ หรือเครือข่ายที่ต้องประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง


  ดังนั้น หากมีการพัฒนาหรือปรับปรุงร่วมกันทั้งซัพพลายเชน จะสามารถกำจัดปัญหาพร้อมยกระดับคุณภาพเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าและบริการทั้งซัพพลายเชนอีกด้วย ซึ่งทำให้ชนะคู่แข่งได้ง่ายกว่าการอาศัยศักยภาพของตนเองเพียงอย่างเดียว


    หัวใจหลักของการเพิ่มประสิทธิภาพให้ซัพพลายเชน คือ การทำงานแบบ Cross Functional ต้องอาศัยการวางแผนร่วมกันจากหลายฝ่าย จัดการกระบวนการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีมาตรฐานเดียวกัน ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อขจัดปัญหาที่เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเริ่มจากการมีเป้าหมายที่กำหนดขึ้นอันเดียวกัน แล้วสร้างวิธีการทำงานที่สอดคล้องกันทั้งซัพพลายเชน ซึ่งแตกต่างจากการบริหารการตลาด หรือการจัดการโลจิสติกส์ ที่มีเจ้าของหรือหัวหน้าแผนกนั้นๆ เป็นผู้ตัดสินใจเด็ดขาด มีการแยกผู้รับผิดชอบแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน 


    ซัพพลายเชนเปรียบเสมือนกีฬาวิ่งผลัด กีฬาที่ต้องเล่นเป็นทีม 4 คน และแต่ละคนต้องรับไม้จากคนในทีมแล้ววิ่ง เพื่อส่งไม้ต่อให้กันไปจนถึงคนสุดท้ายเพื่อเข้าเส้นชัย การทำธุรกิจก็ประกอบไปด้วยคนหลายฝ่ายมาทำงานด้วยกัน แต่ละฝ่ายต้องทำงานในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุดแล้วส่งต่อไปให้ฝ่ายอื่น ซึ่งปลายทางของการส่งต่อนี้ คือ ลูกค้านั่นเอง ทุกๆ ส่วนของซัพพลายเชนจึงมีความสำคัญเท่ากันหมด หากทุกส่วนร่วมมือกันทำให้ดีก็จะชนะกันทั้งทีม แต่หากเริ่มต้นฝ่ายการผลิตดี แต่การกระจายสินค้าไม่ดีก็ไม่อาจชนะได้


    นอกเหนือจากการวางแผนแล้ว การประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นก็สำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลของออร์เดอร์สินค้า จำนวนสต๊อกของวัตถุดิบที่มี หรือระยะเวลาที่ต้องใช้ในการส่งสินค้าเพื่อให้สามารถวางแผนกระจายสินค้าได้ในระยะยาว การแชร์ข้อมูลให้กันทำให้ทุกฝ่ายรู้ถึงปริมาณความต้องการของตลาด และขีดความสามารถในการผลิต ฝ่ายซัพพลายเออร์สามารถจัดเตรียมสินค้าได้ทันต่อความต้องการ ลูกค้าก็ได้รับสินค้ารวดเร็วขึ้น


    เริ่มสนใจกันแล้วใช่ไหมว่า การเพิ่มประสิทธิภาพทั้งซัพพลายเชนจะช่วยพัฒนาคุณภาพให้กับธุรกิจขนาดไหน มาดูกรณีศึกษาตัวอย่างกัน จากบริษัท Eurosia Foods Trading & Agencies เป็นธุรกิจนำเข้าชีสชื่อดังจากประเทศฝรั่งเศสเช่น La Vache Qui Rit หรือ The Laughing Cow และชีส Emborg ชีสเหล่านี้มาจากหลายประเทศส่งขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ และส่งไปตามร้านอาหารหรือโรงแรมระดับ 5 ดาว


    เพราะต้องนำเข้าชีสจากหลายประเทศ จึงสั่งสินค้ามาทีละมากๆ หวังให้ฝ่ายขายขายได้ทะลุเป้า กลับกลายเป็นขายไม่หมด จนต้องนำมาขายลดราคา เพราะสินค้าหมดอายุ แถมยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแช่แข็งเพิ่มโดยไม่จำเป็น เมื่อหันกลับมาวิเคราะห์ทั้งกระบวนการผลิตก็พบว่า ปัญหาที่มีสามารถแก้ไขได้หากปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงาน 

    ส่วนแรกทำการ Forecast Sale กับลูกค้า เริ่มจากเก็บข้อมูลยอดขายของแต่ละเดือนเพื่อวางแผนการสั่งซื้อที่พอดีกับยอดความต้องการที่แท้จริง ดูทิศทางการเติบโตของตลาดทุกเดือน เปลี่ยนการสั่งซื้อแบบเช็กสต๊อกรายเดือน เป็นแบบ Reorder Level Policy


  เมื่อได้ยอดขายที่แน่นอนแล้วก็หันมาทำข้อตกลงกับซัพพลายเออร์ คอนเฟิร์มอายุสินค้าก่อนส่งของเสมอ ทำให้ฝ่ายขายไม่มีของเหลือให้เซล ไม่ต้องลดราคาสินค้า ช่วยลดการสูญเสีย 5 ล้านบาทต่อปี ประหยัดค่าฝากแช่ได้ปีละ 3 แสนบาท เงินทุนก็ไม่จมไปกับสินค้าที่เกินสต๊อก ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนปีละ 12 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำเงินไปหมุนเวียนกับส่วนอื่นได้อีกจำนวนมาก


    ไม่น่าเชื่อว่าแค่การปรับเปลี่ยนและประสานงานกันเพียงเล็กน้อย ก็สามารถลดปัญหาลดต้นทุน และเพิ่มกำไรได้มากขึ้น ทั้งยังสร้างกระบวนการทำงานให้เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนบริษัท Eurosia Foods Trading & Agencies ได้รับการยอมรับจากซัพพลายเออร์ในต่างประเทศ มีความน่าเชื่อถือสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น



     เมื่อพบปัญหาในธุรกิจ เจ้าของธุรกิจมักเริ่มต้นปรับที่การทำงานภายในบริษัทตนเอง แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่นั่นยังไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุด เพราะการทำธุรกิจประกอบด้วยคู่ค้าหลายฝ่าย ในซัพพลายเชน หากต่างฝ่ายต่างตั้งเป้าแต่จะลดต้นทุนของตนเองปัญหาก็จะถูกส่งผ่านไปสู่อีกฝ่ายหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอีกฝ่ายก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นคู่ค้าของบริษัทเอง


  การยึดเพียงฝ่ายของตนเองเป็นที่ตั้ง จึงไม่ใช่คำตอบของปัญหาที่ถูกต้อง เพราะหากร่วมมือกันทั้งซัพพลายเชน วางแผนร่วมกันว่าทำอย่างไรจึงจะได้ผลประโยชน์สูงสุดกันทั้งหมด ก็จะเกิดผลดีในระยะยาว อย่าลืมว่าประสิทธิภาพเกิดได้ แค่มุมมองเปลี่ยน ซัพพลายเชนต้องดีมีคุณภาพตลอดห่วงโซ่ ไม่ใช่ดีหรือเก่งอยู่คนเดียว

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024