Sharing Economy ติดอาวุธ SMEs สู่ดิจิทัล




    ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีมีผลให้เอสเอ็มอีต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับสภาพตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป วันนี้เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) เป็นแอพพลิเคชันและซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ มีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีในยุคดิจิทัล 


    Sharing Economy หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อเศรษฐกิจแบ่งปัน การบริโภคชนิดร่วมมือกัน หรือการทำธุรกิจจากเพื่อนสู่เพื่อน (Peer to Peer : P2P) เป็นรูปแบบการทำธุรกิจภายใต้แนวคิดใหม่ที่ช่วยให้บุคคลหรือองค์กรสามารถสร้างรายได้จากสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนมีมากเกินความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้ว 


    แล้วนำสิ่งของเหล่านั้นมาแบ่งปันให้ผู้อื่นผ่านแพลตฟอร์มการให้บริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน เพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการ โดยผู้รับบริการจะอาศัยข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นฐานที่ช่วยในการตัดสินใจ ตั้งแต่รถยนต์ ห้องพัก ไปจนถึงเสื้อผ้า ของมือสอง และกระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ ในระดับกว้างขวาง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่


    บริษัท PwC Consulting เปิดเผยถึงผลสำรวจ The Sharing Economy ที่ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,000 รายว่า ปัจจุบันกระแสเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง และมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันมาปรับใช้กับธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Travel) ธุรกิจให้บริการโดยสารทางรถยนต์ รถเช่า และแบ่งปันรถยนต์กันใช้ (Car Sharing) ธุรกิจการเงิน (Finance) ธุรกิจจัดหาบุคคลเข้าทำงาน (Staffing) และธุรกิจบริการเพลงหรือวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง (Music and Video Streaming) จะช่วยผลักดันให้มูลค่าของตลาด Sharing Economy เติบโตถึง 11 ล้านล้านบาท (3.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากปัจจุบันประมาณ 5 แสนล้านบาท


    ตัวอย่างของธุรกิจยอดฮิตแบบ Sharing Economy ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมออนไลน์ทั่วโลก ได้แก่ บริษัท Airbnb ตลาดชุมชนที่ผู้เข้าพักสามารถจองที่พักจากเจ้าของที่พัก โดยเน้นการนำเสนอประสบการณ์ของผู้เข้าพักและเจ้าของที่พัก และเชื่อมโยงคนที่มีที่พักว่างกับคนที่กำลังมองหาที่พักเข้าหากัน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ยกว่า 425,000 รายต่อคืน และมีเครือข่ายการให้บริการใน 190 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในบริษัท Startup ที่เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วที่สุดบริษัทหนึ่งในตลาดนี้


    ในขณะที่ Spotify ผู้ให้บริการเพลงแบบสตรีมมิ่งมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 40 ล้านราย และ Uber ยังถือเป็นบริษัทผู้ให้บริการรถแท็กซี่ในรูปแบบรถลีมูซีนรายใหญ่ของโลก ที่ใช้การเรียกบริการผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน และมีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Sharing Economy และแม้ว่า Uber จะถูกตรวจสอบจากสาธารณชน เกิดการประท้วง คดีความ และข้อโต้แย้งทางกฎหมายต่าง ๆ ในหลาย ๆ ประเทศในช่วงที่ผ่านมา แต่แท็กซี่หรู Uber ก็ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและสามารถขยายกิจการไป 250 ประเทศทั่วโลกได้ในเวลาเพียง 5 ปี และมีมูลค่าบริษัทกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ามาร์เก็ตแคปของสายการบินอเมริกันบางรายเสียอีก 


    ในประเทศไทยเอง Sharing Economy เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในประเทศไทยไม่แพ้ชาติอื่น ๆ เห็นได้จากการที่คนไทยเข้าไปแชร์ที่พักหรือใช้บริการที่พักผ่านแอพฯ มากขึ้น หรือแม้แต่การใช้บริการแท็กซี่ผ่านแอพฯ ก็มีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้เลือกอยู่หลายรายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Grab Taxi, Uber หรือ All Thai Taxi ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในวงการแท็กซี่ไทย


    และไม่เพียงแต่ภาคเอกชนที่มีการตื่นตัว ปัจจุบันการส่งเสริม Tech Startup เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของภาครัฐที่ดำเนินการส่งเสริมผ่านสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ซึ่งการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ทางด้านดิจิทัล (Tech Startup) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านทางผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างกำลังคนทางด้านดิจิทัลจำนวนมาก 

    ปัจจุบัน SIPA ได้ผลักดัน Tech Startup ผ่านโครงการหลากหลายเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เช่น การบ่มเพาะ อบรม และการประกวดผลงานนวัตกรรม การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของนวัตกรรมธุรกิจ และการเร่งพัฒนาศักยภาพสู่ระดับสากล ตลอดจนถึงการสร้างโอกาสทางการตลาด การขยายตลาด และการผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของ Tech Startup


    แนวโน้มของ Sharing Economy จะผลักดันให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ เป็นความท้าทายที่ภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีต้องปรับตัวเพื่อรับกับโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะเห็นธุรกิจไทยเป็นแบบ Sharing Economy แบ่งปันหรือใช้ทรัพยากรร่วมกันเพิ่มมากขึ้น

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024