Brand Story พลังเรื่องเล่าที่อยู่เบื้องหลังความดังของแบรนด์

 



เรื่อง วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

    ในการสร้างแบรนด์ขึ้นมาสักแบรนด์ สิ่งหนึ่งที่ทำให้มีแต้มต่อเหนือกว่าคู่แข่งคือการมี Brand Story ยิ่งสินค้าในหมวดหมู่เดียวกัน หากแบรนด์ไหนมี “เรื่องเล่า” ก็จะได้เปรียบในแง่ของการเป็นที่จดจำ ยกตัวอย่างสาหร่ายทอดกรอบที่มีหลากหลายยี่ห้อในตลาด แต่ถ้าพูดถึงแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” ผู้คนจะนึกถึงที่มาที่ไปว่าเกิดจากต๊อบ อิทธิพัฒน์ เด็กหนุ่มผู้เคยติดเกมออนไลน์ที่พยายามหาสินค้ามาขายเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่กำลังประสบวิกฤติต้มยำกุ้ง เขาประสบความสำเร็จจากสาหร่ายทอดกรอบ และสามารถผลักดันเถ้าแก่น้อยจากแบรนด์ท้องถิ่นไปสู่การเป็นแบรนด์อินเตอร์ กิจการรุ่งเรืองจนสามารถจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เรื่องราวของต๊อบยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Top Secret วัยรุ่นพันล้านอีกด้วย


    เมื่อเร็ว ๆ นี้ อ่านเจอเรื่องราวเกี่ยวกับคุกกี้ยี่ห้อ Collettey’s ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ อเมริกา ทำให้เห็นถึงพลังของ Brand Story เจ้าของแบรนด์เป็นเด็กสาววัย 26 ปีชื่อคอลเล็ต ดิวิตโต อาศัยอยู่ที่บอสตัน เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อคอลเล็ตพยายามหางานทำ เวลาไปสมัครงานที่ไหนก็หิ้วคุกกี้ทำเองไปแจก ทุกคนชอบคุกกี้ แต่ไม่มีใครยอมจ้างเธอโดยให้เหตุผล “ไม่มีงานที่เหมาะกับเธอ” เหตุผลนี้มาจากความเป็นดาวน์ซินโดรมที่ติดตัวคอลเล็ตมาแต่กำเนิด
    การเป็นดาวน์ซินโดรมทำให้โอกาสในการได้งานยากมาก หลังจากที่ผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า คอลเล็ตจึงตัดสินใจจะสร้างธุรกิจขึ้นมาเองโดยทำในสิ่งที่ถนัดนั่นคือ การอบคุกกี้ เป็นคุกกี้ช้อคโกแลตชิปผสมอบเชย สูตรที่เธอคิดขึ้นมาเอง ช่วงแรก ๆ คอลเล็ตอบคุกกี้เองที่บ้าน บรรจุถุง และติดสติกเกอร์ยี่ห้อ Collettey’s ลูกค้ารายแรกที่ยินดีรับคุกกี้ของเธอไปวางขายบนชั้นคือร้าน Golden Goose Market ในเมืองบอสตัน 


 


    ไม่นานหลังจากนั้นก็มีการบอกกันปากต่อปากในหมู่ลูกค้าถึงคุกกี้ของคอลเล็ต สื่อท้องถิ่นเริ่มรายงานข่าวเกี่ยวกับการทำธุรกิจของหญิงดาวน์ซินโดรม ทำให้คุกกี้ขายดีขึ้น ภายใต้ความช่วยเหลือของแม่และครอบครัวก็มีการตั้งบริษัทเป็นเรื่องเป็นราว เหตุการณ์มาพีคสุดเมื่อเว็บเพจข่าว CBS ลงข่าวและคลิปที่คอลเล็ตกำลังอบขนมในครัว ไม่ถึง 10 วันมีคนคลิกชมคลิปเกือบ 10 ล้านวิว คอลเล็ตได้รับอีเมล์จากคนทั่วโลกราว 6.5 หมื่นฉบับที่เขียนมาชื่นชมและให้กำลังใจ และมีจดหมายกว่า 100 ฉบับที่เสนอความช่วยเหลือในการดำเนินธุรกิจคุกกี้ของเธอ ขณะที่ร้านค้าหลายแห่งติดต่อขอรับคุกกี้ไปขาย

 


    คอลเล็ตเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อสื่อต่าง ๆ รุมสัมภาษณ์ ผลพวงที่ตามมาคือมีคนสั่งซื้อคุกกี้มากมาย ไม่เฉพาะในบอสตัน และออร์เดอร์ยังมาจากรัฐต่าง ๆ ทั่วอเมริกา ถึงตอนนี้ คอลเล็ตต้องเพิ่มกำลังการผลิต ภายใต้การช่วยเหลือของร้าน Golden Goose คอลเล็ตย้ายมาผลิตคุกกี้ที่ครัวของร้านซึ่งเป็นครัวเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยมีลูกจ้างของร้านคอยช่วยเหลือทำงานล่วงเวลา ที่ผ่านมามียอดสั่งซื้อเข้ามากว่า 50,000 ออร์เดอร์แล้ว 


    อาศัยกระแสจากสื่อและโลกโซเชียล คอลเล็ตได้สร้างเว็บไซต์ขึ้นมาพร้อมกับทำแคมเปญ GoFundMe ระดมทุนเพื่อให้คอลเล็ตได้ทำตามความฝันของเธอคือการสร้างโรงงานผลิตคุกกี้ สร้างทีมที่เป็นมืออาชีพ และเธอหวังว่าโรงงานของเธอจะเป็นแหล่งจ้างงานผู้พิการ

 



    ใครจะคาดคิดว่าการอบขนมเพียงเพื่อหารายได้พอเลี้ยงตัวจะกลายเป็นธุรกิจใหญ่โต อย่างนี้ต้องยกประโยชน์ให้สื่อ และพลังของเรื่องราว (story telling) ที่ผลักดันให้คุกกี้ Collettey’s กลายเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักทั่วอเมริกาในชั่วข้ามคืน ความได้เปรียบอยู่ที่ Brand Story ก็จริง แต่นั่นหมายถึงตัวสินค้าก็ต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานด้วย จึงจะทำให้ธุรกิจยั่งยืน 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



 

RECCOMMEND: MARKETING

5 เทคนิคสร้าง “กระแสแบบไม่เปลืองงบ” ทำให้ลูกค้าอยากพูดถึงแบรนด์คุณ…แบบปากต่อปาก!

มีสินค้าดี บริการเด่น แต่ไม่มีใครพูดถึง นี่คือสิ่งที่เจ้าของธุรกิจหลายคนเจอ โดยเฉพาะเมื่อไม่อยากทุ่มงบโฆษณา วันนี้จะพาคุณไปรู้จักเทคนิคสร้าง Buzz สำหรับคนทำธุรกิจ ที่งบน้อยแต่กระบวนท่าไม่ธรรมดา    

Earworm Marketing ทำเพลงให้หลอนหูลูกค้า การตลาดที่ SME ไซส์เล็กก็ทำได้     

ไม่ว่าจะเป็น SME ที่เล็กแค่ไหน การทำเพลงให้หลอนหูลูกค้าได้ หรือที่เรียกว่า “Earworm Marketing” นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องเกินกว่ากำลัง ถ้าไม่เชื่อ...ลองมาพิสูจน์ด้วยตัวเองตามเคล็ดลับที่นำมาฝากวันนี้กันได้เลย

เจาะอินไซต์คนไทย ปี 68  เมื่อผู้ซื้อ "กุมมือ กุมเงิน"  แบรนด์ต้องจับใจอย่างไร?

เผยผลสำรวจ พร้อมข้อแนะนำเชิงลึกสำหรับแบรนด์ที่ต้องการ "จับจริต" และ "กู้ใจ" ผู้บริโภคในภาวะที่ทั่วโลกกำลัง "เซ"