จับลูกค้าไม่พลาด ถ้ารู้จักใช้ Facebook Audience Insights

Text: ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช 







    หนึ่งในเครื่องมือของเฟซบุ๊กที่หลายคนเคยได้ยินชื่อ แต่อาจจะยังไม่เคยได้ใช้ประโยชน์อย่างจริงๆ จังๆ มากนัก นั่นก็คือ Facebook Audience Insights หรือเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้า ซึ่งเจ้าเครื่องมือนี้แหละที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น แถมยังสามารถอ่านใจ (รู้ความสนใจ) และล่วงรู้พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย ดังนั้นมาทำความรู้จักและรู้วิธีใช้เครื่องมือนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพกับธุรกิจมากที่สุดกันดีกว่า


รู้ลึกกลุ่มเป้าหมาย ภายในไม่กี่คลิก


    ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า Facebook Audience Insights หรือ “ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย” เป็นเครื่องมือคนละตัวกับ Insights หรือ “ข้อมูลเชิงลึก” เมนูที่อยู่บนหน้าเพจ  ซึ่งวิธีเข้าไปใช้งานให้คลิกเข้าไปได้ที่ www.facebook.com/ads/audience-insights โดยเบื้องต้นเครื่องมือนี้จะสามารถวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายได้ 2 แบบคือ ทุกคนบนเฟซบุ๊ก หรือเฉพาะผู้ที่เชื่อมอยู่กับเพจของคุณ ซึ่งในที่นี้เราจะหากลุ่มเป้าหมาย เพราะฉะนั้นเราจะเลือกเป็นการค้นหาจากทุกคนบนเฟซบุ๊ก (Everyone on Facebook) 


     โดยพื้นฐานแล้ว Audience Insights จะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายได้ 6 ส่วนด้วยกันคือ ประชากรศาสตร์ (Demographics) พวก อายุ เพศ สถานะ การศึกษา ตำแหน่งงาน ฯลฯ การกดถูกใจเพจ (Page Likes) พวกเขาชอบกดเพจอะไรกันบ้าง ทำเลที่ตั้ง (Location) อาศัยอยู่ที่ไหน กิจกรรม (Facebook Activity) ชอบทำอะไรบนเฟซบุ๊ก ครอบครัว (Household) และซื้อ (Purchase) ซึ่งสองหัวข้อหลังจะใช้ได้เฉพาะการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในสหรัฐฯ เท่านั้น และทั้งหมดนี้คือ ข้อมูลที่ Audience Insights สามารถบอกเราได้




รูปที่ 1


    โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำเสนอให้ผู้ประกอบการได้ทราบ ผ่านการกำหนดข้อมูลเข้าไปในส่วนที่เรียกว่า “สร้างกลุ่มเป้าหมาย” ที่อยู่ด้านซ้ายมือ ดังตัวอย่างในรูปที่ 1 ซึ่งได้ทดลองกำหนดทำเลที่ตั้ง เป็นประเทศไทย (พิมพ์คำว่า Thai เข้าไปในช่อง) ข้อมูลด้านขวามือบนสุดที่ระบุกลุ่มเป้าหมายใหม่ จะแสดงจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยที่มีมากถึง 40-45 ล้านบัญชีผู้ใช้เลยทีเดียว


     ถัดลงมาจะเป็นเมนูการดูข้อมูลต่างๆ ซึ่งในตอนเริ่มจะเป็นในส่วนของ “ข้อมูลประชากรศาสตร์” (Demographic) โดยกราฟแท่งด้านล่าง แสดงให้เห็นกลุ่มเป้าหมายแยกตามช่วงอายุ และเพศ ที่พบว่า ผู้ชายกับผู้หญิงใช้เฟซบุ๊กเกือบจะเท่าๆ กัน แต่จำนวนผู้ชายจะมากกว่าเล็กน้อย แนะนำให้คุณผู้อ่านลองเปิดเครื่องมือนี้ แล้วกำหนดแค่ทำเลที่ตั้งเป็นประเทศไทย เพื่อดูข้อมูลภาพกว้างก่อน โดยที่ด้านล่างยังมีส่วนของข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพ ระดับการศึกษา และตำแหน่งงานของผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยอีกด้วย 
 

ส่องให้ลึกถึงความสนใจ


    


รูปที่ 2


    หลังจากได้เห็นข้อมูลประชากรศาสตร์ของกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งประเทศแล้ว คุณยังสามารถดูข้อมูลได้อีกด้วยว่า คนไทยสนใจกดเพจไลค์อะไรกันบ้าง โดยคลิกที่เมนู “การกดถูกใจเพจ” ซึ่งสามารถแสดงหมวดหมู่ที่นิยมสูงสูด และการกดถูกใจเพจต่างๆ โดยข้อมูลนี้จะช่วยให้นักการตลาดทราบว่า หากต้องการนำเสนอโฆษณาสินค้า หรือบริการ ควรจะกำหนดให้โฆษณาไปปรากฏในกลุ่มเป้าหมายที่กดเพจถูกใจใดบ้าง โดยเฉพาะเมื่อคุณต้องการส่องดูเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้า หรือบริการของคุณ ตัวอย่างในรูปที่ 2 ได้ทดลองใส่ข้อมูล “ความสนใจ” โดยพิมพ์คำว่า “คัพเค้ก” (สมมุติว่าเป็นธุรกิจของคุณ) และเลือกกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็น “ผู้หญิง” (คลิกปุ่มใต้ส่วนของเพศ สังเกตกลุ่มเป้าหมายใหม่จะเหลือแค่ 1-1.5 ล้านคน)


     จากนั้นดูข้อมูลในส่วน “การกดถูกใจเพจ” จะเห็นว่า เพจที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิง และสนใจเรื่องเกี่ยวกับคัพเค้ก มีเพจอะไรบ้าง? ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้สังเกตเห็นด้วยว่า กลุ่มเป้าหมายนอกจากสนใจเพจของร้านค้าที่จำหน่ายคัพเค้กแล้ว ยังสนใจเรียนทำคัพเค้ก ตลอดจนเครื่องมือในการทำคัพเค้กด้วย ทำให้ผู้ประกอบการเห็นภาพความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น สามารถต่อยอดไอเดียในการทำธุรกิจ หรือมูลค่าเพิ่มต่างๆ ได้อีกด้วย นอกจากการที่ได้รู้ว่า ควรเลือกให้โฆษณาไปปรากฏยังกลุ่มเป้าหมายที่กดถูกใจเพจใดบ้าง เพราะนั่นหมายความว่า กลุ่มเป้าหมายที่สนใจเพจคัพเค้กเหล่านี้จะได้มีโอกาสเห็นโฆษณาธุรกิจคัพเค้กของคุณบนนิวส์ฟีดของพวกเขา

 
     เห็นไหมว่า แค่ป้อนข้อมูลเพียง 2-3 อย่างเข้าไปใน Facebook Audience Insights เราก็ได้คำตอบที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว แนะนำให้คุณผู้อ่านลองระบุความสนใจเพิ่มเติม เช่น บราวนี เรดเวลเวท ฯลฯ ตลอดจนทดลองคลิกเลือกตามหมวดหมู่ต่างๆ ที่เฟซบุ๊กมีไว้ให้ด้วย สังเกตการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลประชากร และการกดถูกใจเพจด้วยว่า มีจำนวนกลุ่มเป้าหมายมากพอที่จะทำโฆษณา และพวกเขาสนใจเพจอะไรบ้าง บันทึกไว้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์คู่แข่ง และทำโฆษณาครับ


กลุ่มเป้าหมายชอบทำอะไรบนเฟซบุ๊ก




รูปที่ 3     


    ถึงตรงนี้ ท่านใดที่ได้ลองเปิดใช้ Facebook Audience Insights และทำตามที่แนะนำนี้ คงจะตื่นเต้นกับข้อมูลที่ระบบนำเสนอให้ทราบแล้ว แต่นอกจากรู้ว่า กลุ่มเป้าหมายมีจำนวนเท่าใด เพศ และช่วงอายุต่างๆ (คุณสามารถกำหนดช่วงอายุของกลุ่มเป้าหมายที่สนใจได้ด้วย) ตลอดจนความสนใจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ โดยเฉพาะ “การกดถูกใจเพจ” ข้อมูลที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งก็คือ “กิจกรรม” ต่างๆ ที่กลุ่มเป้าหมายดำเนินการบนเฟซบุ๊ก ซึ่งเมื่อเข้าไปดูกิจกรรมจากตัวอย่างกลุ่มเป้าหมายที่สนใจคัพเค้ก (รูปที่ 3) ให้สังเกต “ความถี่ของกิจกรรม” ทีมีกราฟแท่งของกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ เพจที่ถูกใจ (ชอบไลค์เพจ) ความคิดเห็น (ชอบคอมเมนต์) โพสต์ที่ถูกใจ (ไลค์โพสต์) โพสต์แชร์ (แชร์โพสต์) โปรโมชันที่แลกรับ (Offers) และ โฆษณาที่ถูกคลิก (ชอบคลิกโฆษณา) โดยแต่ละแท่งของกราฟ จะแสดงให้เห็นว่า กลุ่มเป้าหมายที่เราเลือกมีกิจกรรมแบบไหน มากน้อยเท่าใด ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา


     เมื่อสังเกตให้ลึกลงไปในกราฟแต่ละแท่ง จะเห็นว่า มันมีกราฟสีเทาซ้อนอยู่ด้านล่าง ซึ่งสามารถอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า กราฟแท่งสีเทาจางๆ ที่เห็นคือ ค่ากลาง (มัธยฐาน) ของผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งหมด ในขณะที่กราฟสีน้ำเงินเข้มจะเป็นค่ากลางของกลุ่มเป้าหมายที่เราเลือก วิธีดูก็คือ กลุ่มเป้าหมาย มีค่ากลางของกิจกรรมสูงกว่าค่ากลางของผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งหมดหรือไม่ ยิ่งสูงกว่ามากเท่าไรยิ่งดี เช่น จากกลุ่มตัวอย่างที่เลือกจะเห็นได้ว่า พวกเขามีความชอบ (ค่ากลาง) ในการกดถูกใจเพจมากกว่าถึง 5 เท่า (ค่ากลางกลุ่มเป้าหมายที่เลือกไว้เป็น 50 ส่วนผู้คนบนเฟซบุ๊กคือ 9) ในขณะที่ชอบแสดงความคิดเห็นมากกว่าผู้ใช้ทั่วไป 6 เท่า เป็นต้น ในที่นี้นักการตลาดจะมองว่า เป็นกลุ่มที่มีโอกาสคลิกดูโฆษณาสูง ส่วนด้านล่างจะเป็นพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์ในการดูเฟซบุ๊ก ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายที่เราเลือก ชอบดูข้อมูลทั้งบนเดสก์ท็อป และโมไบล์เป็น 2 เท่าของผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งหมด เป็นต้น
 

     ว่ากันว่า “การทำตลาดโดยปราศจากข้อมูล ไม่ต่างกับการปิดตาขับรถ” เพราะฉะนั้นการเลือกกลุ่มเป้าหมาย และการทำโฆษณาบนเฟซบุ๊ก โดยไม่ใช้ Facebook Audience Insights ก็ไม่ต่างกันนัก 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2