คนกรุงตัดงบแต่งสวยห่วงค่าครองชีพหนี้ครัวเรือน

 

 
 
TEXT ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 


 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในการเลือกซื้อเครื่องสำอาง ปี 2560 มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือน ที่ทำให้การวางแผนงบประมาณใช้จ่ายเครื่องสำอางในปีนี้มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย (รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท) 

 
 
ทั้งนี้ เม็ดเงินส่วนใหญ่ที่คนกรุงฯ ใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องสำอางปี 2560 จะตกไปอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับแต่งหน้ามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 รองลงมาคือ น้ำหอม (ร้อยละ 25) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว (ร้อยละ 12)  ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือสกินแคร์ (ร้อยละ 11)  ผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลช่องปาก (ร้อยละ 10) และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม (ร้อยละ 10) ตามลำดับ

 
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนกรุงฯ กลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย (รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท) จะลดงบประมาณในการเลือกซื้อสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางลง แต่ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไป (รายได้ต่อเดือนมากกว่า 20,000 บาท ) กลับพบว่า มีแนวโน้มใช้จ่ายเลือกซื้อเครื่องสำอางใกล้เคียงกับปีก่อน และจะใช้งบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเลือกซื้อเครื่องสำอางมากที่สุดคือ กลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,000-40,000 บาท รวมถึงกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 35-39 ปี โดยความต้องการดูแลภาพลักษณ์ของตนเองเพื่อสร้างบุคลิกภาพที่ดีอยู่เสมอ ถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อมากที่สุด 


 
ทั้งนี้ ดิสเคาน์สโตร์ ... ยังเป็นแหล่งหรือช่องทางที่ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ นิยมเลือกซื้อเครื่องสำอางมากที่สุด รองลงมาคือ ร้านค้าปลีกเฉพาะกลุ่มความงาม (Beauty Specialty Stores) และซูเปอร์มาร์เก็ต ตามลำดับ เป็นที่สังเกตว่า ดิสเคาน์สโตร์ค่อนข้างตอบโจทย์คนกรุงฯ ในเรื่องของช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง โดยเฉพาะในหมวดผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล Personal Care อาทิ สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ซึ่งสินค้าที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องสำอางของผู้ประกอบการ Global Brand รายใหญ่ที่มีฐานการผลิตในไทย  มีตราสินค้าเป็นที่รู้จักในระดับสากล
 


 
หากวิเคราะห์ถึงความเคลื่อนไหวของช่องทางจำหน่ายเครื่องสำอาง จะพบว่า ร้านค้าปลีกเฉพาะกลุ่มความงามมีการเติบโตและหันมารุกตลาดเครื่องสำอางมากขึ้น ซึ่งจุดเด่นของร้านค้าปลีกเฉพาะกลุ่มความงามนั้น จะเน้นเครื่องสำอางที่มีความแปลกใหม่ หลากหลาย และอยู่ในกระแสความนิยม ทั้งกลุ่มสินค้าของผู้ประกอบการในประเทศ (ทั้ง Global Brand และ Local Brand) สินค้านำเข้าและสินค้าของกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ในตลาดอย่างกลุ่ม SMEs ที่ในระยะหลังออกมาทำตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญก็คือกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน 

 
 
ในปีนี้คาดว่า จะมีร้านค้าปลีกความงามขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 สาขาทั่วประเทศ  และในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้ว่าช่องทางเลือกซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าปลีกความงาม จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงดิสเคาน์สโตร์ จากกลยุทธ์การตลาดเชิงรุก การเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่และการกระจายสาขาออกไปสู่หัวเมืองสำคัญในแต่ละภูมิภาค

 
 
การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ... จะสร้างความอยู่รอดของผู้ประกอบการได้ในระยะต่อไป แม้ว่าในปีนี้ธุรกิจเครื่องสำอาง อาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคและการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาด แต่การมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มยอดขายเหนือคู่แข่งได้ เช่น ให้คุณค่าแก่ผู้บริโภคมากที่สุด ทั้งในแง่ของคุณภาพสินค้าที่ตอบโจทย์ด้านความงามหรือการดูแลตัวเอง ใช้แล้วเห็นผลจริงตามโฆษณา ภายใต้ระดับราคาเหมาะสม หรือทำให้ลูกค้าเห็นว่าหากเลือกสินค้าแล้วจะรู้สึกถึงความคุ้มค่าคุ้มราคา 


 
โดยจากผลสำรวจระบุว่า หากใช้กลยุทธ์ด้านราคา จะทำให้คนกรุงฯ หันมาตัดสินใจซื้อสินค้ามากที่สุด ร้อยละ 63 รองลงมาคือ ใช้ใบเสร็จแลกรับของรางวัล ร้อยละ 39 และการรีวิวสินค้าจากผู้เชี่ยวชาญหรือผลลัพธ์จากผู้ใช้จริง ร้อยละ 27
 
 
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสร้างความประทับใจหรือประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งผลสำรวจพบว่า คนกรุงฯ ร้อยละ 63 สนใจสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติหรือออร์แกนิคมากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่คำนึงถึงความปลอดภัยและปราศจากสารเคมีที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายมาเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบของ DIY หรือ Special and Unique (ร้อยละ 46) ที่ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมออกแบบเครื่องสำอางในแบบเฉพาะได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำตลาดได้ดีสำหรับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป (Mass Market) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มแต่งหน้า (Make-Up or Color Cosmetics)  
 
 
รวมถึงการสรรหานวัตกรรมหรือวัตถุดิบที่มีความแปลกใหม่/ หายากหรือไม่เคยมีมาก่อนในตลาดเข้ามาเป็นส่วนประกอบ (ร้อยละ 40)  เพื่อสร้างคุณค่าหรือมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งกลยุทธ์นี้เหมาะสมกับผู้บริโภคในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยเฉพาะในหมวดผลิตภัณฑ์กลุ่มบำรุงผิวและทำความสะอาดผิว
 
 
โดยสรุป แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภค แต่เครื่องสำอางยังคงเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ แต่อาจจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายไปบ้างตามสถานการณ์และเทรนด์การบริโภคที่เกิดขึ้น ดังนั้น เพื่อรักษาความอยู่รอดในธุรกิจ การวางแผนธุรกิจของผู้ประกอบการจะต้องมีความรัดกุมและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตสินค้าให้รวดเร็วทันกระแส การวางแผนสต๊อกและการทำตลาด ตลอดจนการมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันและกำไรหรือมาร์จิ้นให้แก่ธุรกิจมากขึ้น 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024