ทำไมตัวเลขเศรษฐกิจดี แต่คนไทยมองเศรษฐกิจย่ำแย่

 
 
 
 
     “ประเด็นที่ได้ยินบ่อยช่วงนี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจดี แต่ทำไมคนถึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี สำนักวิจัยหลายแห่งปรับประมาณการขึ้น แต่คนกลับบ่นว่ายอดขายไม่ดี กำไรหดตัว เงินเฟ้อต่ำแต่ทำไมต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคค้าปลีกโตต่ำกว่าภาคอื่น และความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง การที่คนรู้สึกสวนทางกับรายงานเศรษฐกิจนั่นเพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรอบนี้กระจุกตัวในคนบางกลุ่ม การเชื่อมโยงของคนมีรายได้ดีไปสู่คนรายได้ไม่ขยับขึ้นนั้นมีน้อยลง”
 
 
     นี่คือข้อมูลจาก “อมรเทพ จาวะลา” ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่ได้บอกถึงสาเหตุสำคัญของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ที่ขยายตัวขึ้น 3.7% ซึ่งถือว่าออกมาดีเกินคาด แต่ไฉนกลับไม่ทำให้คนไทยรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจริงๆอย่างข้อมูลที่ปรากฏ
 
 
     อมรเทพขยายความถึงเหตุผลต่อไปว่า เศรษฐกิจรอบนี้ฟื้นตัวที่ภาคท่องเที่ยวและส่งออก แต่ไม่ใช่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาขึ้นตามราคาน้ำมัน ผู้ได้ประโยชน์คือคนที่มีรายได้จากภาคเกษตร ทั้งราคาพืชผลดีและผลผลิตมากขึ้นกว่าปีก่อนที่มีภัยแล้ง ยกเว้นกลุ่มชาวนาเพราะราคายังต่ำ 
 
 
     ส่วนคนที่มีรายได้นอกภาคเกษตร รายได้กลับไม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนทำงานภาคการผลิต ก่อสร้าง สอดรับกับการลงทุนที่กลับมาขยายตัวแต่ยังขยายตัวต่ำ จำกัดเพียงบางอุตสาหกรรม และหลายอุตสาหกรรมมีอุปทานส่วนเกิน ด้านภาคบริการเองก็ขยายตัวต่ำเช่นกัน ยกเว้นร้านอาหาร โรงแรม และขนส่งที่ได้ประโยชน์จากท่องเที่ยว 
 
 
     ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงของคนมีรายได้ดีไปสู่คนที่รายได้ไม่ดีนั้นมีน้อยลง แตกต่างจากในอดีตคนได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะใช้จ่ายก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน เช่น คนที่มีรายได้จากภาคเกษตรที่ดีจะจับจ่ายใช้สอยทำให้ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมซึ่งก็คือคนรายได้ระดับกลางในเมืองได้ประโยชน์ มารอบนี้คนไม่ใช้จ่าย 
 
 
     สำนักวิจัยฯสันนิษฐานว่า คนมีรายได้น้อยในภาคเกษตรนำเงินไปใช้หนี้ก่อน และเก็บเงินไว้ใช้ช่วงฉุกเฉินยามเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม หรือราคาพืชผลตกต่ำ เมื่อคนกลุ่มนี้ชะลอการใช้จ่าย ส่งผลให้คนรายได้ระดับกลางในเมืองมีรายได้ทรงตัวหรือลดลง แม้ในกลุ่มคนที่รายได้ไม่เปลี่ยนแปลงแต่ก็เกิดความไม่มั่นใจที่จะใช้จ่าย เกิดการระวังตัวและรัดเข็มขัด พฤติกรรมที่เปลี่ยนนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่หมุนเช่นในอดีต  


    นอกจากการเชื่อมโยงระหว่างคน กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กก็เชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้น้อยลงด้วย ดังเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีรายได้และกำไรที่ขยายตัว ต่างกับกลุ่ม SMEs ที่ยอดขายไม่ดี กำไรหดตัว นั่นเพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีโอกาสเชื่อมโยงกับภาคต่างประเทศได้มากกว่ากลุ่ม SMEs โดยเฉพาะภาคบริการและการส่งออก ขณะที่ SMEs เชื่อมโยงกับคนที่มีรายได้ระดับกลางล่างถึงล่าง ซึ่งรัดเข็มขัดและระวังการใช้จ่าย เงินจึงไม่ได้หมุนเข้าหากลุ่ม SMEs มากนัก นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงในตลาด ทำให้การผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับผู้บริโภคไม่สามารถทำได้มากนัก หรือ SMEs เลือกที่จะลดราคาเพื่อแย่งลูกค้าจากคู่แข่งแทน


    “พฤติกรรมคนสำคัญกับเศรษฐกิจ เมื่อเกิดความไม่เชื่อมั่น คนจะตัดรายจ่ายไม่จำเป็น ออมเงินให้มากขึ้น เพราะไม่แน่ใจกับรายได้ในอนาคต หรือนำไปใช้หนี้ทั้งในและนอกระบบเพื่อลดภาระดอกเบี้ย ก็เป็นที่มาว่าทำไมการบริโภคและการลงทุนในประเทศอ่อนแอ แม้เศรษฐกิจจะขยายตัว หากพิจารณาการประหยัด แม้เป็นเรื่องดีที่ควรส่งเสริมกันในระดับจุลภาค แต่หากทุกคนประหยัดพร้อมกันในระดับมหภาคแล้ว เศรษฐกิจก็เกิดภาวะหยุดชะงัก หรือเงินไม่หมุน ยอดขายลดลง การผลิตก็ชะลอ” 
 

    สำหรับวิธีแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนกล้าใช้จ่ายนั้น น่าจะทำได้ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตยังดูดี แต่ไม่ใช่แค่พูดหรือสร้างภาพ ต้องมีมาตรการให้คนเชื่อมั่น ซึ่งการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน หรือการลดดอกเบี้ยเพื่อให้คนใช้จ่ายและลดต้นทุนทางการเงินนั้นอาจไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ เพราะสิ่งที่นักลงทุนและผู้บริโภคต้องการคือทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต ในการตอบคำถามว่า ยอดขายจะดีไหม การส่งออกจะโตต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งนับว่าเกินการควบคุมบริหารของรัฐบาลหรือใครก็ตามที่ดูแลเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นปัจจัยต่างประเทศที่ควบคุมยาก 


    กระนั้นสิ่งที่ทำได้ คือการใช้กลไกรัฐวิสาหกิจหรือภาครัฐในการเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงการขนาดใหญ่ เพราะหากรัฐยังไม่เดินหน้า เอกชนก็ลังเลที่จะเดินตาม การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจึงเป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้  
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 
 
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024