ANEE KAH เรื่องเล่าจากก้นครัว

Text: กองบรรณาธิการ
Photo : ANEE KAH 





     การเล่าเรื่องราว หรือ Storytelling ถึงจะไม่ใช่กลยุทธ์ใหม่ แต่ถ้านำมาใช้ถูกจังหวะและโอกาส ย่อมสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้เสมอ เช่นเดียวกับเรื่องเล่าที่ถูกถ่ายทอดออกมาของ HOM HOM ผลิตภัณฑ์ยาหอมภายใต้แบรนด์ ANEE KAH โดย 2 ผู้ร่วมก่อตั้ง ณภัทร เพชรวิชิต และธีร์ปกรณ์ ชัยธีระสุเวท ที่นำเสนอเรื่องราวสูตรยาหอมของคุณยาย ที่สอนวิธีทำยาหอมเอาไว้ดมในเวลาปวดหัว ซึ่งเป็นกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่มียาดมไหนในท้องตลาดที่กลิ่นเหมือนยาหอมของคุณยายเลย ได้ถูกสื่อสารออกมาผ่านภาพวีดีโอซึ่งจะบอกเล่าถึงวัตถุดิบและความพิถีพิถันในการทำ ที่มีกลิ่นอายของความเก่าชวนให้ผู้ที่รับชมต่างมีความรู้สึกร่วม ถึงขนาดอยากจะโทรสั่งยาหอมสูตรคุณยายมาลองใช้ดูสักครั้ง


     โดยกลยุทธ์การเล่าเรื่องนี้ ธีร์ปกรณ์เล่าให้ฟังว่า ANEE KAH คือแบรนด์ที่มี Positioning ของตนเองว่าเป็น Cuisine Skincare หรือสกินแคร์โฮมเมดที่มาจากห้องครัว ดังนั้นทั้งวัตถุดิบและ Character ที่ชัดเจน จึงได้นำมาสู่การถ่ายทอดเรื่องราวด้วยเรื่องเล่าที่มีมิติและชวนให้ผู้บริโภคต่างมีความรู้สึกร่วมไปกับแบรนด์





     “เทคนิคการเล่าเรื่องของ ANEE KAH เรานำเสนอ 2 มุมมองคือ การการเล่าเรื่องแบรนด์สินค้าและการเล่าเรื่องของผู้ประกอบธุรกิจ โดยตอนแรกผมก็ไม่แน่ใจว่าการเล่าเรื่องเหล่านี้เป็นเทรนด์ทางธุรกิจหรือไม่ แต่เราใช้วิธีเก็บเกี่ยวจากแบรนด์ใหญ่และใช้เป็นแบบอย่าง ซึ่งในมุมแรกที่ผมจะพูดถึงคือการเล่าเรื่องแบรนด์สินค้า ส่วนนี้ทุกคนต่างทำกันเป็นเรื่องพื้นฐานอยู่แล้วที่ต้องนำเสนอว่าของเราดีอย่างไร มีสรรพคุณอย่างไรบ้าง แต่สำหรับ ANEE KAH เราไม่ได้เล่าแค่ผิวเผิน ยกตัวอย่างเช่น ยาหอมสูตรคุณยาย HOM HOM คีย์เวิร์ดคำว่าคุณยายทำให้เรานึกถึงความโบราณ เมื่อนำมาผนวกกับคำว่า Cuisine Skincare ผมถึงถ่ายทอดภาพเคลื่อนไหวออกมาให้เป็นเรื่องเล่าที่มาจากห้องครัว ซึ่งมีกลิ่นอายของความโบราณด้วยโทนสีและอุปกรณ์ที่ใช้ พร้อมกันนั้นก็เล่าเรื่องให้ลูกค้าเห็นว่าเราใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง พิถีพิถันอย่างไร โดยอารมณ์ภาพและเสียงเพลงเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ผมไม่มองข้ามและจับใส่เข้าไปให้วีดีโอนี้มีความสมบูรณ์มากที่สุด”


     นอกจากนั้นอีกหนึ่งมุมที่มีการนำ Story เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน คือการเล่าเรื่องทางฝั่งของผู้ประกอบธุรกิจ โดยธีร์ปกรณ์ได้ให้เหตุผลว่า โดยส่วนตัวของเขาแล้วบางครั้งก็ไม่ได้รู้จักตัวแบรนด์หรือว่าสินค้า หากแต่รู้จักผู้บริหารและคอยติดตามวิธีที่เขาสร้างธุรกิจขึ้นมา ซึ่งเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจในส่วนนั้นทำให้เขารู้สึกประทับใจในตัวผู้บริหารคนดังกล่าว เช่นนั้นเขาจึงเชื่อว่า ถ้าหากผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง2 สามารถสร้างความใกล้ชิดกับลูกค้าโดยการเล่าเรื่องของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น แนวคิด หรือแม้แต่เส้นทางการทำธุรกิจที่ล้มลุกคลุกคลาน แต่ไม่ยอมท้อถอย จะสามารถสร้างความรู้สึกร่วมระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ได้ 


     “ในเว็บไซต์เรามีคอนเทนต์ที่มาของ ANEE KAH นั่นคือความตั้งใจที่จะทำให้ผู้บริโภครู้จักตัวตนของผมกับณภัทรมากขึ้น เราไม่ได้เล่าแค่ว่าเริ่มต้นอย่างไร ทำอะไร แล้วสินค้าของเราดีอย่างไร แต่เราทั้งคู่ใส่เรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เป็นหนี้ก้อนโต การมาพบเจอกัน การเริ่มทำธุรกิจอย่างขายของตลาดนัดด้วยกัน จนกระทั่งได้รับโอกาสและเราไม่ปฏิเสธที่จะคว้าไว้ ซึ่งความอดทนหรือความพยายามที่จะลุกขึ้นมาสู้กับหนี้ต่างๆ ถูกเล่าเรื่องออกมาผ่านคอนเทนต์เหล่านั้นทั้งหมด”





     การเล่าเรื่องในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะทำให้ผู้บริโภครู้จักตัวตนของณภัทรและธีร์ปกรณ์มากขึ้น ยังสามารถเป็นแรงผลักดันทางอ้อมให้แก่ผู้ที่เผชิญปัญหา ไม่รู้สึกย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น ต้องบอกเลยว่าอิทธิพลจากการเล่าเรื่องสามารถสร้างผลกระทบต่อความรู้สึก และสร้างคุณค่าให้แก่แบรนด์ได้ชนิดที่กลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบอื่นก็ยังทำไม่ได้ 


     ด้วยประสบการณ์ตรงของธีร์ปกรณ์ เขาเชื่อว่าการเล่าเรื่องเป็นทั้งมนต์เสน่ห์และกลยุทธ์ ที่จะสามารถดึงดูดผู้บริโภค พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าได้เป็นเท่าตัว

 
   

     “ปัจจุบัน ทุกแบรนด์ต่างมีการสื่อสารกับผู้บริโภคอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่โดยส่วนมากการสื่อสารเรื่องของตนเองนั้น มักจะเน้นที่การเล่าเรื่องเบสิก ว่าแบรนด์ดีอย่างไร สรรพคุณสินค้ามีจุดเด่นอย่างไรบ้าง จนกระทั่งหาความแตกต่างบนท้องตลาดไม่ได้ ทีนี้เมื่อหาความแตกต่างมาสร้างเป็น Story ไม่ได้ ลำพังสรรพคุณจึงไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าได้ ซึ่งผิดกับแนวคิดที่ผมสร้างแบรนด์ANEE KAH ขึ้นมา เนื่องจากเรื่องเล่าของแบรนด์มีความแตกต่าง ด้วยการนำเสนอตั้งแต่ที่มาที่ไป เรื่องราวของผลิตภัณฑ์ที่มีมากกว่าสรรพคุณ เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้เรามีเรื่องเล่าที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ 


     ถ้าหากสังเกตราคาสินค้าของผมเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกันบนอินเตอร์เน็ต จะเห็นเลยว่าราคาของเราไม่ได้ถูกมากนัก แต่ถึงอย่างนั้นกลับมีกลุ่มลูกค้าที่พร้อมและยินดีจะจ่าย ไม่ว่าสินค้าจะราคาแพงมากน้อยเท่าไหร่ ผมมองว่าขึ้นอยู่กับStory ที่แบรนด์ต้องการเล่ามากกว่า ถ้าหากว่าStory มีคุณค่า ผู้บริโภคสามารถสัมผัสได้ถึงความคิด ความใส่ใจและมีอารมณ์ร่วมไปกับสิ่งเหล่านั้น เขาก็จะตัดสินได้เองว่ามูลค่าของสินค้าเหมาะสมกับราคาที่ตั้งไว้หรือไม่ ถ้าหากว่าเหมาะสมเขาก็พร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อได้เป็นเจ้าของทันที”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024