ส่องธุรกิจขนส่งทางถนนปีม้าโอกาสเติบโตสูง

 
 
 
     ภาพรวมของธุรกิจขนส่งทางถนนของไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของธุรกิจในท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ และการกระจายตัวของธุรกิจรายใหญ่จากส่วนกลางไปยังภูมิภาคยังคงมีความคึกคักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและความต้องการสินค้ามีมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การขนส่งทางถนนเติบโตตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ ยังคงมีประเด็นที่ภาคธุรกิจขนส่งยังคงเผชิญความเสี่ยงอยู่คือ ปัญหาจากผลกระทบในการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และปัญหาต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น 
 
     การขยายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคและการค้าชายแดน...โอกาสของธุรกิจขนส่งทางถนนปี 2557 
 
     สำหรับในปี 2557 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจขนส่งทางถนนน่าจะเติบโตตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระจายตัวสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยมีปัจจัยหนุน ได้แก่ การขยายการลงทุนของภาคเอกชนไปยังภูมิภาค
 
     ในปี 2557 นี้ มองว่า ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ยังคงจะขยายการลงทุนไปยังภูมิภาค โดยความสำคัญของการเติบโตของความเป็นเมือง (Urbanization) ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนไปยังต่างจังหวัด โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เพื่อรองรับอุปสงค์ของประชากรในภูมิภาค 
 
     นอกจากนี้ การจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ จะทำให้การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากจะมีการลดภาษีนำเข้าลงเหลือร้อยละ 0
 
     ทั้งนี้ เพื่อต้อนรับการเปิดเสรีดังกล่าว ที่ผ่านมาไทยได้มีความร่วมมือในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากเส้นทางอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือ GMS) อาทิ เส้นทาง R3A ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North South Economic Corridor :NSEC) ที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) กับกรุงเทพมหานครผ่านสปป.ลาว
 
     โดยล่าสุดเมื่อธันวาคม 2556 ที่ผ่านมาได้มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) นอกจากนี้ ภายหลังจากการเปิด AEC มีแนวโน้มที่ภาคเอกชนของไทยจะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ CLMV เพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความได้เปรียบของต้นทุนแรงงาน ทั้งนี้ จะทำให้การขนส่งปัจจัยการผลิตต่างๆ ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น 
 
     ดังนั้น การขนส่งทางถนนจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยสัดส่วนการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากร้อยละ 5.2 ของการขนส่งระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด ในปี 2550 เป็นร้อยละ 11.1 ในปี 2555  จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งทางถนน ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีผู้ประกอบการขนส่งไทยรายใหญ่หลายรายเริ่มเข้าไปลงทุนดำเนินธุรกิจขนส่งในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมาร์ 
 
       นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจขนส่งผ่านทางเส้นทาง R3A ไปยังจีน ทั้งนี้ AEC ไม่เพียงแต่ส่งผลบวกแก่การขนส่งระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้จังหวัดที่มีเส้นทางการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนกับกรุงเทพมหานครพาดผ่านได้รับอานิสงส์จากกิจกรรมการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตและสินค้าต่างๆ ตามไปด้วย
 
     อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการขยายตัวของธุรกิจขนส่งทางถนน ยังคงมีความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญอยู่ 
 
ธุรกิจขนส่งทางถนนปี 2557... ยังคงเผชิญความท้าทาย 
 
       สำหรับ ปัจจัยท้าทายของธุรกิจขนส่งในปี 2557 นี้ ยังคงต้องจับตามองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจมีความยืดเยื้อ จนอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศโดยรวม และทำให้การบริโภคเกิดการชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมต่อธุรกิจขนส่ง อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ภาคการขนส่งและกระจายสินค้ามีการปรับตัวในการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ซึ่งน่าจะรับมือกับความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบคมนาคมขนส่งในบางพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังคงมีปัญหาธุรกิจเฉพาะของธุรกิจขนส่งทางถนน อาทิต้นทุนการประกอบการธุรกิจทางถนนมีแนวโน้มสูงขึ้น
 
     ในปี 2557 นี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งไทยต้องเผชิญยังคงเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมายาวนาน คือปัญหาต้นทุนในการประกอบกิจการที่สูงจากค่าแรงและราคาพลังงาน โดยแม้ว่าในปี 2557 จะไม่ได้รับผล
 
      กระทบจากการที่ต้องปรับตัวรับค่าแรง 300 บาทอย่างเช่นปีที่ผ่านมา แต่ยังคงต้องประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคโลจิสติกส์ ทั้งในระดับวางแผนและระดับปฏิบัติการ โดยเฉพาะในขั้นตอนที่ต้องพึ่งพาแรงงานคน อาทิ การขับรถส่งสินค้า เป็นต้น ซึ่งภาวะดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงดูดกำลังแรงงาน  
 
     นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามแนวทางการดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อแนวโน้มของราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยได้มีการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG 0.5 บาท/กิโลกรัม/เดือน มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะมีการขยับราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ในอนาคตอันใกล้ จากปัจจุบันที่มีการตรึงราคาไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และ 10.50 บาท/กิโลกรัม 
 
     โดยสรุป ธุรกิจขนส่งทางถนนของไทยยังคงมีโอกาสอีกมาก โดยได้รับอานิสงส์ทั้งจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบสนองความเติบโตของความเป็นเมืองในต่างจังหวัดและความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนเพื่อรองรับการเปิด AEC โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดหัวเมืองหลัก และจังหวัดการค้าชายแดน ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าที่สูง จึงเป็นโอกาสของ ธุรกิจคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า
 
     เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการลดต้นทุนในการจัดเก็บสินค้า และการขนส่ง นอกจากนี้ ธุรกิจรถห้องเย็น เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าประเภทอาหาร เช่น พืชผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ฯลฯ ไปยังห้างสรรพสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวไปยังต่างจังหวัด และเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศเช่น สปป.ลาว และมณฑลยูนนานของจีนตามเส้นทาง R3A ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจะยังสามารถเติบโตได้อีกมาก
 
     ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อป้องกันการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ประกอบการอาเซียนและผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศในตลาดที่มีโอกาสจากการเปิด AEC 
 
     ท้ายที่สุด เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดกับประเทศอาเซียนถึง 4 ประเทศ และมีทางออกสู่ทะเลทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จึงเป็นจุดแข็งสำคัญที่ไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางถนนของภูมิภาคอาเซียนได้ ทั้งนี้ ต่างชาติหวังที่จะใช้ไทยเป็นฐานในการขนส่งทางถนนเชื่อมโยงกับการขนส่งทางทะเลเพื่อส่งสินค้าออกสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะผู้ประกอบการมาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ที่อาจจะเข้ามาลงทุนแข่งขันในไทยภายหลังการเปิด AEC 
 
     ดังนั้น ภาครัฐควรให้การสนับสนุนการขนส่งทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยการจัดระเบียบโครงสร้างรถบรรทุกในประเทศให้เกิดความเข้มแข็ง และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายขนส่งให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศแต่ยังคงเอื้อต่อผู้ประกอบการไทย เพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขันให้บริการขนส่งทางถนนภายในประเทศเอาไว้ อาทิ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากรถของประเทศภาคีอื่นๆ ที่เข้ามาวิ่งในเขตประเทศไทย
 
      เช่นเดียวกับ สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ไทยเป็นเพียงเส้นทางผ่านในการขนส่งสินค้าและถูกใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมของบริษัทต่างชาติเท่านั้น
 
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน