BASIC TEEORY จิวเวลรีหรูจากกระดาษ






 
     สร้างสรรค์ความแปลกใหม่ให้กับวงการจิวเวลรีไทยมาตลอดระยะเวลา 4 ปี เมื่อแบรนด์ BASIC TEEORY นำเศษกระดาษมาทำเป็นเครื่องประดับ สร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุที่คนมองข้าม สะท้อนความคิดที่ว่าคุณค่าของเครื่องประดับนั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่การทำมาจากวัสดุที่ต้องมีราคาสูงอย่างเดียวเท่านั้น
 

     จากการเปิดเผยของ วรชัย ศิริวิภานันท์ ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์แบรนด์ BASIC TEEORY บอกว่า เริ่มทำแบรนด์มาตั้งแต่ปี 2557 ด้วยมีประสบการณ์การทำงานเกือบ 20 ปีทางด้านการออกแบบกับดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส เกิดการเรียนรู้ในการนำเศษวัสดุที่หลากหลายมาทำเป็นเครื่องประดับ จนเกิดความชอบและอยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง
 

     “เราอยากทำแบรนด์จิวเวลรีที่มีความแตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป เริ่มจากการทดลองกับวัสดุหลายๆ อย่างจนมาถึงกระดาษ เราคิดว่ามันมีความน่าสนใจบางอย่าง มีทั้งจุดด้อยและจุดแข็ง ก็เลยเริ่มจากตรงนั้น อย่างจุดด้อยของกระดาษนั้นมีเยอะแยะมากมาย เช่น เปียกน้ำไม่ได้ ไม่ทนทาน ทำความสะอาดไม่ได้ ส่วนจุดเด่นคือน้ำหนักเบา ราคาถูก หาได้ง่าย เราพยายามมองจุดด้อยของมันว่าถ้าเราสามารถเปลี่ยน characteristic ของมันได้ นั่นแปลว่าเราสามารถเอาจุดอ่อนของมันมาเป็นจุดขายและจุดแข็งได้ ดังนั้นทิศทางการทำงานก็คือการพัฒนาตัววัสดุยังไงก็ได้ให้มัน functional ทนทานและกันน้ำได้”
 



     สำหรับตัวกระดาษที่ใช้นั้น เริ่มแรกทางแบรนด์ได้มีการขอจากออฟฟิศเป็นพวกกระดาษรีไซเคิล หรือ A3 แต่กลับพบกับปัญหาของความไม่แข็งแรงและความไม่สวยงาม จนกระทั่งไปเจอกับเศษกระดาษที่เขาทิ้งจากพวกโรงพิมพ์ต่างๆ จนเป็นที่มาของการเป็นวัสดุหลักของแบรนด์
 

     “การไปเอากระดาษจากโรงพิมพ์นั้นต้องมีการไปเวิร์คที่หน้างานว่าจะให้เขาเจียเท่าไหร่ จะเก็บเท่าไหร่ โดยเราต้องแพลนว่าไปทีหนึ่งต้องเก็บกระดาษให้ได้ประมาณหนึ่ง ไปเอามาล็อตหนึ่งทีเดียวก็ใช้ได้นาน แต่อย่างไรก็ตามเราเลือกชนิดหรือประเภทของกระดาษไม่ได้ ถ้าโรงพิมพ์ตอนนั้นเขามีแบบนั้นเราก็ไม่สามารถไปเลือกได้ เราต้องดูว่ากระดาษล็อตนี้เป็นกระดาษอะไร กี่แกรม เพราะแกรมจะมีผลต่อความหนา จำนวนรอบที่เราม้วนด้วยเหมือนกัน คือเราต้องดูว่าคราวนี้มากี่แกรม คราวที่แล้วกี่แกรม แล้วเราต้องใช้กระดาษกี่ชิ้นในการต่อแล้วก็ม้วน ดังนั้นประเภทของกระดาษที่ดีคือต้องมีแกรมที่ไม่หนามาก แกรมยิ่งอ่อนก็ยิ่งดี แต่แกรมยิ่งอ่อนก็ยิ่งทำงานยาก การทำงานยิ่งใช้เวลาเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นต้องเอากลางๆหรือแกรมที่มีความหนาประมาณหนึ่งที่เราทำงานได้เร็วแล้วก็มีความแข็งแรง”
 

     ส่วนขั้นตอนการผลิตนั้น วรชัย เล่าว่า ใช้วิธีการ outsource ในแง่ของการหาคนมาช่วยทำในเรื่องของตัวกระดาษอย่างคนในหมู่บ้านหรือพวกแม่บ้านที่ต้องการหารายได้พิเศษเพิ่มเติม โดยทางแบรนด์จะมีการสอนแบบ workshop ให้คนมารับอุปกรณ์ได้ที่บ้านทั้งตัวกาว แกน กระดาษแบบฟรีๆ แล้วจ่ายค่าแรงให้
 

     “เราจะสอนเขาว่ามีวิธีการทำยังไง ให้เขาทำตัว bead ตัว body กำหนดไซส์ บอกความต้องการของเราว่ากระดาษเท่านี้ ม้วนกี่รอบ กี่ชิ้น ต่อกันกี่ชิ้น แล้วเราต้องการกี่หมื่น กี่พันเม็ด แต่ว่าเรื่อง clothing หรืออะไรทุกอย่างจะจบที่เราทั้งหมดอย่างเทคนิคกันชื้น เพิ่มความทนทานและความแข็งแรง ทำให้แห้งสนิท ทำสี ทำลาย และการร้อยให้กลายเป็นสร้อย”
 



     ด้วยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัยทำงานที่มีกำลังซื้อสูงอย่างนักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการ อายุประมาณ 40 – 80 ปี ทำให้ทางแบรนด์ต้องการที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงานอายุ 20 กว่าๆถึง 30 ปี โดยใช้การเพิ่มสีสันและลวดลายลงบนเครื่องประดับ อีกทั้งทำต่างหูออกมาวางขายเพื่อเจาะตลาดกลุ่มนี้โดยตรง
 

     “แรกเริ่มไม่สนใจที่จะทำต่างหูเลย ทำแค่สร้อยเพราะเราเริ่มจากสิ่งที่เราอยากทำซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะเราไม่รู้ความต้องการของตลาดเลย เคยคิดว่าตัวสร้อยมันก็เส้นใหญ่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่อะไรอย่างอื่น แต่พอเราเริ่มขายจริง กลายเป็นว่ามีหลายคนที่ชอบในแบรนด์ของเรา ชอบในสตอรี่ของเรา แต่เขาไม่ใส่สร้อย บางคนก็ใส่แค่ต่างหู มันไม่จำเป็นต้องใส่แมชชิ่งกัน เราก็เริ่มเรียนรู้ว่าจะมีแค่สร้อยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ยังไงต่างหูก็เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้สินค้าของแบรนด์เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น”
 

     แม้การตลาดออนไลน์จะมาแรงในยุคนี้ แต่กลับเป็นวิธีที่ไม่เวิร์คสำหรับทางแบรนด์เลยโดยเฉพาะกับลูกค้าใหม่ โดย วรชัย อธิบายว่า เพราะพวกเขานึกภาพไม่ออกว่าสร้อยกระดาษมันเป็นยังไง ดังนั้นช่องทางออนไลน์จะขายได้เฉพาะลูกค้าเก่าที่เคยซื้อไปแล้วเท่านั้น
 

     “ลูกค้าใหม่ทางออนไลน์เราจะไม่โฟกัส เพราะลูกค้าใหม่เขาไม่เข้าใจว่าโปรดักต์นั้นหน้าตาเป็นยังไง สัมผัสแล้วเป็นยังไง ทนหรือเปล่า เขายังถามเราว่าเป็นสร้อยกระดาษแล้วมันยับไหม เขายังไม่เก็ทกับมันเลย ดังนั้นช่องทางนี้เลยเหมาะกับลูกค้าเก่าที่เคยเห็นแล้วว่าสร้อยของเราขนาดไหน น้ำหนักประมาณเท่าไหร่ มีความคงทนเป็นอย่างไร”
 



     มาถึงตรงนี้ เจ้าของแบรนด์บอกว่า แม้ปัจจุบันยังไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเองแต่ก็มีความคิดที่จะทำให้สำเร็จในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้าแทนที่การฝากขายตามโรงแรมหรือร้านในห้างต่างๆ อย่างทุกวันนี้
 

     “เพราะฝากขายยังไงก็ไม่สู้เท่ามาขายเอง มีหน้าร้านของเราเอง เพราะเราอยากให้มันเป็นแกลลอรี่เล็กๆ ไม่อยากให้แค่เป็นช็อป ให้มันมีเรื่องมีราว แล้วก็สามารถที่จะโชว์คาแรคเตอร์ของเราได้จริงๆ ปัญหาจากการฝากขาย คือ คนที่ขายไม่ใช่เรา ดังนั้นเขาจะไม่เล่าเรื่องราว วางมันไว้เฉยๆ คนเดินผ่านไปผ่านมา เขาไม่รู้หรอกว่ามันคือกระดาษ เขาก็จะไม่เห็นคุณค่าหรือเรื่องราวของมัน เขาให้มันขายตัวมันเอง แต่เวลาที่เราออกงานเราก็จะเล่าเรื่องให้ลูกค้าฟัง ลูกค้าก็จะค่อนข้างอิน เขาก็จะเห็นมูลค่าของมัน มันก็จะจบการขายได้ เรื่องของทำเลก็เป็นปัญหาอีกอย่าง ถ้าทำเลมันไม่ใช่มันก็ไม่ใช่ เช่นมันไม่มีประโยชน์ที่จะไปเปิดที่สยาม เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่เด็กที่แฟชั่นขนาดนั้น แต่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่เขาเดินช้อปปิงที่เซ็นทรัลชิดลม เอ็มโพเรียมแค่นั้น หรือเป็นกลุ่มต่างชาติ เราเล็งไว้ว่ามันจะต้องอยู่ในพื้นที่แถวเพลินจิต สุขุมวิท บางลำพู แหล่งที่นักท่องเที่ยวเดิน”วรชัย กล่าวทิ้งท้าย




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024