​มองพัฒนาการงานออกแบบไทย ผ่าน 11 ปี DEmark





 

     เริ่มฤดูกาลขึ้นอีกครั้งหนึ่งกับการเปิดรับสมัครผลงานออกแบบของดีไซน์เนอร์ไทยจากวงการต่างๆ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักออกแบบไทยกับรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี หรือ Design Excellence Award (DEmark) 2018 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 โดยเริ่มต้นเปิดรับสมัครเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากจะจัดขึ้นเป็นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ รวมถึงช่องทางแจ้งเกิดให้กับนักออกแบบหน้าใหม่ของไทยทั้งในตลาดไทยและตลาดโลกแล้ว ถึงวันนี้หนึ่งในฐานะหน่วยงานผู้ส่งเสริมด้านงานออกแบบของไทยมาตลอด ลองมาฟังมุมมองความคิดเห็นถึงพัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลงของวงการออกแบบไทยผ่านรางวัล DEmark กัน
 

     ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงการพัฒนาของวงการออกแบบไทย ณ ปัจจุบันว่า
 

     “สำหรับวงการออกแบบไทยในวันนี้ เรียกว่าเป็นวินาทีทองของนักออกแบบไทยเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนเองต่างก็ให้ความสำคัญยกระดับมูลค่าของสินค้าและบริการของไทย โดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้มากขึ้น เพื่อที่จะสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการไทยเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาเราอาจเน้นไปที่เรื่องของการผลิต โดยงานออกแบบก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตสินค้า แต่ไม่ได้ถูกหยิบยกออกมาให้ชัดเจนและให้ความสำคัญเหมือนเช่นทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันเราต้องดึงตรงนี้ออกมาให้เป็นพระเอกมากขึ้น เพื่อสร้างให้ทั่วโลกเห็นว่าเรามีความแตกต่าง ซึ่งรางวัล DEmark เอง ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ เพราะเรามองเห็นคู่แข่งที่มากขึ้น ทั้งจากจีนเองที่เปิดตัวเป็นมหาอำนาจด้านการผลิต หรือประเทศเพื่อนบ้านเราเองอย่างเวียดนามก็เริ่มที่จะได้เปรียบเชิงการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากประเทศที่เป็นฐานการผลิตอย่างเดียวมาสู่ประเทศที่เป็นทั้งฐานการผลิตและความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆ ได้มากขึ้น จากลูกจ้างที่คอยรับงานตามคำสั่ง เราต้องเปลี่ยนมาเป็นนายจ้างที่สามารถคิดงาน นำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ สู่โลกใบนี้ สู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว”


 

     นอกจากการมุมมองแนวคิด บทบาทที่เปลี่ยนแปลงของหน่วยงานต่างๆ ต่อการให้ความสำคัญกับงานออกแบบแล้ว ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมฯ ยังมองว่าบทบาทของนักออกแบบในทุกวันนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นเช่นกัน
               

     “ในวันนี้นักออกแบบหรือดีไซน์เนอร์มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก นอกจากพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมีหน้าที่กว้างกว่านั้นอีก มีเรื่องของการรับใช้สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งของผู้คนในและต่างประเทศมากขึ้น อุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญและยอมรับในงานดีไซน์มากขึ้น หากเปรียบเทียบกับเมื่อ 10 – 20 ปีก่อน ดีไซน์เนอร์แทบจะไม่มีงานทำเลย ส่วนใหญ่ที่ทำก็เป็นงานโฆษณา งานกราฟฟิกบ้าง แต่ดีไซน์เนอร์ทุกวันนี้เข้ามามีบทบาทในการออกแบบไลฟ์สไตล์ของผู้คน แฟชั่น ฯลฯ หรือด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าการที่เรายกระดับทุกแง่มุมของประเทศด้วยความคิดสร้างสรรค์จะทำให้มูลค่าของประเทศเพิ่มมากขึ้นในทุกด้าน”


 
 
     ในด้านของพัฒนาการ การเติบโตของนักออกแบบไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้านการออกแบบและจัดการประกวดรางวัลออกแบบสินค้าไทย DEmark มาร่วมสิบกว่าปีนั้น ม.ล.คฑาทองได้กล่าวแสดงความคิดเห็นไว้ว่า
               

     “สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดของนักออกแบบไทยในตลอดระยะเวลาที่เราได้ทำการมอบรางวัล DEmark คือ นักออกแบบไทยมีการปรับตัวและมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ผิดกับเมื่อก่อนที่อาจขาดประสบการณ์ ความรู้ที่จะเข้าสู่ตลาดการค้า ไม่ใช่แค่คนสร้างงานอย่างเดียว แต่ขายของเป็นด้วย มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ปัจจุบันมีเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เพิ่มเข้ามามากยิ่งขึ้น อินเตอร์ สื่อออนไลน์ จึงทำให้นักออกแบบได้มีช่องทางการขาย การสร้างแบรนด์ และการสร้างตัวตนได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน”
 

     และจากการได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการไทยมานาน รวมถึงการส่งเสริมสินค้าไทยไปยังตลาดโลก ผู้อำนวยการคนเดิมได้ฝากแง่คิดไว้ให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ของไทยว่า
 

     “เราสังเกตพบว่าสินค้าที่ได้รับรางวัลทั้งในหรือต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าที่ได้รับแรงบันดาลใจหรือมีการนำเรื่องราวทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดต่อกันมาใส่ลงไปด้วย สิ่งนี้ คือ ความแตกต่างระหว่างคนไทยและต่างชาติ หากเราสามารถนำมาประยุกต์และปรับใช้ให้เข้ากับความต้องการวิถีการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันได้ สินค้าเหล่านี้ก็จะเป็นสินค้าที่ดีและได้รับความสนใจจากตลาดโลกได้มาก ในมุมมองของชาวโลกนั้นต่างมองเอเชียและให้การยอมรับในด้านของการเป็นผู้นำสไตล์ที่แปลกใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่เป็นนวัตกรรมทางความคิด ที่มีความเป็นยูนีค ความเฉพาะไม่เหมือนใคร”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2