​สูตรลับทำค้าปลีกยุคดิจิทัล ...Go Online อย่างไรให้ธุรกิจปัง






 
     ชีวิตของผู้คนยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกือบตลอดเวลาที่ชีวิตแทบจะผูกติดอยู่กับสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Social Network เพื่อเชื่อมต่อกับผู้คน การดู TV ผ่าน Streaming Platform แม้แต่การซื้ออาหารที่ไม่จำเป็นต้องออกไปต่อคิวให้ยุ่งยากอีกแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องการช้อปปิ้ง ที่วันนี้ลูกค้าส่วนใหญ่หันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกไทยนั้นมีการเติบโต 3.8-4% ตาม GDP ของประเทศ ขณะที่ E-commerce ไทยมีมูลค่าสูงถึง 2.8 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว





     ทั้งนี้ ข้อมูลจากงานสัมมนา K SME Good to Great ธุรกิจค้าปลีก” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ธนาคารกสิกรไทยตั้งใจทำขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีธุรกิจค้าปลีกสามารถบริหารจัดการธุรกิจแบบ Omni Channel ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยจากการเปิดเผยของ สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบโดยตรง แม้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มดีขึ้น จากแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ทั้งจากการลงทุนภาครัฐ การส่งออก การท่องเที่ยว ทำให้กำลังซื้อเติบโตเรื่อยๆ แต่นั่นก็มาพร้อมกับการแข่งขันที่มากขึ้น ดังนั้นธุรกิจค้าปลีกจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่ Omni Channel เพื่อให้การบริหารจัดการธุรกิจทั้งออนไลน์และออฟไลน์เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


     “วันนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเลือกแพลตฟอร์มทำงานให้เหมาะสม ต้องมีการทำตลาดผ่าน Social Media เพราะผู้บริโภคไม่ได้เชื่อถือในโฆษณาแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แต่จะได้รับอิทธิพลจากโซเชียลช่วยในการตัดสินใจซื้อ ธุรกิจจึงต้องสร้างความน่าเชื่อถือผ่านเว็บไซต์ ให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ธุรกิจค้าปลีกไม่อาจมองข้ามไปได้”
อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ นั่นคือ จากการที่ธนาคารกสิกรได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น K PLUS SHOP สำหรับค้าปลีกรายย่อย ถึงวันนี้จะยังไม่ครบปีแต่มีตัวเลขผู้สมัครใช้งานมากถึง 1.34 ล้านราย อีกทั้งยังมีปริมาณการซื้อขายและจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่นสูงถึง 4 พันล้านบาท เป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่า วันนี้ธุรกิจก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว และออนไลน์คือตลาดที่ใหญ่และมีโอกาสมากมายสำหรับธุรกิจค้าปลีก อยู่ที่ว่าคุณพร้อมหรือยังในการกระโดดเข้ามาสู่ตลาดออนไลน์แห่งนี้
 




จับตาภาพรวมค้าปลีกไทย ท่ามกลางเทรนด์ออนไลน์บูม

 
     เมื่อกระแสของโลกออนไลน์กำลังมาแรง ทำให้ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมได้รับผลกระทบโดยตรง แม้แต่ในต่างประเทศก็มีร้านค้าปลีกจำนวนมากที่ต้องปิดตัวลงเพราะปรับตัวไม่ทัน ในเรื่องนี้ ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ได้พูดถึงการปรับตัวสำหรับธุรกิจค้าปลีก แม้ตอนนี้โลกออนไลน์จะมาแรง แต่ก็ไม่ควรเลิกทำออฟไลน์เพื่อไปออนไลน์อย่างเดียว แต่ควรมีช่องทางออฟไลน์หรือหน้าร้านด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นฐานในการเติบโต  ส่วนหัวใจสำคัญของธุรกิจค้าปลีก คือ การที่ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ดังนั้น เจ้าของธุรกิจต้องสร้างความประทับใจให้ลูกค้าและต้องสร้างประสบการณ์ให้ธุรกิจของคุณยอดเยี่ยมที่สุด อย่าทำให้ลูกค้าผิดหวัง เพราะ Feedback ที่ไม่ดีของลูกค้าบนโลกออนไลน์จะคงอยู่ตลอดไป
“Feedback บนโลกออนไลน์มันจะไม่ไปไหน ถ้าคุณไม่แคร์ลูกค้า ตอบด้วยความสะใจ คุณกำลังทำลายการซื้อซ้ำ โลกเราชอบคนดี เอาใจเขาหน่อย ถ้าคุณหลอกเขาครั้งเดียวคือจบเลย”
               

     ขณะที่ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการตลาดดอทคอม กล่าวแนะนำว่า การเริ่มต้นทำออนไลน์ต้องเริ่มจากการฝึกใช้เครื่องมือ พยายามโฟกัสอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกอาจจะแบ่งเวลาวันละ 2-3 ชั่วโมงในการศึกษา เมื่อเริ่มอยู่ตัวอาจจะจ้างทีมงานมาเจาะลึกออนไลน์โดยเฉพาะ ที่สำคัญการทำตลาดบนโลกออนไลน์ คือ ต้องเน้นเรื่องราวให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย แบ่ง Segment ลูกค้าให้ชัดเจน สื่อสารให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ก็จะทำให้คุณประสบความสำเร็จบนโลกออนไลน์ได้ไม่ยาก



               

     นอกจากนี้ ดร.สรณันท์ จิวะสุรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ยังได้กล่าวเสริมว่า ออนไลน์ไม่ใช่แค่เรื่องของการขายสินค้าอย่างเดียว แต่มันคือการสร้างความแตกต่างด้วยเรื่องราวและคอนเทนต์ที่น่าสนใจ เช่น ร้าน Jones Salad ที่เป็นตัวอย่างของการใช้โลกออนไลน์เป็นช่องทางในการเล่าเรื่องเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าร้านในออฟไลน์ ส่วนเรื่องของความไว้วางใจของลูกค้าบนโลกออนไลน์ในด้านของการจ่ายเงินที่สะดวกมากขึ้น ก็มีส่วนทำให้ออนไลน์บูมเช่นกัน รวมทั้งยังมี Cash on delivery ที่ธุรกิจแบบ B2C จะนิยมเลือกใช้ การให้บริการหลากหลายช่องทางเช่นนี้ ทำให้ลูกค้าลดความกังวล เกิดความสะดวกสบาย จึงสบายใจในการซื้อของออนไลน์มากขึ้น
 

จากออฟไลน์อยาก Go Online พลิกโฉมยังไงให้ปัง! 
               

     แน่นอนว่าเมื่อกระแสของการค้าขายบนโลกออนไลน์ดีขนาดนี้ หลายธุรกิจจึงกำลังปรับตัวอย่างหนักเพื่อเข้าไปเป็นผู้เล่นที่มีศักยภาพบนโลกออนไลน์ แต่ในตอนนี้อาจจะไม่ได้ง่ายอย่างเมื่อก่อน หนึ่งในผู้ที่จะมาตอกย้ำเรื่องนี้ได้ดี คือกมล พูนทรัพย์ และอัฐพงษ์ เอี่ยมไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มั่นคงแก็ดเจ็ท จำกัด ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์หูฟัง ลำโพงไปจนถึง Gadget ต่างๆ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไป ชั่วโมงนี้ออนไลน์มาแรงมาก แต่การทำออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ปัญหาคือโพสต์แล้วขายได้ไหม คนสนใจไหม การเปิดเพจและโพสต์ตอนนี้ จำนวนคนเห็นน้อยมาก อยากให้คนเห็นเยอะก็ต้องจ่ายเงินเยอะ เราคิดว่าเราเก่งเรื่องออนไลน์มาตลอดแต่พอมาตอนนี้ทำเหมือนเดิมไม่ได้แล้วต้องมีการปรับตัว
               

     “แม้การทำออนไลน์จะเป็นเรื่องยาก แต่การทำธุรกิจยุคใหม่จะอยู่แต่ในออฟไลน์ไม่ได้ ต้องเข้าสู่ออนไลน์ด้วย ใครที่ไม่ไปออนไลน์คือการเสียโอกาสเป็นอย่างมาก แต่ไม่ใช่ว่าจะขายอะไรก็ได้ ต้องมองและวิเคราะห์ให้ออกว่ามันเหมาะกับช่วงเวลาไหม ธุรกิจที่ซื้อมาขายไปอาจจะยาก เพราะต้องแข่งกับประเทศจีนที่มาแรง นอกจากนี้เวลาทำธุรกิจอย่าเพิ่งเข้าข้างตัวเอง ลองมองในแง่ลบดูบ้าง ว่าจะรับมือกับปัญหาอย่างไร รวมทั้งต้องสนุกไปกับมัน อย่าทำให้ธุรกิจของคุณดูเครียด ใส่ความสนุกให้ธุรกิจบ้าง”
               


     

     อีกหนึ่งผู้ประกอบการที่เริ่มต้นจากออฟไลน์ มาสู่การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์และทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดคือ วุทธิพัฒน์ วิศาลศักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เฮงเฮง 168 จำกัด ที่เริ่มต้นจากการขายตี่จู้เอี๊ยะหินอ่อน จนตอนนี้มีทั้งศาลพระภูมิหินอ่อน ศาลตายายหินอ่อน ของเสริมมงคลต่างๆ บอกเล่าให้ฟังว่า จากช่วงแรกที่ขายดีมากในช่องทางหน้าร้าน เพราะ Demand ที่มีมากกว่า Supply แต่หลังจากนั้นประมาณ 1-2 ปี ยอดขายเริ่มตกประกอบกับที่เขาเปิดร้านสาขา 2 และใช้เงินลงทุนไปจำนวนมาก จึงต้องมองหาตลาดใหม่ๆ นั่นคือการทำออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากลูกค้าต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้นมา แต่การทำออฟไลน์ก็ยังสำคัญเช่นกัน เพราะด้วยสินค้าที่มีมูลค่าสูง ลูกค้ายังต้องการจับต้องและเห็นสินค้าก่อนซื้อ
               

     นอกจากนี้ เมื่อธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์แล้ว ต้องเตรียมรับมือกับการบริหารจัดการหลังบ้านให้ดี ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้การทำงานของคุณง่ายขึ้น อย่างเฮงเฮง 168 เองที่มีปัญหาในเรื่องของสต็อกสินค้าบวม สั่งสินค้ามาซ้ำ ทำให้จมเงินกับสต็อกสินค้าเพราะว่าสาขาเยอะประกอบกับมีสินค้ามากกว่า 1,000 SKU เขาจึงเปลี่ยนจากการใช้ Excel มาเป็นโปรแกรมจัดการสต็อกสินค้า จึงทำให้มองเห็นภาพรวมมากขึ้น การทำงานต่างๆ ก็ง่ายขึ้น สามารถบริหารจัดการสต็อกและเงินได้ดีขึ้นด้วย
               

     ปิดท้ายที่ Kprint เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เข้าสู่ออนไลน์แล้วมียอดขายเพิ่มขึ้น จิตร์งาม รักษาแก้ว เจ้าของธุรกิจ Kprint ได้เริ่มต้นจากธุรกิจการพิมพ์ มีหน้าร้านที่เพชรบุรี จุดเด่นคือการพิมพ์แบบ On Demand ไม่ต้องมีปริมาณขั้นต่ำในการพิมพ์ ตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่ จุดที่เริ่มเข้าสู่ออนไลน์เพราะเห็นว่ายอดขายหน้าร้านเริ่มนิ่ง ไม่หวือหวา เมื่อเข้าสู่ออนไลน์แล้วยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวเพราะลูกค้าตื่นเต้นกับการสั่งงานพิมพ์จำนวนน้อยได้ หลายคนอยากทำแบรนด์ เริ่มต้นทำธุรกิจ อยากทำฉลากสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องพิมพ์ในจำนวนมาก จึงตอบสนองความต้องการของผู้เริ่มต้นธุรกิจได้ดี


     หลังจากที่ทำตลาดบนออนไลน์ ทำให้ Kprint ได้ลูกค้านอกพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆ โดยสินค้าที่เป็นตัวชูโรงของ Kprint คือสติ้กเกอร์ฉลากสินค้า ทำให้จิตร์งามโฟกัสไปที่สติ้กเกอร์ฉลากสินค้าโดยเฉพาะตัวการเปิดเพจใหม่ โดยเธอบอกว่าเมื่อเราเริ่มโฟกัสให้ชัดเจน การสื่อสารกับลูกค้าก็ง่ายขึ้น แต่ก็มีปัญหาในเรื่องของความช้าด้านรายละเอียดงานและเอกสาร เช่น การรับออเดอร์ ออกบิล สรุปยอด พิมพ์ที่อยู่ลูกค้า เธอจึงลองเปลี่ยนมาใช้โปรแกรมบิลออนไลน์ ที่ข้อมูลทุกอย่างอยู่ในระบบ ทำให้สามารถทำงานง่ายขึ้น ที่สำคัญยังสามารถนำข้อมูลจากโปรแกรมมาทำ KPI วิเคราะห์ข้อมูลในการยิงโฆษณาได้แม่นยำและตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นอีกด้วย   
     

          

     สำหรับโครงการ K SME Good to Great ธุรกิจค้าปลีก นอกเหนือจากการจัดงานสัมมนา “ค้าปลีกยุคใหม่ ปรับอย่างไรให้อยู่รอด” เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการแล้ว ยังมีการต่อยอดด้วยการอบรมเชิงลึก 5 วัน กับผู้เชี่ยวชาญตัวจริง โดยคัดเลือกผู้สมัครเพียง 50 รายเท่านั้นเพื่อเข้าร่วมการอบรม พร้อมทั้งมีการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวในการทำตลาดออนไลน์ สำหรับ 5 ธุรกิจที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งจะได้รับเงินรางวัลรายละ 100,000 บาท เพื่อเป็นเงินสนับสนุนการทำตลาดออนไลน์อีกด้วย


     นอกจากนี้ ภายใต้โครงการดังกล่าวยังสนับสนุนเครื่องมือและแอปพลิเคชันที่จะมาช่วยให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้อย่างคล่องตัวขึ้น อาทิ POSvision, Sellsuki, Zort และ Shippop เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024