​ตรุษจีนปีหมูทอง สำรวจคนกรุงเทพฯ “เน้นประหยัด” ธุรกิจเตรียมปรับแผนรับมือ!






 
     เทศกาลตรุษจีน ในปีนี้ที่ตรงกับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นปีที่ภาพรวมตลาดอาจถูกกดดันจากความกังวลของประชาชนต่อกำลังซื้อ ทำให้กิจกรรมที่ทำในช่วงตรุษจีนจะเน้นที่ความประหยัด อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยพิเศษที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว อาทิ การเลือกตั้ง ที่น่าจะกำหนดขึ้นภายในเดือนมีนาคม 2562 นี้ ซึ่งอาจทำให้มีเม็ดเงินที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งลงสู่ภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยฟื้นความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายของภาคประชาชนและการลงทุนของภาคธุรกิจในระยะถัดไป และปัจจัยสำคัญคือ มาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% สำหรับการใช้จ่ายในช่วงระหว่างวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2562 ถือเป็นมาตรการที่น่าจะช่วยจูงใจให้เกิดเม็ดเงินการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ได้พอสมควร


คนกรุงฯ มองกำลังซื้อค่อนข้างระมัดระวัง...แต่ได้มาตรการพิเศษลดผลกระทบ


     นอกเหนือจากพฤติกรรมของคนจีนรุ่นใหม่ ที่ไม่เคร่งครัดประเพณีดั่งเช่นคนรุ่นก่อน ทำให้ความคึกคักของเทศกาลตรุษจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาจลดลงกว่าอดีต จากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2562 ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบประเด็นที่น่าสนใจคือ





มุมมองต่อกำลังซื้อในปี 2562...เน้นกิจกรรมประหยัด



     ผู้ตอบแบบสอบถามมีมุมมองต่อทิศทางกำลังซื้อที่ค่อนข้างระมัดระวัง โดยส่วนใหญ่กว่าครึ่งมองว่ากำลังซื้อของตนเองไม่แตกต่างจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ร่วมกิจกรรมตรุษจีน เช่น ผู้ที่เซ่นไหว้ มีการจัดเตรียมสำรองค่าใช้จ่ายไว้แล้ว และส่วนใหญ่ก็ปรับลดงบประมาณในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเท่าที่จำเป็น ทำให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านกำลังซื้อไม่มากนัก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สำหรับกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางลงล่าง ซึ่งอ่อนไหวต่อปัจจัยด้านกำลังซื้อ ก็อาจปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนกิจกรรมบางอย่างที่ทำได้ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่จะเน้นการประหยัด ทั้งการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ การแจกเงินแต๊ะเอีย รวมถึงการทำบุญ/ท่องเที่ยว โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
 
  • การเตรียมเครื่องเซ่นไหว้

     ปีนี้ผู้ซื้อส่วนใหญ่เน้นการจัดชุดเครื่องเซ่นไหว้เอง ในสัดส่วนที่สูงกว่าปีก่อน โดยอยู่ที่ร้อยละ 88.0 เทียบกับร้อยละ 80.2 ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถกำหนดงบประมาณเองว่า จะปรับลดเครื่องเซ่นไหว้ อาทิ เนื้อสัตว์ ผลไม้ ขนม กระดาษไหว้เจ้า ในปริมาณและขนาดเท่าใด โดยผู้ประกอบการเครื่องเซ่นไหว้ที่น่าจะได้รับอานิสงส์คือตลาดสดใกล้บ้าน ซึ่งผู้ตอบเลือกเป็นแหล่งซื้อเครื่องเซ่นไหว้อันดับหนึ่งในสัดส่วนที่สูงขึ้น ในขณะที่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งมีจุดเด่นด้านชุดเซ่นไหว้เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่มีเวลา แต่ปีนี้อาจมีความท้าทายด้านปัญหาจราจรที่ติดขัด ซึ่งอาจกระทบต่อการเดินทางของคนกรุงเทพฯ
 
  • การทำบุญ/ท่องเที่ยว เน้นการเดินทางระยะใกล้

     เนื่องจากไม่ใช่วันหยุดราชการ ประกอบกับอาจเพิ่งเดินทางท่องเที่ยวไปเมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนใหญ่จึงเน้นการทำบุญหรือท่องเที่ยวในรูปแบบการเดินทางในระยะใกล้ อาทิ วัดในกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง อาทิ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา เป็นต้น
 
  • การแจกเงินแต๊ะเอีย

     ในปีนี้กลุ่มคนที่เคยให้แต๊ะเอียบางส่วนงดกิจกรรมนี้ เนื่องจากบางส่วนอาจปรับขึ้นเงินเดือนให้กับลูกจ้างในช่วงปีใหม่ไปแล้ว ขณะที่ลูกหลานบางส่วนก็เริ่มทำงานจึงงดส่วนนี้ลง อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มที่ยังคงกิจกรรมให้เงินแต๊ะเอียในปีนี้ เตรียมงบประมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อคนประมาณร้อยละ  2.4 ขณะที่กลุ่มที่ได้รับเงินแต๊ะเอีย ยังคงมีแนวโน้มเก็บออมฝากธนาคารมากที่สุดเช่นเดียวกับปีก่อน ซึ่งทำให้เงินแต๊ะเอียทั้งหมดอาจไม่ได้เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในทันที
 




ปัจจัยเสริมจากมาตรการภาครัฐช่วยหนุนการใช้จ่าย


     แม้ว่ามุมมองด้านกำลังซื้อของประชาชนในกรุงเทพฯ จะไม่ค่อยสดใส แต่มุมมองทางด้านปัจจัยเสริมอื่นๆ กลับมีทิศทางในเชิงบวก โดยเฉพาะมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% สำหรับการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2562 ในวงเงินค่าใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 60 เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นและสินค้ามีราคาถูกลง ขณะที่ ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณร้อยละ 50 คาดหวังว่าปัจจัยทางด้านการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและกล้าใช้จ่ายมากขึ้น สำหรับปัจจัยทางด้านภาระดอกเบี้ยที่อาจมีแนวโน้มปรับขึ้น มีผลน้อย เนื่องจากเป็นภาระหนี้ระยะค่อนข้างยาวจึงไม่เห็นผลชัดเจนในทันที
โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 13,560 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.9 (YoY) โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มทางด้านค่าใช้จ่ายการทำบุญ/ท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องเซ่นไหว้ให้ภาพที่ทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนเงินแต๊ะเอียมีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างเด่นชัดกว่ากิจกรรมอื่นๆ
 




มุมมองต่อภาคธุรกิจ...และการปรับตัวในช่วงตรุษจีนปี 2562


     เทศกาลตรุษจีน ถือเป็นกิจกรรมใหญ่ที่คนไทยเชื้อสายจีนให้ความสำคัญเป็นลำดับหนึ่ง โดยความคึกคักของเทศกาลในแต่ละปีอาจแตกต่างกัน ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมช่วงตรุษจีนปี 2562 ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรต้องเตรียมตัววางแผนโดยพิจารณาประเด็นที่สำคัญต่างๆ ได้แก่
 
  • การวางแผนสต็อกที่ยืดหยุ่น

     จะช่วยบริหารสินค้าที่สัมพันธ์กับความต้องการ จากการที่ตรุษจีนปีนี้ ผู้ตอบบางกลุ่มมีการปรับลดงบประมาณด้านเครื่องเซ่นไหว้ลง และอาจมีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการสินค้า จึงอาจเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการค้าปลีกควรพิจารณาวางแผนร่วมกับ Supplier ในการวางแผนการจัดส่งหรือสต็อกสินค้า ที่มีความยืดหยุ่นพอเหมาะกับความต้องการ โดยอาจวางแผนทยอยส่งสินค้าทีละล็อตเพื่อทดสอบตลาด และพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณจัดส่งได้ทันทีหากความต้องการปรับเพิ่มขึ้น
 
  • การใช้มาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กระตุ้นการใช้จ่าย

     หากพิจารณาในส่วนของธุรกิจเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่มีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายสูงสุด สำหรับการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน อาจไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเต็มที่ เนื่องจากสถานที่ซื้อส่วนใหญ่จะผ่านตลาดสดใกล้บ้าน ซึ่งอาจยังไม่มีระบบชำระเงินผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า หากมองในเชิงบวก มาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจจะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจค้าปลีกต่างๆ อาทิ ธุรกิจประเภท เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอที ของใช้ส่วนตัว ในการเพิ่มยอดขายทั้งจากคนไทยเชื้อสายจีน และประชาชนทั่วไป ในช่วงตรุษจีนไปจนถึงช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนอีกประมาณ 10 วัน ตามระยะเวลาของการใช้สิทธิ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วง (1-15 กุมภาพันธ์) ทั้งนี้การเร่งโฆษณาประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ที่สอดคล้องกับมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของภาครัฐ อย่างเข้มข้นให้เป็นกระแส เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มที่สนใจร่วมกิจกรรมได้รับทราบถึงสิทธิประโยชน์ดังกล่าว อาจเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการค้าปลีกควรนำมาพิจารณาประกอบการวางแผนการตลาดเพื่อสร้างความคึกคักในช่วงนี้
 


 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024