ฉีกทุกกฎ! กลยุทธ์ Foe is Friend ไม่มีศัตรูในโลกธุรกิจ

Text : กองบรรณาธิการ




Main Idea
  • การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่จะไม่มีการแข่งขัน และไม่มีศัตรูที่ถาวร เพราะไม่ว่าธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ ต่างก็พร้อมร่วมมือกันเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตอย่างไม่รู้จบได้!
 
  • รู้จักกลยุทธ์ Foe is Friend มุมคิดการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่จะเปลี่ยนคู่แข่งมาเป็นมิตร เปลี่ยนอุปสรรคธุรกิจให้กลายเป็นโอกาส เพื่อออกจากข้อจำกัดเก่าๆ ไปสู่ถนนแห่งความสำเร็จเส้นทางใหม่ ที่ทุกคนจะวิ่งเข้าเส้นชัยไปพร้อมกัน



หากมองย้อนไปในอดีตจะพบการจับมือร่วมกันระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ ล้วนมีเป้าหมายเพื่อขยายการเติบโตเป็นสำคัญ เป็นลักษณะของการที่บริษัทที่แข็งแกร่งกว่าเข้าครอบงำบริษัทที่อ่อนแอกว่า ทว่าในปัจจุบันเมื่อเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีกำลัง Disrupt ทุกคนบนโลกธุรกิจ ไม่ว่าแบรนด์นั้นจะเป็นแบรนด์เล็กหรือใหญ่ เป้าหมายของการจับมือร่วมกันนี้จะเป็นเรื่องของการอยู่รอด และอยู่เป็นบนโลกธุรกิจ




วันนี้เรามีโอกาสเห็นภาพการจับมือร่วมกันระหว่างธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งบางครั้งมองเผินๆ อาจดูเหมือนเป็นคู่แข่งกัน แต่ก็ยังจับมือร่วมเดินไปด้วยกันได้


“ส่วนตัวผมมองว่ามันเป็นการแชร์ผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่า โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่ยังมีกำลังไม่มากนัก” ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิวอาไรวา จำกัด เจ้าของแบรนด์ Qualy บอกกับเรา เขามองว่าการทำธุรกิจในยุคหลังๆ เป็นเรื่องที่ใครถนัดอะไร ก็จะเอาความถนัดของตัวเองมาสร้างสรรค์ผลงานแล้วนำเสนอตลาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเล็กๆ ที่ยังมีกำลังไม่มากนัก เมื่อต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างมีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ ทั้งที่หลายๆ ค่าใช้จ่ายนั้นสามารถรวมกันได้ นี่จึงเป็นสาเหตุให้แม้ธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันก็สามารถจับมือร่วมกันทำได้


“จริงๆ มันเป็นเรื่องของการหาจุดร่วมระหว่างกันมากว่า คือแต่ละคนมีปัญหาอะไร และมีความถนัดอย่างไรที่เอามาช่วยเหลือกัน หรือทำงานร่วมกันได้ ซึ่งการแชร์ผลประโยชน์กัน มันได้มากกว่าที่จะต้องมาแข่งกันเอง ก็เลยเป็นภาพที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันมากขึ้น อย่างตลาดที่ผมอยู่เป็นโปรดักต์ดีไซน์ ผมเอาไปทำตลาดต่างประเทศ เน้นส่งออกเป็นหลักจนประสบความสำเร็จ เลยคิดอยากเอาแบรนด์อื่นไปกับเราด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผมมีอำนาต่อรองกับตัวแทนที่นั่นได้ ขณะที่สินค้าที่หลากหลายทำให้มีโอกาสขายได้มากขึ้น ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกันหมด จริงอยู่ว่าทุกแบรนด์เป็นโปรดักต์ดีไซน์เหมือนกันหมด แต่สุดท้ายแล้วคนที่ตัดสินใจว่าจะเอาแบบไหนคือลูกค้า”




ทศพลบอกว่า การรวมตัวของเขาจะเป็นลักษณะของการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์เพื่ออำนาจในการต่อรองทางธุรกิจที่มากขึ้น และการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันซึ่งต้องมีใครสักคนขึ้นมาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากสำหรับ SME รายใดรายหนึ่ง เพราะอาจถูกจับตามองเรื่องของความน่าเชื่อถือ การรวมตัวกันของ SME ส่วนใหญ่จึงเป็นการจับมือร่วมกัน 2-3 รายมากกว่า


ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ CEO แห่ง YDM Thailand บอกเราว่า ปัจจุบันธุรกิจเกิดใหม่ได้ง่ายทำให้มีรายเล็กรายย่อยเยอะแยะเต็มไปหมด จึงเกิดการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งการที่รายเล็กจะอยู่รอดได้ก็ต้องจับมือกัน ซึ่งการรวมตัวกันของรายย่อยจะทำให้ SME แข็งแกร่งขึ้น และจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากสำหรับรายใหญ่


“ที่ผมเห็นก็คือ SME ฉลาดที่จะสู้ เขาไม่ได้สู้ตามเกณฑ์ที่แบรนด์ใหญ่ๆ ทำกัน แต่เลือกที่จะจับตลาดเฉพาะ ที่เป็นนิชมาร์เก็ต ทำให้สามารถยึดพื้นที่ที่ตัวเองถนัดได้ บางทีสินค้าประเภทเดียวกันก็จริง แต่จับกลุ่มเป้าหมายคนละตลาด การจะไปล้ำพื้นที่คนอื่น ต้องใช้เวลาค่อนข้างเยอะ เพราะบางทีอาจเป็นกลุ่มพื้นที่ที่ไม่ถนัด ไม่ได้มีฐานข้อมูลชุดเดียวกับคู่แข่ง เพราะฉะนั้นแทนที่จะลุยกันไปเอง สู้เป็นพาร์ตเนอร์กันดีกว่า”




ธนพลบอกว่า หลักสำคัญที่จะทำให้เกิดการร่วมมือกันได้ระหว่างธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน คือต้องมีปัจจัยทางด้านธุรกิจที่เหมือนและต่างกัน เช่น กลุ่มเป้าหมาย สินค้า และบริการ ที่สำคัญคือ ตัวผู้ประกอบการเองต้องมีกรอบความคิดที่เปิดใจรับที่จะมองธุรกิจคู่แข่งด้วยภาพใหม่ๆ เพื่อมองหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน และสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาดร่วมกัน


เลิกเป็นศัตรูแล้วมาจับมือกัน นี่อาจเป็นโอกาสสำคัญที่จะเปลี่ยนโลก SME ให้แข็งแกร่งและเติบโตไปอย่างไม่รู้จบได้!!   

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2