PITCHA แฟชั่นผ้าชนเผ่าสุดฮอต ที่มีสาวสวยเป็นนักออกแบบและคนถักทอคือชาวเขา

Text : Mata CK.
Photo : IG : PITCHA CLOTHIER 





Main Idea
 
  • แบรนด์ PITCHA CLOTHIER หยิบจับเอาผ้าไทยและผ้าชนเผ่ามาเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่สาวๆ ยุคใหม่สวมใส่ได้อย่างไม่ขัดเขิน แถมยังคงความเท่ เก๋ แปลกต่าง ฉีกตัวเองจากแฟชั่นจำเจในท้องตลาด
 
  • เบื้องหลังผลงานคือคนที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านการออกแบบ แถมยังวาดรูปไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่เธอสร้างธุรกิจจากความรักและความเชื่อ โดยมีพี่น้องชนเผ่า เป็นต้นทางผ้าทอสวยๆ และผู้ช่วยตัดเย็บ จนเนรมิตแบรนด์เล็กๆ ให้แจ้งเกิดได้อย่างงดงามในวันนี้


     เสื้อผ้าดีไซน์เก๋ โฉบเฉี่ยวทันสมัย มีสาวสวยร่างเพรียวหุ่นดี เป็นทั้งพรีเซนเตอร์และดีไซเนอร์ นี่คือแบรนด์ PITCHA CLOTHIER  ผลงานของ “พิชชา-พิมพ์พิชชา พลเมืองดี” ผู้หยิบจับเอาเสน่ห์ของผ้าไทยและผ้าชนเผ่า มาสร้างนิยามใหม่สู่แฟชั่นสุดชิคที่สะกดสายตาสาวๆ ยุคนี้
               




       ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะหยิบเอาผ้าไทยและผ้าชนเผ่ามาเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่สาวๆ ยุคใหม่สวมใส่ได้อย่างไม่ขัดเขิน แถมยังคงความเท่ เก๋ แปลกต่าง ฉีกตัวเองจากแฟชั่นจำเจในท้องตลาด และภาพจำของคำว่าผ้าไทยและผ้าชนเผ่าที่ดูจะสวนทางกับคำว่าแฟชั่นนำสมัยอยู่มาก แต่แบรนด์ PITCHA สามารถก้าวข้ามโจทย์ท้าทายเหล่านี้ มาสร้างผลงานที่โดดเด่นและน่าจับตาได้อย่างไม่น่าเชื่อ…แต่ใครจะรู้ว่าดีไซเนอร์เจ้าของผลงาน จะเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาที่ไม่มีความรู้เรื่องการออกแบบ ไม่เคยผ่านการเรียนแฟชั่นดีไซน์ อาศัยเพียงความชอบล้วนๆ ส่วนผ้าสวยๆ ที่ใครเห็นเป็นต้องชมคือผลงานของพี่น้องชาวเขา ผู้เป็นเหมือนครอบครัวเดียวกันกับเธอไปแล้ว   
               

     “เป็นคนที่ชอบแต่งตัว แต่เบื่อกับแฟชั่นซ้ำๆ ในท้องตลาด จึงคิดทำเสื้อผ้าใส่เองโดยออกแบบมาจากความชอบส่วนตัว เริ่มจากทำพวกกางเกงยีนส์ จากนั้นพอเห็นโอกาสจึงมารับตัดกางเกงตามไซส์ลูกค้า เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน  พอดีร้านของเราอยู่ในเชียงใหม่ ช่างตัดเย็บเป็นชาวเขาทั้งนั้นเลย ซึ่งเด็กแต่ละชนเผ่ามีการแต่งกายที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมก็แตกต่าง เขาจะมาเล่าให้ฟังตลอดว่าที่บ้านเขาเป็นอยู่อย่างไร สวมเสื้อผ้าแบบไหน เลยขอผ้าเขามาดู ซึ่งเสื้อผ้าชนเผ่ามีความสนุก สีมันเจ็บ และดีไซน์ออกมาเป็นอะไรที่สนุกมาก จึงได้เริ่มมาทำเสื้อผ้าจากผ้าชนเผ่าและผ้าไทย โดยมาคิดว่าจะออกแบบอย่างไรให้สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ โดยที่มันเก๋ เท่ ไม่เชย และไม่ดูเป็นผู้ใหญ่จนเกินไป” เธอบอกโจทย์ที่กำหนดให้แบรนด์ตั้งแต่วันเริ่มต้น
               




     พิชชา เลือกใช้ผ้าจากหลากหลายชนเผ่า อาทิ ปกาเกอะญอ ลาหู่ อาข่า ม้ง ลีซอ ไทใหญ่ และคะฉิ่น โดยไม่ได้เอาทั้งหมดของความเป็นชนเผ่ามาใช้ แต่เธอเลือกหยิบจับจุดที่สวยและเด่นมาประกอบร่างเป็นงานดีไซน์ในสไตล์พิชชา เช่น กระโปรงอัดพลีทของชาวม้ง เอามารีดให้แบนแล้วทำเป็นเสื้อ เอามาเรียงซ้อนเป็นชั้นๆ ให้เป็นกระโปรงดีไซน์เก๋ๆ ผ้าคลุมแขนชาวอาข่า มาประกอบในเสื้อและกระโปรง เป็นต้น โดยทั้งหมดจะดีไซน์ตามความชอบและจินตนาการหลังการเห็นผ้าผืนนั้นๆ


     “เป็นคนไม่ได้ร่างแบบ วาดรูปไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่ตัดผ้าเอง คิดในหัวแล้วตัดออกมา บางทีครั้งแรกก็ไม่สวยนะ เราก็มาคิดต่อว่าจะต้องเติมอะไรเพิ่ม มันน่าจะต้องมีอะไรอีก อย่างบางตัวเป็นเสื้อตัวสั้น เราก็เพิ่มข้างล่างเป็นกระโปรง ดูเสร็จมันโล่งไปก็ค่อยๆ เติมอย่างอื่น จนมันพอดี และใช่ที่สุด งานของเราจะไม่ใช่เพอร์เฟคตั้งแต่ผืนแรกที่ทำออกมา แต่ต้องค่อยๆ เติม ค่อยๆ ดูว่ามันจะพอดีตรงไหน เป็นงานคราฟท์ไม่ใช่การผลิตอย่างโรงงาน”


     เธอบอกความพิเศษ ก่อนอธิบายต่อว่า วันนี้งานเสื้อผ้าชาวเขามีเยอะมาก ทำอย่างไรให้แบรนด์พิชชาแตกต่าง นั่นคือทุกชุดเธอจะใส่ความเป็นตัวเองลงไปให้มากที่สุด


     “ทุกชุดจะมาจากความชอบของตัวเอง คิดว่าเราใส่แล้วสวย เหมือนทำให้ตัวเองใส่ มันจะได้ออกมาสวยอย่างที่ตัวเองชอบ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็มีสไตล์คล้ายๆ เรา คือชอบความเท่ เก๋ และเยอะ อย่างแขนจะใหญ่ๆ มีกิมมิก ไม่มีชุดเรียบๆ ทุกคนจะรู้กันว่าถ้าแบรนด์พิชชาจะเยอะและใหญ่” เธอบอกความชัดเจนของแบรนด์  
               

     และแม้จะเป็นดีไซเนอร์ที่เอวบางรางน้อย แต่เธอบอกว่า เสื้อผ้าแบรนด์พิชชาทุกแบบจะตัดตามไซส์ของลูกค้า และจะปรับให้เข้ากับความสวยในทุกไซส์ ฉะนั้นไม่ว่าจะหุ่นแบบไหน ก็สามารถมีความเก๋ เท่ และเยอะ ในแบบพิชชาได้
               

     ความพิเศษของงานดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้แบรนด์พิชชาได้รับการตอบรับจากลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเธอมีหน้าร้านอยู่ที่ โครงการ K-park ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่ และแนะนำตัวเองผ่านไอจี PITCHA CLOTHIER (www.instagram.com/pitchaclothier) มีประโยคฮิตอย่าง “ลูกค้าปลื้ม พิชชาก็ชื่นใจ” มาสร้างความคุ้นเคยกับแฟนๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็เพิ่งออกงานแฟร์เป็นครั้งแรก กับ Thailand Industry Expo 2019 โครงการ Thai Designer ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดียิ่ง แน่นอนว่าเมื่อตลาดเกิด น้องๆ ชนเผ่าของเธอก็ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย
               

     “หลังจากมาทำผ้าชนเผ่า เราก็จะให้น้องๆ ที่ร้านไปให้พ่อแม่เขา หาคนในหมู่บ้านเขามาทอผ้าให้เรา เขาก็มีรายได้เพิ่ม เพราะชาวเขาส่วนใหญ่เขาจะไม่ทำงานอย่างอื่น ถึงฤดูทำนา เขาทำนา หมดหน้านาก็จะทอผ้า ทอใส่เองไม่ได้ทอไปขายอะไร ชีวิตวนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่การมีแบรนด์เรา และเราทำตลาดได้มากขึ้นเท่าไร เขาก็จะโตตามเราไปด้วย” เธอบอก
                 

     ความยากของการทำงานกับชนเผ่า คือ ไม่สามารถกำหนดการทำงานของช่างทอได้ เธอบอกตรงๆ ว่าขึ้นกับอารมณ์ เพราะชาวชนเผ่าไม่ได้ดิ้นรน และชอบชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ฉะนั้นการทำงานจึงต้องอาศัยความเข้าใจ จะไปเร่งรัดอะไรมากไม่ได้
               




      “วิธีแก้คือเราต้องมีผ้าที่หลากหลาย อันไหนยังไม่พร้อมก็ปล่อยไปก่อนให้เขาไปทำก่อน เราไปเร่งเขาไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนวิธีอย่างวันนี้ ผ้าอาข่าหมด เอาไว้ก่อน เดี๋ยวไปทำผ้าเผ่าอื่นก่อน แล้วทำความเข้าใจกับลูกค้าว่ารอหน่อย ช่วงหลังเริ่มบริหารได้มากขึ้น ก็จะใช้วิธีไม่รอให้ผ้าชุดนั้นหมด แต่ใกล้ๆ หรือเหลือน้อยก็จะรีบสั่งเพิ่มทันที อย่าง ผ้าต่อครั้งที่ได้มามีประมาณ 10-20 ผืน เราก็เอามาสะต๊อกไว้ สมมติแบบนี้เหลือน้อยกว่า 5 ผืน เราจะไม่รอให้หมดก่อนแล้วค่อยสั่ง แต่จะสั่งเพิ่มทันที” เธอบอกวิธีแก้ปัญหา
               

      ด้วยความยากของการทำงานและย้ำแล้วว่านี่คืองานคราฟท์ ทำให้แบรนด์พิชชาตั้งราคาขายในราคาตั้งแต่หลักพันบาท สูงสุดที่ประมาณ 9 พันบาท โดยขึ้นกับราคาผ้า และความยากของงานที่ดีไซน์ออกมา โดยลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อเพราะชอบความเป็นเอกลักษณ์ ไม่มีขายตามท้องตลาด และเป็นการตัดตามไซส์ลูกค้า  


     แบรนด์พิชชาเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่มีคนออกแบบ 1 คน คือตัวพิชชา  และช่างอีก  9 คน ที่เป็นเด็กชนเผ่า เธอยอมรับว่าการทำงานกับคนมีเหนื่อยบ้าง และธุรกิจก็ยังมีข้อจำกัดในการที่จะโตไปกว่านี้ ด้วยกำลังเล็กๆ ที่มีอยู่ แต่ถ้าถามว่าอะไรคือคุณค่าที่สุดระหว่างทาง เธอบอกว่า ก็คือความสุขที่ได้จากการทำงานร่วมกับทุกคนเหล่านี้


     “ทำงานนี้ได้อะไร เอาแบบภาษาชาวบ้านเลยนะ มันชื่นใจ พิชชาชอบไปเที่ยวบ้านน้องๆ บางทีเราปิดร้านเลยแล้วพาทุกคนไปเที่ยวบ้านน้องๆ สนุกดี ไปเยี่ยมเขา ไปดูเขาว่าเป็นอยู่อย่างไร ซึ่งถ้าเราไม่ได้รู้จักเขาเราไม่มีสิทธิ์ขึ้นไปเลยนะบนดอย เขาอยู่กันเป็นชนเผา มันให้ความสุข เพราะเห็นเขามีความสุขเราก็มีความสุข เราเหมือนเลี้ยงเขาได้ เลี้ยงครอบครัวเขาได้ เขาก็ทำงานให้เราดี มันเหมือนเขาเป็นญาติ เป็นครอบครัวของเราไปแล้ว” เธอบอกผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานในวันนี้
    

           
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024