ไม่รู้ไม่ได้! 6 เทรนด์สุดล้ำเขย่าวงการอาหารที่ปีหน้ามาแน่




Main Idea

 
  • หนึ่งในธุรกิจที่ท้าทายที่สุดคงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากธุรกิจนี้จะมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาเล่นเป็นจำนวนมากแล้ว ผู้บริโภคยุคใหม่ยังมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอีกด้วย
 
  • สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องทำคือการไม่หยุดอยู่กับที่และต้องพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน และนี่คือ 6 เทรนด์สุดล้ำที่จะมาเขย่าวงการอาหารและเครื่องที่คุณต้องจับตามอง





 
     เราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว แม้แต่เทรนด์ก็ยังมาไวไปไว แต่จะปล่อยให้เทรนด์นั้นผ่านเลยไปเฉยๆ คงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มซึ่งต้องคอยรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แถมยังมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาอยู่เรื่อยๆ วันนี้เรามีเทรนด์ใหม่ล่าสุดที่ล้ำเว่อในปีหน้ามาฝากกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ได้เตรียมตัวเตรียมใจและคอยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ก่อนใคร!
 

1. Food Waste Solution


     ในประเทศอังกฤษมีการพัฒนานวัตกรรมในการตรวจสอบคุณสมบัติของอาหารขึ้นมาอย่างหลากหลาย เพื่อแก้ปัญหาการทิ้งอาหารอย่างไร้ประโยชน์ให้กลายเป็นขยะ หลังพบว่ามีการทิ้งอาหารตามฉลากที่ระบุวันหมดอายุ ทั้งที่อาหารยังรับประทานได้ตามปกติ ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปอย่างน่าสียดาย โดยกำลังมีการพัฒนาฉลากอัจฉริยะบนบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อให้ผู้บริโภคทราบได้อย่างแม่นยำมากขึ้นว่าอาหารของพวกเขาสดแค่ไหน หรือเริ่มเปลี่ยนผ่านความสดใหม่แต่ยังรับประทานได้อยู่ จนถึงจุดสิ้นสุดที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้ว

     โดยฉลากบนผลิตภัณฑ์จะบอกเล่าถึงความสดใหม่นี้ หากฉลากบนผลิตภัณฑ์เรียบ สวยงาม สีสดใส แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นยังใหม่อยู่ และฉลากจะกลายเป็นหลุมเป็นบ่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะไม่สดอีกต่อไป ซึ่งช่วยให้เกิดการสูญเสียอาหารอย่างไม่จำเป็นน้อยลง ส่วนต้นทางในการผลิต ก็เริ่มมีการนำแนวคิดใช้วัตถุดิบที่ไม่สวยงามหรือตกเกรดคัดคุณภาพ มาใช้ในการแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มมากขึ้น

     ยกตัวอย่างเช่น ผัก ผลไม้ ที่มีรูปทรงไม่สวยงามตามเกรดคัดมักจะถูกทิ้งออกจากกระบวนการผลิต ทั้งที่ใช้ทรัพยากรในการผลิตเทียบเท่ากับชิ้นอื่น ๆ จึงเกิดการแก้ปัญหาด้วยการหยิบผัก ผลไม้ที่ไม่สวยงามเหล่านี้ มาปรุงให้มีรสชาติอร่อย บอกเล่าเรื่องราวของการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มคุณค่า หรือใช้เทคโนโลยีแปรรูป เพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาเป็นอาหารและเครื่องดื่มให้สมกับที่ใช้ทรัพยากรและแรงงานในการเพาะปลูกนั่นเอง
 




2. AI, A must


     ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์ เครื่องจักรกล แขนจักรกล หรือโปรแกรมการผลิตแบบอัจฉริยะเท่านั้น แต่ AI ในอุตสาหกรรมอาหารกำลังมุ่งไปที่การบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางหรือจากฟาร์มจนถึงการเสิร์ฟอาหารบนโต๊ะ ทั้งการจัดหาวัตถุดิบ ตรวจสอบการผลิต ควบคุมมาตรฐานและรสชาติ ไปจนถึงแผนการขนส่งและสต็อกสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

     โดยบริษัทขนาดใหญ่จะมีการพัฒนา AI ขึ้นมาใช้อย่างเฉพาะ ซึ่งมีความสามารถสูงถึงขนาดจดจำรสชาติที่มีความละเอียดจนเกิดเป็นมาตรฐานของการผลิตได้ ส่วน SME หรือผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กลงมา ก็กำลังปรับตัวเข้าหา AI เพื่อการผลิตที่อยู่ในมาตรฐานสากล เช่น AI ที่ทำความสะอาดเครื่องจักรผสมอาหาร ซึ่งวัดค่าความสะอาดทั้งในแง่ของพื้นผิวและกลิ่นเพื่อคงคุณภาพในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มในทุกครั้งที่ใช้เครื่องจักร
 




3. Packaging

     
การออกแบบแพ็คเกจจิ้งในปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงามและการให้รายละเอียดที่ชัดเจนแก้ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงการย่อยสลายซึ่งจะเป็นภาระต่อโลกใบนี้อีกด้วย กระแสรักษ์โลกที่จุดประกายการตระหนักถึงผลกระทบที่แพคเกจจิ้งมีต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่หลอดพลาสติกกับเต่าทะเล ถุงพลาสติกกับวาฬ หรือห่วงฝาขวดน้ำที่รัดปากโลมา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแพ็คเกจจิ้งอย่างมากมายตามการเรียกร้องของผู้บริโภคและธรรมาภิบาลขององค์กร อาทิ การใช้แพ็กเกจจิ้งย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ การรีไซเคิลแพ็กเกจจิ้งใช้ซ้ำ หรือการออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้สามารถถือพกพาได้ง่ายโดยไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นความสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ซ้ำซ้อนเกินจำเป็น
 


 

4.Bountiful Choice 

     เมื่อแบรนด์ต่างๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และความต้องการของผู้บริโภค นำไปสู่การสร้างสินค้าที่มีความสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากการตลาดที่แบ่ง segments ลูกค้าแบบเดิมๆ นั้น แบรนด์ต่างๆ ยังหันมาให้ความสนใจกับรสชาติ รูปแบบ และบรรจุภัณฑ์มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาสินค้าแบบ Think out of the box เพื่อรักษาการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคและความกระหายใคร่รู้ของผู้บริโภคยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดความหลายหลายและน่าตื่นตาของอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบัน 

     โดยในอนาคตผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับอาหารมากกว่าเรื่องของความอิ่มท้อง แต่จะมองอาหารเป็นเครื่องแสดงออกถึงความเป็นตัวตนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำการบ้านหนักขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว เช่น การนำเสนอข้อมูลที่มาของวัตถุดิบ ข้อมูลสำหรับตรวจสอบย้อนกลับที่มาของส่วนผสม และกระบวนการผลิตตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
 

5.Rising of Food & Agri-Tech

     
ภายในปี 2593 (หรือ 30 ปีหลังจากนี้) มีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 10,000 ล้านคน ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ เราจะต้องมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 70 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณการผลิตที่ทำได้ในปัจจุบัน ดังนั้นเทคโนโลยีและงานวิจัยต่าง ๆ จะเข้ามามีบทบาทในการเกษตรมากขึ้น อาทิ การทำฟาร์มแนวดิ่ง (Vertical Farming) และการทำเกษตรในร่ม (Indoor Farming) ที่สามารถเพาะปลูกได้ในเมือง ในอาคาร หรือการใช้เทคโนโลยีไอโอที (IOT) Big Data เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และพัฒนากระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น แอปพลิเคชัน วิเคราะห์น้ำในดิน, คาดการณ์และตรวจวัดผลผลิต, ให้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง, สอดส่องพืชผล และช่วยจดบันทึกและการจัดเก็บข้อมูล

     โดยมีการคาดการณ์แนวโน้มตลาดการเกษตรอัจฉริยะว่าจะขยายตัวได้ถึงประมาณ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ.2022 สะท้อนสัญญาณที่สดใสด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่อยู่ในระดับสูงถึง 19.3 เปอร์เซ็นต์ และนอกจากเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรแล้ว เทคโนโลยีในการแปรรูปสินค้าเกษตรให้กลายเป็นอาหาร และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ผู้ประกอบการต้องจับตามอง
 

6. Foodie Influencer  

     ผู้บริโภคในยุคดิจิตอลสามารถเข้าถึงข้อมูลในหลายช่องทางได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารหันมาให้ความสำคัญกับการทำการตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยมีผลสำรวจระบุว่าผู้บริโภคกว่า 58 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าโซเชียลมีเดียและรีวิวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ รองลงมาคือการบอกต่อที่ 23 เปอร์เซ็นต์ และ 9 เปอร์เซ็นต์ ผ่านการโฆษณาในสื่อ   

     และเมื่อเสียงบอกต่อมีพลังมากกว่าโฆษณาชวนเชื่อ บทบาทของ Foodie Influencer จึงมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคช่างเลือกอย่างไม่น่าเชื่อ ความน่าสนใจของ Influencer Marketing นี้ไม่ได้อยุ่แค่ในไทยเท่านั้น แต่แพร่ขยายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่มีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียสูง โดยประเทศที่มีประชากรเข้าถึงโซเชียลมีเดียมากที่สุดคือ มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และ ไต้หวัน ในสัดส่วนเท่ากันที่ 99 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเทศไทยนั้นมีอัตราการการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย  86 เปอร์เซ็นต์ และอินโดนีเซีย 71 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่มี 58 เปอร์เซ็นต์
 
 

ที่มา : Food Ingredients  Asia 2019 (Fi Asia 2019) 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024