ถอดบทเรียน 4 ธุรกิจใหม่ที่ล้มธุรกิจเก่าได้เพราะเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า




Main Idea
 
  • อะไรมาใหม่ อะไรกำลังจะล้าสมัย ความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่คนทำธุรกิจต้องรู้และปรับตัวให้ทัน เพราะจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เกิดจากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
 
  • ธุรกิจที่เราเคยคุ้นในวันวานมากมายถูกธุรกิจอื่นที่ปิ๊งไอเดียสร้างนวัตกรรมมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีและง่ายกว่า มาช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจไป
 



     อะไรมาใหม่ อะไรกำลังจะล้าสมัย ความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่คนทำธุรกิจต้องรู้และปรับตัวให้ทัน เพราะจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เกิดจากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป หากหยุดเรียนรู้เมื่อไร อาจสะดุดล้มจนอาจถึงขั้นอยู่ไม่ไหว เหมือนกับธุรกิจที่เราเคยคุ้นในวันวานได้ถูกธุรกิจหรือแบรนด์อื่นที่ปิ๊งไอเดียสร้างนวัตกรรมมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีและง่ายกว่ามาช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจไป
เรามาย้อนดูดีกว่าว่าโลกธุรกิจเมื่อ 10 กว่าปีก่อนกับวันนี้แตกต่างกันอย่างไร มีอะไรอยู่และอะไรถูกกลืนหายไปบ้าง มาดูกัน!
 




Smartphone ที่ให้มากกว่าบทสนทนา

               

     ต้องโทษ สตีฟ จอบส์ แล้วล่ะ ที่ทำให้ Smartphone กลายเป็นอุปกรณ์คู่ใจของผู้คนทดแทนโทรศัพท์มือถือที่เน้นฟังก์ชันโทรคุยและส่งข้อความ เพราะเจ้า iPhone มาพร้อมกับความง่ายดายของการใช้งานด้วยระบบนิ้วสัมผัสและแอปสโตร์ที่สามารถบริหารจัดการได้ตามใจว่าจะเอาอะไรมาใส่ไว้ในโทรศัพท์บ้าง หลังจากนั้นก็มีสมาร์ทโฟนจากผู้ผลิตค่ายอื่นตามมา และเป็นใบเบิกทางสำหรับธุรกิจรูปแบบใหม่อย่าง อี-คอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ
แล้วอะไรบ้างที่หายไป? ว่ากันตรงๆ ก็ไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือแบบเก่าเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้คนใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊กลดลงไปด้วย เพราะเราสามารถเข้าถึงเฟซบุ๊ก ยูทูป แชท หรือกระทั่งทำงานได้ผ่านสมาร์ทโฟนโดยที่ไม่ต้องรอเปิดคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ และที่ลืมไม่ได้ คือ ยอดขายกล้องถ่ายรูปดิจิทัลลดลงไป ลองหยิบโทรศัพท์ในมือขึ้นมาดูสิว่าวันนี้คุณมีกล้อง 2 ตัวหรือ 3 ตัวอยู่ในมือแล้วใช่ไหม


     อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่าใกล้จะถึงจุดอิ่มตัวของยุคสมาร์ทโฟนแล้ว ไม่ได้มีความสามารถที่ทำให้ผุ้บริโภครู้สึกว้าวอีกต่อไป แล้วจะมีเทคโนโลยีประเภทไหนที่จะมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม
 



สตรีมมิ่งยึดครองอุตสาหกรรมบันเทิง



     ถ้าย้อนกลับไปสัก 20 ปีก่อน หลายคนคงคุ้นเคยกับการเดินเข้าร้านแมงป่อง หรือร้านเช่าวีดีโอใกล้บ้านเพื่อเลือกดูภาพยนตร์ที่ลาโรงมาสักพักใหญ่ จ่ายค่าเช่ารายวันนำกลับไปดูที่บ้านแล้วต้องรีบนำกลับมาคืนให้เร็วไว หากส่งคืนล่าช้ากว่าที่กำหนดก็ต้องเสียค่าปรับ เรียกได้ว่าการจะหาหนังดูสักเรื่องต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย แถมยังต้องลุ้นกันว่าหนังเรื่องที่อยากดูจะมีสต็อคเหลือให้ดูบ้างหรือไม่เพราะอาจจะเป็นเรื่องฮอตฮิตที่มีคนยืมมากมาย ทำให้ต้องกลับมาเสี่ยงดวงกันใหม่ครั้งหน้า หลังจากการเข้ามาของอินเตอร์เน็ต (ที่เป็นปัจจัยของการดิสรัปชันมากมาย) จะดูหนังทั้งทีก็หาได้ง่ายบนโลกออนไลน์ หาหนังซูม หนังเถื่อนผิดลิขสิทธิ์ดูกันได้แบบชนโรง เพียงแต่ภาพอาจไม่คมชัดเท่าไร


     แต่ดูเดี๋ยวนี้สิ บริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ที่จริงก่อนหน้านั้น Netflix ให้บริการเช่าแผ่นดีวีดีทางไปรษณีย์ก็นับเป็นบริการใหม่แก่ลูกค้าแล้ว แต่หลังจากนั้นก็เพิ่มบริการสตรีมมิ่งและดาวน์โหลดออนไลน์โดยเสียค่าบริการรายเดือนในราคาไม่แพงนัก โดยที่ลูกค้าจะดูที่ไหน เมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องเดินทางไปเช่าที่ร้าน ไม่ต้องเสี่ยงดวงว่าจะมีหนังให้ดูหรือไม่ และที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าปรับเมื่อคืนช้าเกินกำหนด แถมยังทำให้เหล่าผู้คนที่เคยเสพหนังผิดลิขสิทธิ์ยอมจ่ายเพราะราคาที่คนรับได้แลกกับความคมชัดและไม่เสี่ยงไวรัส สิ่งเหล่านี้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง จนวันนี้ Video Streaming หลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Disney, Apple TV กำลังเฟื่องฟู ในขณะที่ร้านให้บริการเช่าวีดีโอ ดีวีดี กลายเป็นแค่ความทรงจำไปเสียแล้ว




     ในขณะที่ฝั่งอุตสาหกรรมเพลงก็ไม่ต่างกัน เทปคาสเซ็ต แผ่นซีดีไม่ถูกผลิตอีกต่อไป แต่บริการ Music Streaming อย่าง Apple Music, Spotify หรือกระทั่งแบรนด์ไทยอย่าง Joox กลายเป็นทางเลือกในการฟังเพลงของคนรุ่นใหม่ และถ้าเทียบกับการจ่ายเงินค่าเทปคาสเซ็ทหรือซีดี 1 อัลบั้มในราคาหลักร้อยบาท ปัจจุบันคนฟังจ่ายเพียงเดือนละ 129 บาทเพื่อฟังเพลงจากทั่วโลกได้ไม่จำกัด ย่อมทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจจ่ายได้ไม่ยากเลย ฝั่งศิลปินเองถ้าอยากเป็นที่รู้จัก นอกจากจะโปรโมทผ่าน Youtube แล้วยังต้องปล่อยเพลงใน Music Streaming ให้ครบทุกค่าย จึงจะมีโอกาสเข้าถึงกลุ่มคนฟังได้หลากหลายขึ้น
 

Airbnb เปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงแรม เปลี่ยนโรงแรมให้เหมือนบ้าน
               

     เมื่อก่อนถ้าหากนักท่องเที่ยวอยากสัมผัสประสบการณ์แบบท้องถิ่นมักจะเลือกพักที่โฮสเทล  ที่คนในชุมชนเปลี่ยนบ้านของตัวเองให้เป็นที่พักเป็นเรื่องเป็นราว แต่ตอนนี้เรากลับมองหาห้องพักใน Airbnb เป็นทางเลือกแรกๆ  
Airbnb มาพร้อมกับแนวคิด Sharing Economy จากการมีที่พักที่บางครั้งอาจไม่ได้ใช้งาน ช่วงเวลาเหล่านั้นก็เอาไปให้คนอื่นใช้เสียสิ ใครที่มีห้องว่างในบ้านก็ให้คนมาเช่าในราคาที่ต่ำกว่าไปพักในโรงแรม นำไปสู่การสร้างรายได้เสริมให้กับเจ้าของบ้าน สิ่งที่ทำให้ Airbnb สั่นสะเทือนวงการโรงแรมได้ เกิดจากการเข้าใจลูกค้ามากกว่า นักท่องเที่ยวบางคนไม่ได้ต้องการรูมเซอร์วิส หรือขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มราคาแพง แต่ต้องการครัวที่ทำอาหารเองได้มากกว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการวิวเลิศหรู แต่ต้องการการพูดคุยหรือคำแนะนำจากคนท้องที่ที่เป็นเจ้าของห้อง เป็นต้น
 



แอปพลิเคชันมัดใจ ส่งคน ส่งของ ส่งให้ได้ทุกอย่าง

               

     หากพูดถึงคอนเซ็ปต์ Sharing Economy แล้วคงไม่พูดถึงวงการรถยนต์โดยสารไม่ได้ ผู้บุกเบิกธุรกิจประเภทนี้ก็คือ Uber แต่เราคุ้นเคยกับ Grab เสียมากกว่าเพราะมีให้บริการในประเทศไทยในปัจจุบัน คนที่มีรถยนต์ส่วนตัวสามารถลงทะเบียนและให้บริการรับส่งผู้โดยสารได้โดยที่ไม่ต้องไปทำสีรถให้กลายเป็นแท็กซี่ก็ได้
               

     ธุรกิจนี้ตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก เพราะปัญหาที่เรามักเจอเมื่อจะเรียกใช้บริการรถแท็กซี่แบบเดิมคือมักถูกปฏิเสธ ถูกโกงค่าโดยสาร หรือหากอยู่ในซอยก็หาโบกรถแท็กซี่ยากเหลือเกิน แต่ Grab เข้ามาแก้ปัญหาที่ว่ามาได้แทบทั้งหมด เพราะแค่เปิดแอปพลิเคชันก็สามารถเรียกรถได้ทุกที่ทุกเวลา เห็นหน้าตาและทะเบียนของคนขับรถ รู้ก่อนว่าจะมีค่าเดินทางเท่าไร ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกปฏิเสธเพราะคนขับย่อมพิจารณาก่อนกดรับงาน ทั้งยังสามารถจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจ่ายแบงก์ 500 ไปแล้วจะไม่มีทอน และมีระบบการให้คะแนนและเขียนคอมเมนท์ที่จะส่งผลถึงการรับงานในครั้งถัดๆ ไป คนขับจึงให้บริการอย่างสุภาพยิ่ง ความพยายามแก้ไข Pain Point ทั้งหลายที่ว่ามาทำให้กลายเป็นธุรกิจที่ปฏิวัติสังคมไปเลย และยังเติบโตจนให้บริการหลากหลายนอกเหนือไปจากเรียกใช้บริการรถรับจ้าง ไปสู่การให้บริการรับ-ส่งของและอาหาร ที่มัดใจผู้บริโภคให้เปิดแอปพลิเคชันใช้งานกันทุกวันเลยทีเดียว
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024