ถอดกลยุทธ์การตลาดแบบหลาดใต้ฉบับผู้ใหญ่บ้านบางนุ สู่การสร้างรายได้ 2 ล้านต่อเดือน!

Text : พิมพ์ใจ พิมพิลา


 
 
 
Main Idea
 
  • หลาดลองแล ตลาดชุมชนของบ้านบางนุที่เริ่มจากการมีอาชีพหลักอย่างเกษตรกรรมสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงเกษตรที่สร้างรายได้ถึง 2 ล้านต่อเดือน สู่การกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
 
  • ผู้ใหญ่เสริมศรี คือผู้ก่อตั้งตลาดลองแลของชุมชนบ้านบางนุไปจนถึงการพัฒนาให้ตลาดแห่งนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการท่องเที่ยวของจังหวัดพังงา ในปัจจุบัน


 
     แหล่งท่องเที่ยวของชุมชนเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สำคัญของประเทศที่จะนำพานักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นคนในประเทศหรือต่างประเทศให้เข้ามาจับจ่ายซื้อขายสินค้าในชุมชน เรียกได้ว่าเป็นอีกแหล่งรายได้ที่สำคัญแถมยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมของไทยที่แม้แต่คนไทยเองก็ยังไม่รู้จัก อย่างเช่น ภาษา อาหาร ประเพณีและวิถีชีวิตของคนในชุมชนกันอย่างลึกซึ้ง




     “บ้านบางนุ” เป็นอีกหนึ่งชุมชนในจังหวัดพังงาที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักสักเท่าไหร่ อันเนื่องมาจากอาชีพหลักของคนในชุมชนล้วนแต่เป็นเกษตรกรทั้งสิ้น แต่แล้วชุมชนแห่งนี้ก็เปลี่ยนไปเพราะได้ผู้นำชุนชนอย่าง  “เสริมศรี ทองกุล” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านบางนุ หรืออีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญอย่างการเป็นผู้ใหญ่บ้านที่จะนำพาชุมชนไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอย่าง หลาดลองแล ตลาดชุมชนที่มีรายได้มากกว่า 2 ล้านต่อเดือน




     เสริมศรีเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลาดลองแลนั้นมาจากการที่เธอเข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยได้เริ่มจากคิดหาแนวทางไปพร้อมกับการตั้งเป้าหมายว่าจะนำพาหมู่บ้านไปในทิศทางไหน ที่จะดีต่อคนในชุมชนมากที่สุด โดยเธอได้เล่าถึง “ต้นทุน” ที่ชาวบ้านมีอยู่ว่า


     “ด้วยบริบทของที่นี่ส่งผลให้ชาวบ้านทำสวนยาง สวนปาล์ม สวนทุเรียน สวนมังคุด เรียกได้ว่าส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมแทบจะทั้งหมด แล้วที่นี้เราก็วางเป้าว่า ถ้าชาวบ้านทำเกษตรเป็นหลักแต่เป็นเกษตรอย่างเดียวดูแล้วทิศทางมันไม่น่าจะไปได้ดี ดังนั้นเราจึงดูว่าบริบทของบ้านเรานั้นมีต้นทุนอะไรบ้าง ซึ่งเห็นว่าเรามีต้นน้ำใหญ่ที่หล่อเลี้ยงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตร นำไปใช้บริโภคอย่างเพียงพอ อีกทั้งเรามีน้ำตกที่สวยงาม สำนักสงฆ์ รอยพระพุทธบาท อากาศที่ดีและวิถีชุมชนแบบดั้งเดิมของเราก็ยังคงอยู่”







     ซึ่งเธอมองว่า มรดกของชุมชนเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ จนเมื่อ 4 ปีที่แล้วเธอและชาวบ้านจึงได้พัฒนาชุมชนแต่ละจุดขึ้นมา โดยนำศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาขับเคลื่อน อย่างการผลิตปุ๋ย ปลูกผักกันอย่างงจริงจัง จนต่อมาได้มีการเข้าประกวดชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงและได้รับรางวัลที่ 2 ของจังหวัดมาครอบครองได้สำเร็จ 


     “หลังจากนั้นชาวบ้านก็เริ่มปลูกผักกันมากขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือเมื่อชาวบ้านทำเกษตรกรรมได้ แต่กลับไม่มีตลาดรองรับสินค้าที่มีอยู่ เริ่มแรกเราได้แก้ปัญหาโดยการพยายามเจาะตลาดภายในชุมชนก่อน แต่ก็ไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด เราจึงต้องไปพึ่งพาตลาดของภูเก็ตแทน  ซึ่งการที่เราต้องวิ่งส่งผักไปมานั้นเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเพราะต้องจ่ายค่าน้ำมันในการขนส่ง เราจึงมาตั้งต้นกันใหม่ว่า เราจะทำตลาดภายในหมู่บ้านกัน จึงทำให้เกิดหลาดลองแลขึ้นมาในวันนี้” 


     เธอเล่าต่อว่า การทำตลาดครั้งแรกนั้น เธอมองเห็นถึงโอกาสที่จะทำให้คนเข้ามายังตลาดมากขึ้นโดยการเชิญคนภูเก็ตที่เป็นเครือข่ายกับชุมชนของเธอให้เข้ามาเยี่ยมชมตลาดเล็กๆ แห่งนี้ ก็เริ่มทำโดยเธอได้เก็บรวบรวมข้อมูลแล้วพบว่าหลาดลองแลประสบความสำเร็จในระดับที่สามารถจะพัฒนาต่อได้เพราะหลาดลองแลนั้นอยู่ไม่ไกลจากภูเก็ตมากนัก โดยเธอเล่าถึงจุดเด่นของตลาดแห่งนี้ให้ฟังว่า 




     “สินค้าทุกอย่างมาจากการเกษตรกรที่มั่นใจได้ว่าปลอดสารพิษ เป็นผักพื้นบ้านที่หลายคนอาจจะไม่รู้จัก อาหารก็เป็นอาหารบ้านๆ ที่บางอย่างอาจจะหาทานได้ยากแล้ว”


     แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นทำให้เธอมีกำลังใจในการที่พัฒนาตลาดแห่งนี้ต่อไป และเธอได้เรียกชาวบ้านมาปรึกษาหารือกัน และเริ่มวางแผนว่าในการเปิดครั้งที่สองจะเป็นการวัดผลว่าชาวบ้านที่นำของมาขายนั้นสามารถขายได้และอยู่ได้หรือไม่ ปรากฏว่าก็มีคนเข้ามาเยอะขึ้นจนตอนนี้หลาดลองแลกลายเป็นพื้นที่ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน แถมยังเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอีกด้วย


     “ถ้าของเราดีจริงเขาต้องกลับไปบอกต่อที่อื่นว่าดี” เธอกล่าวอย่างมั่นใจ พร้อมกับเล่าว่าลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่รู้จักกันแบบปากต่อปาก เนื่องจากชุมชนไม่ได้มีการทำการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เลยสักครั้ง
โดยรายได้จากทั้งหมด 100 ร้านค้า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนบ้านบางนุ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นของหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งทีมบริหารของชุมได้มีการเก็บข้อมูลและประเมินผลเกือบทุกอาทิตย์ว่า ยอดขายเฉลี่ยแล้วในหนึ่งอาทิตย์จะมีรายได้เข้ามามากกว่า 4 แสน จนถึง 2 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเธอเล่าว่าอาจจะเป็นเพราะอยู่ในฤดูท่องเที่ยว บางอาทิตย์จึงมีรายได้สูงถึง 5 แสนบาท จากทั้งลูกค้าไทยและต่างประเทศ โดยเธอมองว่าเป็นความประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในเวลาแค่ 2 ปี ที่เริ่มดำเนินการมา เพราะทีมบริหารจัดการทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นคนในชุมชนบ้านบางนุทั้งสิ้น




     และจากการทำงานมาทำให้เธอรู้ว่า การทำตลาดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะในทุกขั้นตอนนั้นเป็นการทำงานกับคนในชุมชน อีกทั้งยังมีปัจจัยภายนอกที่ตัวเธอเองหรือคนในชุมชนไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ แต่ทีมบริหารก็มีความพยายามที่จะสร้างกฎระเบียบของตลาดเพื่อที่จะให้เกิดความเท่าเทียมและสามารถสร้างจิตสำนึกให้กับคนที่เข้ามาใช้พื้นที่หลาดลองแลในการสร้างรายได้ อย่างการจัดการขยะที่ได้มีการสร้างธนาคารขยะขึ้นมาเพื่อรองรับขยะในแต่ละวัน และเนื่องจากตลาดแห่งนี้จะเปิดแค่วันอาทิตย์เท่านั้น ในวันเสาร์กลุ่มร้านค้าทุกร้านค้าจะต้องมาทำความสะอาดก่อนที่จะเปิดร้านในวันถัดมา ซึ่งนั่นเป็นอีกสิ่งที่ทำให้ชุมชนที่เกิดภายในหลาดลองแลนั้นมีความสามัคคี รู้สึกรักและห่วงแหนพื้นที่แห่งนี้ให้มีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ นั่นเอง




     ซึ่งในอนาคตทีมบริหารของชุมชนได้ประชุมและวางแผนร่วมกับจังหวัดว่าจะใช้หลาดลองแลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ  ที่เกิดขึ้นในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการว่างงานของชาวบ้าน การเป็นตลาดในการกระจายสินค้า รวมถึงการวางแผนล่วงหน้าในการจัดสรรงบประมาณในการบูรณะพื้นที่สำคัญของชุมชนอย่างรอยพระบาท สำนักสงฆ์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มเกษตรพอเพียง น้ำตกที่เป็นต้นน้ำของคนในหมู่บ้าน เพื่อที่จะทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยงเชิงเกษตรอย่างเต็มตัว และสามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ อีกทั้งจะทำให้หลาดลองแลเป็นจุดสตาร์ทก่อนที่จะเดินทางท่องเที่ยวหรือเรียนรู้วัฒนธรรมของหมู่บ้านไปจนถึงการท่องเที่ยวภายในจังหวัดต่อไปด้วย
 

     จะเห็นได้ว่าไม่ว่าธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่ ถ้ามี “ผู้นำที่ดี” ธุรกิจนั้นย่อมพัฒนต่อไปได้อย่างราบรื่น และหากบวกกับความสามัคคีกันของทีมงานทุกคน ต่อให้มีปัญหาหรืออุปสรรคหนักหนาแค่ไหนถาโถมเข้ามา ธุรกิจหรือสิ่งที่ทำอยู่ก็จะยังไปสู่ความสำเร็จได้ เหมือนที่ชาวบ้านบางนุพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วในวันนี้ 


 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024