แบบนี้ก็ได้นะ! พลิกมุมคิด ‘การตลาดย้อนศร’ คิดไม่ออกก็ลองกลับด้านดูสิ






Main Idea

 
  • เคยเป็นกันบ้างไหมกับโจทย์การทำธุรกิจที่บางครั้งเหมือนจะง่าย แต่ก็คิดกันไม่ออก
 
  • ลองมาดูวิธีคิดแบบการตลาดมุมกลับ หรือการตลาดย้อนศร ที่บางครั้งอาจตั้งคำถามแล้วหาคำตอบไม่ได้ ก็ให้ลองเปลี่ยนมุมมอง จากสิ่งที่อยากได้ เป็นสิ่งที่ไม่อยากทำได้แทน ไม่แน่ว่าคุณอาจพบคำตอบได้ง่ายกว่าที่เคยทำมาก็ได้


 
 
 
     ในการทำธุรกิจตามหลักทฤษฎีการตลาดแล้ว บางครั้งเราก็รู้ว่าต้องทำอะไร แต่ก็มีหลายครั้งที่ต่อให้รู้ยังไง ก็คิดหาคำตอบไม่ได้สักที ลองพลิกมุมมองความคิดไปอีกด้านหนึ่ง จากซ้ายไปขวา จากผู้ผลิตไปเป็นผู้บริโภค ไม่แน่ว่าอาจทำให้คุณหาคำตอบในสิ่งที่ต้องการได้ง่ายขึ้น และมองเห็นถึง Insight ที่ซ่อนอยู่ในใจลูกค้าก็เป็นได้ และต่อไปนี้ คือ การคิดแบบมุมกลับบางส่วนที่เราคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ จึงนำมาฝากกัน



 
  • จะเล่าเรื่องยังไงดี? > อยากให้ลูกค้าพูดถึงแบรนด์ว่ายังไง

     ข้อแรกนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ โดยการเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมา จุดขาย จุดเด่นที่น่าสนใจของแบรนด์ออกไป เพื่อดึงดูดลูกค้า รวมถึงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ แต่อยู่ดีๆ จะมานั่งคิดว่าให้เล่าเรื่องยังไง บางครั้งก็คิดไม่ออกว่าเล่าแค่ไหนถึงจะพอดี ส่วนไหนที่สำคัญน้อยสำคัญมาก ถ้าคิดไม่ออกลองกลับด้านไปอีกมุมหนึ่ง คือ แทนที่คิดว่าจะเล่าเรื่องยังไงดี ให้เปลี่ยนมาเป็นอยากให้ลูกค้าพูดถึงแบรนด์เราว่ายังไงบ้าง สิ่งไหนที่อยากให้เขาพูดถึงแบรนด์ สิ่งไหนที่อยากให้เขานำไปบอกต่อ อาจจะง่ายขึ้นเยอะทีเดียว



 
  • จะขายอะไรดี? > ของแบบไหนที่ไม่อยากใช้

     นี่ก็เป็นอีกข้อที่ทำเอาผู้ประกอบการหลายคนปวดหัวไปตามๆ กัน โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นกิจการหรือหาสินค้าใหม่ๆ เพื่อนำมาป้อนให้กับตลาด จะขายอะไรดี ของแบบไหนที่ขายแล้วผู้บริโภคอยากซื้อ เป็นคำถามโลกแตกที่บางครั้งก็หาคำตอบได้ยาก ที่ทำออกมาแล้วบทจะขายได้ ก็ได้ แต่ถ้าขายไม่ได้ ต่อให้ทำดีแค่ไหน คนก็ไม่ซื้อ ลองคิดมุมกลับดีกว่า ในเมื่อไม่รู้ว่าจะขายอะไรดี ลองเริ่มจากคำถามง่ายๆ แบบนี้ก่อน ก็คือของแบบไหนที่ทำแล้วไม่อยากใช้ อย่างน้อยๆ ถึงไม่รู้ว่าจะขายอะไร แต่อย่างน้อยๆ ก็ได้รู้ว่าสินค้าแบบไหนที่ทำออกมาแล้ว ไม่อยากใช้แน่นอน อย่างน้อยๆ ก็เป็นการช่วยลดความเสี่ยงของการขายไม่ได้ไปบ้างละ

 
  •  อยากได้กำไรดีๆ > ประหยัดต้นทุนยังไงให้มากที่สุด
               ข้อนี้เป็นอีกสิ่งที่ผู้ประกอบการคนไหนก็อยากได้ และมักถามกันอยู่บ่อยๆ ลองคิดง่ายๆ ในมุมกลับแทนที่จะตั้งโจทย์ว่าทำยังไงให้ขายได้กำไรดีๆ เปลี่ยนมาเป็นทำยังไงจึงจะสามารถประหยัดต้นทุนได้บ้างดีกว่า การประหยัดต้นทุนดังกล่าวไม่ได้หมายถึงการลดคุณภาพสินค้าลง หากแต่หมายถึงทำอย่างไรที่คุณภาพสินค้ายังคงดีเหมือนเดิมได้ แต่มีวิธีช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต การทำงานต่างๆ เรียกง่ายๆ ว่าเหมือนเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานใหม่ให้เกิดการ Lean ได้มากที่สุดนั่นเอง แน่นอนว่าถ้าหากสามารถทำได้ แม้กำไรสินค้าคุณอาจได้ราคาเท่าเดิม แต่ต้นทุนการผลิตของคุณจะถูกลง ซึ่งก็ไม่ต่างจากการได้กำไรเพิ่มขึ้นนั่นเอง



 
  • ทำยังไงให้ขายสินค้าได้ > ของแบบไหนที่อยากจะซื้อ

     เป็นอีกคำถามสุดคลาสสิกเช่นกัน แต่ข้อนี้หลายๆ คนคงพอได้ยินกันมาบ้างในบทความการตลาดหลายๆ แห่งที่ว่า ถ้าหากอยากขายสินค้าได้ดี ก็ให้ลองคิดดูก่อนว่าสินค้าแบบไหนที่หากเป็นตัวเราเอง เรายังอยากจะเสียเงินซื้อ ซื้อที่ไหน ซื้ออย่างไร ช่องทางไหนถึงจะสะดวกที่สุด บางครั้งรายละเอียดข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อาจเป็นตัวช่วยไขความลับ เป็นจุดเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในความต้องการของผู้บริโภคก็เป็นได้ มีสินค้าตั้งมากมายที่เป็นสินค้าดีมีคุณภาพ แต่อยู่ผิดที่ผิดทาง แต่พอเปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่ายปุ๊บ กลับขายได้ดีเป็นเทน้ำเทท่าเลยทีเดียว             


 
  • อยากให้ลูกค้ารัก > อย่าทำสิ่งที่ลูกค้าเกลียด

     ข้อสุดท้ายกันแล้ว ข้อนี้แม้ไม่ใช่สิ่งที่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจของคุณได้ในทันทีเหมือนยอดขายหรือผลกำไร แต่อาจส่งผลต่อธุรกิจของคุณได้ในระยะยาว เพราะยังไงในการทำธุรกิจ ทุกคนย่อมอยากเป็นแบรนด์ที่รักที่ถูกใจลูกค้าด้วยกันทั้งนั้น การทำให้ลูกค้ารัก ก็เหมือนเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีให้กับแบรนด์ ซึ่งเมื่อลองได้รักไปแล้ว อะไรๆ ก็คงดูดีไปหมดซะทุกอย่าง และลูกค้านี่แหละที่จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนเรา เมื่อยามมีข่าวในแง่ลบต่างๆ เข้ามา ซึ่งการจะทำให้ลูกค้ารักได้ ก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่ถ้าใครยังคิดไม่ออก ลองมองจากมุมกลับง่ายๆ ก่อนว่าพฤติกรรมใดของ       แบรนด์บ้างที่หากทำออกไปแล้ว ลูกค้าจะไม่ชื่นชอบแน่นอน ลองเขียนออกมาเป็นข้อๆ จดเป็นบันทึกข้อห้ามเอาไว้ เป็นกฎเหล็กว่าเราจะไม่ทำแน่นอน และนั่นเองจะช่วยทำให้ลูกค้ารักคุณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะยังไม่ได้ทำอะไร และจะยิ่งรักมากขึ้นไปอีก ถ้าคุณได้ทำอะไรดีๆ เพิ่มขึ้นมาเพื่อลูกค้า
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี   
 
 
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024