“ลฤก” พวงหรีดที่ชวนให้ผู้คนได้ระลึกถึงผู้วายชนม์และสิ่งแวดล้อม

TEXT : กองบรรณาธิการ
 
 

 
 
Main Idea
 
  • “ลฤก” คือธุรกิจพวงหรีดเสื่อผืนหมอนใบที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ ผลงานของทายาทรุ่น 3 ผู้เข้ามาสานต่อธุรกิจโรงงานเสื่ออายุกว่า 50 ปีของครอบครัวให้ไฉไลไปมากกว่าเก่า
 
  • ลฤก พ้องเสียงกับคำว่า ระลึก อันหมายถึง การระลึกถึงผู้วายชนม์ และระลึกถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้ “ล” อย่างตั้งใจ เพื่อสื่อถึง ละ ที่หมายถึง การละ ลดขยะในสังคม สะท้อนเจตนารมณ์ “รักษ์โลก” ของพวกเขา
 
               


     "ลฤก พ้องเสียงกับคำว่า ระลึก หมายถึง การระลึกถึงผู้วายชนม์ และระลึกถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ละ หมายถึง การละ ลดขยะในสังคม”


     นี่คือ คำอธิบายตัวตนของ “ลฤก” ธุรกิจพวงหรีดเสื่อผืนหมอนใบที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ ผลงานของ “นนทิกานต์ อัศรัสกร” เจ้าของธุรกิจ “ลฤก” และ agoradesignmat  ทายาทรุ่น 3 ผู้มาสานต่อธุรกิจโรงงานเสื่ออายุกว่า 50 ปีของครอบครัวให้ไฉไลไปมากกว่าเก่า
               




     “ธุรกิจนี้เริ่มต้นมาจากการที่เราอยากพัฒนาธุรกิจเสื่อของครอบครัวให้ทันสมัยขึ้น มีฟังก์ชั่นที่ตอบสนองการใช้งานของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น จึงเริ่มเอามาปรับรูปแบบเป็นพวกกระเป๋า ของตกแต่งบ้าน ผนัง  รวมถึงพวงหรีด โดยได้ไอเดียจากตอนที่ไปงานศพ แล้วเห็นว่าคนเริ่มไม่ซื้อพวงหรีดที่เป็นดอกไม้กัน  แต่สั่งพวกพวงหรีดพัดลมและอื่นๆ มองว่าน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่ไม่เป็นขยะ แล้วทางวัดหรือเจ้าภาพก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ทีนี้เลยมาคิดว่า เสื่อของเรามันก็อยู่คู่วัด คู่บ้านของคนอยู่แล้ว ก็น่าจะมาเป็นพวงหรีดได้เช่นกัน ก็เริ่มจากตรงนั้น” นนทิกานต์ เล่าที่มาของธุรกิจ ที่ทายาทรุ่น 3 อย่างเธอได้คิดสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อต่อยอดธุรกิจครอบครัวให้ไปได้ไกลกว่าเก่า
 



 
  • ดีไซน์จากสิ่งที่มี สู่คอนเซ็ปต์พวงหรีดเสื่อผืนหมอนใบ


     หลังได้ไอเดีย นนทิกานต์ ก็เริ่มศึกษาตลาดพวงหรีดเพื่อทำความเข้าใจในธุรกิจนี้มากขึ้น  รวมถึงปรึกษาผู้ใหญ่คนใกล้ตัว เพื่อหาความเหมาะสมลงตัว เพื่อให้พวงหรีดน้องใหม่ได้กลายเป็นตัวเลือกของตลาดพวงหรีด โดยใช้เสื่อปกติที่อยู่ในแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งมีการดีไซน์ให้ทันสมัย แปลกตาไปจากเสื่อยุคเก่า เอามาพับจีบให้กลายเป็นวงกลมเหมือนพวงหรีดที่คุ้นตาใครหลายคน และด้วยความที่อยากให้เกิดขยะน้อยที่สุดจึงเลือกหาสิ่งที่ใช้ทดแทนโครงมาเป็นโครงเบาะอาสนะ ซึ่งเป็นเสื่อที่บุฟองน้ำด้านใน แซมดอกไม้แห้งให้สวยงาม จนได้เป็นพวงหรีดเสื่อผืนหมอนใบ หรือเสื่อ 1 ผืน และอาสนะ 1 ที่ ที่ทำร้ายโลกน้อยลง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้มากขึ้น


     “ด้วยความที่เราทำพวงหรีดเสื่อ จึงอยากให้มันมีประโยชน์ไม่ว่าจะกับวัดหรือกับเจ้าภาพ ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการกลับไปที่วัดต่างๆ ที่เราได้ส่งพวงหรีดออกไป เพื่อดูว่ามีการเอาของเราไปใช้ประโยชน์อะไรอย่างไรบ้าง แต่พบว่า ไม่เจอเลย  พอสอบถามไปก็ได้คำตอบว่า พวงหรีดของเราเป็นพวงหรีดที่ส่วนใหญ่เจ้าภาพจะเอากลับบ้านไปด้วย เพื่อไปใช้งานต่อ  ซึ่งเราก็ยังดีใจอยู่ดี เพราะไม่ว่าจะเป็นกับวัดหรือเจ้าภาพถ้าได้ใช้ประโยชน์ เราก็ยินดีอย่างยิ่ง” เธอบอก  
 


 
  • ระลึกถึงผู้วายชนม์ และระลึกถึงสิ่งแวดล้อม


     หลังจากทำสินค้าออกมาและใช้ช่องทางออนไลน์ในการเปิดตัวให้เป็นที่รู้จัก ทั้งผ่านเฟซบุ๊กและแอปพลิเคชั่นไลน์ ชื่อของ “ลฤก” ก็เป็นที่รู้จักและแชร์ต่อในเวลาอันรวดเร็ว หนึ่งในความน่าสนใจของพวกเขา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ด้วย นั่นคือ ลฤก  ที่นอกจากจะตั้งใจให้พ้องเสียงกับคำว่า ระลึก ซึ่งหมายถึง การระลึกถึงผู้วายชนม์ และระลึกถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ยังเน้นใช้ตัว “ล” เพื่อสื่อถึงการ ละ ที่หมายความถึง การละ ลดขยะในสังคม นั่นเอง


     “จริงๆ ธุรกิจครอบครัวของเราทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมา 20-30 ปีแล้ว เพราะว่าตัวเสื่อพลาสติกเราผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์ มันจึงเป็นการนำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ แต่ด้วยเพราะช่วงนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมเริ่มเป็นกระแสขึ้นมา และทุกคนเริ่มเล็งเห็นถึงปัญหาของขยะที่มากขึ้นทุกวัน รวมถึงสภาพแวดล้อมที่แย่ลง อย่างที่ทุกคนก็รู้สึกได้ในตอนนี้  ก็เลยเป็นไอเดียที่เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราพอจะช่วยอะไรโลกได้บ้าง จึงมาทำเรื่องนี้ ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดีกว่าที่คาดไว้ด้วยซ้ำ อาเพราะด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม และความแปลกใหม่ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน คนจึงค่อนข้างยอมรับ และให้ความสนใจมาก” เธอเล่า




     นอกจากการทำพวงหรีดที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้แล้ว ลฤกยังมีการตอบแทนสู่สังคม ด้วยการที่ทุกการขายพวงหรีด 1 พวง  ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1,400 บาท จะมีการแบ่งรายได้ 100 บาท บริจาคให้กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็นมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพวกเขา 
               

     “ไอเดียนี้ไม่ได้มีอะไรลึกซึ้งมากมาย มันเกิดจากการที่เราอยากช่วยเหลือเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่ก็คิดว่าเราเป็นแค่แบรนด์เล็กๆ อาจช่วยอะไรได้ไม่มาก แต่เราสามารถหาคนที่มีมือที่ใหญ่กว่าในการทำเพื่อสิ่งแวดล้อม มาช่วยเราได้ ก็ไปเป็นส่วนร่วมในการที่จะสนับสนุนให้เขาได้ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม” เธอบอกมุมคิด
                 


 
  • ต่างคนต่างความคิด แต่เพียงแค่ได้ทำก็เท่ากับช่วยโลกแล้ว


     หนึ่งในความท้าทายของการทำธุรกิจ คือวันนี้ทุกคนอินกับเรื่องรักษ์โลกมากขึ้นก็จริง แต่ต่างคนต่างความคิด  เพราะวันนี้มีวิธีดูแลโลกมากมายและหลากหลาย ซึ่งอาจทำให้หลายคนเห็นไม่ตรงกันได้  ซึ่งส่งผลกับธุรกิจที่ทำเรื่องรักษ์โลกไปด้วย
               

     “อย่างของเราบางคนก็บอกว่ารักษ์โลกตรงไหน ยังไงมันก็เสื่อพลาสติกอยู่ดี อย่างดอกไม้พวกนี้ก็กลายเป็นขยะ ซึ่งเราไม่เคยปิดบังว่าเราคือเสื่อพลาสติก แต่เป็นเสื่อที่ผลิตมาจากพลาสติกที่ใช้แล้ว เพราะฉะนั้นเราต่ออายุการใช้งานพลาสติกให้มันไม่เป็นขยะเร็วขึ้น ซึ่งมองว่ามันก็เป็นทางออกหนึ่งที่สามารถช่วยลดการเกิดขยะได้ แต่อย่างไรทุกอย่างในท้ายที่สุดมันก็ต้องกลายเป็นขยะอยู่ดี  เพียงแต่เราช่วยลดปริมาณขยะ  และไม่ก่อให้เกิดขยะเพิ่มขึ้นจากการใช้พวงหรีดในแต่ละวันเท่านั้นเอง”
               


 
  • ไม่ใช่แค่ต่อยอดธุรกิจครอบครัว แต่ต้องทำให้ดีกว่าเก่า               


     การเป็นทายาทรุ่น 3 ที่มาสานต่อโรงงานเสื่อของครอบครัว นำมาซึ่งความกดดันมากมาย นนทิกานต์ บอกเราว่า ในวันที่ตัดสินใจมาช่วยธุรกิจครอบครัว เธอบอกกับตัวเองว่า ถ้าตั้งใจมาทำแล้วต้องทำให้ดีที่สุด  สิ่งที่เธอเลือกทำจึงไม่ใช่แค่การสานต่อธุรกิจ หรือทำในสิ่งเดิมๆ เหมือนที่ครอบครัวเคยทำผ่านๆ มา แต่คือการต่อยอดให้ธุรกิจสามารถอยู่ได้ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปในวันนี้ด้วย


     “ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ธุรกิจก็อาจจะมีอายุของมันที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ไปได้ตลอดกาล ธุรกิจเราเองอยู่มาแล้ว 50 ปี ในวันนี้อาจจะไม่ได้ดีเท่าเก่าแล้ว ฉะนั้นมันจึงไม่ใช่แค่การสานต่อ หรือทำเหมือนๆ เดิม แต่ต้องทำให้มันดีขึ้นด้วย การเป็นทายาทรุ่นที่ 3 น่าจะต้องมีความกดดันกันทุกคน เชื่อว่าการที่มาช่วยธุรกิจครอบครัว เราก็ต้องมีความเข้าใจ ความอดทน  แล้วก็การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ตอนแรกๆ มีปัญหาแน่นอนเพราะการเป็นคนที่เกิดมาคนละยุค คนละสมัย มันมีความคิดที่แตกต่างกันออกไป สิ่งที่เขาคิดไม่ได้ผิด แต่ไม่เข้าหูเราตอนนี้ สิ่งที่เราคิดตอนนี้ก็ไม่ได้ผิด เพียงแต่ไม่เข้าหูเขา ฉะนั้นมันจึงอยู่ที่การสื่อสารแล้วมาเจอกันตรงกลางมากกว่า ซึ่งด้วยความที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ เราก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า สิ่งที่เราพูด ไม่ได้พูดแค่เพื่อจะเอาชนะ แต่พูดเพื่อที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวของเราดีขึ้น ถ้าจุดมุ่งหมายคือจุดเดียวกัน สุดท้ายทุกคนก็จะยอมรับได้เอง” เธอบอกในตอนท้าย
               
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024