ใช้ความคิดให้มาก ออกจากท่าเล่นเดิมๆ สูตรฝ่าวิกฤตฉบับ Creative Marketing

TEXT : กองบรรณาธิการ






Main Idea
 
  • ในยุควิกฤตผู้ประกอบการต้องรัดเข็มขัด ใช้เงินให้ฉลาด ใช้ความคิดให้มาก และต้องออกจากท่าเล่นเดิมๆ เพื่อไปสู่โอกาสใหม่ๆ โดยใช้พลังของความคิดสร้างสรรค์ไปทำให้เกิดรายได้ไม่ใช่การโฆษณาสินค้า
 
  • บริษัทขนาดใหญ่ ใช้คนจำนวนมาก จ่ายค่าจ้างแพงๆ แถมถูกคลื่นความเปลี่ยนแปลงดิสรัปต์จนปรับตัวไม่ทัน อาจต้องลืมความสำเร็จในอดีต เพราะบางครั้ง การล้มแล้วสร้างใหม่ อาจจะดีกว่าทรานส์ฟอร์ม
 
  • ข้อดีของวิกฤตคือการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนความคิด แก้ปัญหาภายใต้ข้อจำกัด ซึ่งหากรับมือได้ก็อาจเจอโอกาสในวิกฤตก็เป็นได้




     ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ และพิษ COVID-19 ที่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดลงในวันไหน ในช่วงที่กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง การทำการค้ายากลำบากขึ้น บีบบังคับให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรับมือ และอยู่ให้รอดท่ามกลางความท้าทายนี้






     ในมุมมองของ “ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์” CEO  วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งโซลูชั่น แถวหน้าของเมืองไทย เขาเชื่อว่า นี่เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้ใช้พลังของ “ความคิดสร้างสรรค์” (Creative) ไปทำให้เกิดรายได้ ไม่ใช่แค่การโฆษณาขายสินค้าเหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไป
 






     ใช้พลัง
Creative สร้างธุรกิจให้เกิดรายได้


      “เวลาเกิดไครซิส (Crisis)  ให้ลืมเรื่องแบรนด์ไปก่อน แบรนด์เป็นการเปลี่ยนความคิดคนให้คนรู้สึกดีกับเรา ซึ่งกว่าจะเห็นผลมันใช้เวลานานและไม่ทำให้เกิดรายได้ ผมกลับมองว่า ในภาวการณ์แบบนี้เราต้องเน้นมาร์เก็ตติ้ง คือทำอะไรก็ได้ที่มันได้เงินเข้ามาก่อน เป็นการเอา Creative ไปใช้ในการทำตลาดเพื่อให้เกิดรายได้ ไม่ใช่เอา Creative ไปใช้ทำงานโฆษณา”


     เขาสะท้อนมุมคิด ผ่านสายตาของนักการตลาดดิจิทัล ที่เชื่อในพลังของคำว่าสร้างสรรค์ และมั่นใจว่าถ้าผู้ประกอบการเลือกใช้ให้เป็นก็จะสามารถพลิกวิกฤตที่เจอ ให้กลายเป็นโอกาสขึ้นมาได้
 

     “การที่จะทำให้เกิดกระแสเงินสดในช่วงเวลานี้ ต้องกลับมาดูสินทรัพย์ (Resource) ที่เรามี อะไรบ้างที่พอจะเทิร์น กลับมาเป็นรายได้  และมีวิธีขายอะไรแปลกๆ พิสดารกว่าท่าปกติบ้างหรือไม่ เป็นการเอา Creative มาใช้ในมุมนี้”
 




     
     ใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์ที่สุด



     เขายกตัวอย่าง Fly Now แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นที่เจอวิกฤตในปี 2540 แต่สามารถพลิกวิกฤตด้วยการใช้โกดังสินค้าที่มีเป็นที่ระบายสินค้า จนก่อเกิดเป็นธุรกิจใหม่เอาท์เล็ทจำหน่ายสินค้าได้ในเวลาต่อมา  


     “การเทิร์นเอาโกดังเก็บของมาเป็นที่ขาย ทำให้ไม่ต้องไปเสียค่าเช่าอะไร แล้ววิธีทำโฆษณา ออกไปชานเมือง ก็แค่ทำป้ายบอกว่าเซลส์ลดราคา ไปซื้อที่โกดังได้ในราคาพิเศษ ซึ่งกลายเป็น Business Model ใหม่จนถึงทุกวันนี้ สำหรับผมนี่คือการเอาความ Creative  วิธีคิดสร้างสรรค์ไปพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งใช้ได้กับทุกธุรกิจ อย่างวันนี้เราขายของไม่ได้ ก็มาคิดว่านักการตลาดของเราจะเอาไปทำอะไรดีเพื่อให้เกิดรายได้ ซึ่งก็มีหลายวิธี ผมว่ามันเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต้องใช้ความคิดเยอะหน่อย และออกจากท่าเดิมๆ มองว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะเวลาเกิดไครซิสมันจะเป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีคิด และปรับตัวเพื่อรับมือ” เขาบอก


     ในยุคที่ทุกคนต่างรัดเข็มขัด เขาบอกว่า ผู้ประกอบการก็ต้องใช้เงินอย่างชาญฉลาด ซึ่งในมุมของการตลาดนั้น จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องใช้เงิน หรือใช้แต่น้อยได้ เช่น ผู้ประกอบการอาจมีเฟซบุ๊กของตัวเองอยู่ หรืออีเมลที่เก็บข้อมูลลูกค้า ก็อาจใช้วิธีส่งอีเมลหาเพื่อเสนอโปรโมชั่นใหม่ๆ  ซึ่งเป็นการทำตลาดที่ต้นทุนน้อย และช่วยผู้ประกอบการได้ในยามวิกฤต
 




     บางธุรกิจ ล้มแล้วสร้างใหม่ ง่ายกว่าทรานส์ฟอร์ม



     ในเวลาที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง หลายธุรกิจต้านทานความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ธนพล บอกเราว่า สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีคนจำนวนมาก จ่ายค่าจ้างแพงๆ แต่อยู่ในธุรกิจขาลง  แถมถูกคลื่นความเปลี่ยนแปลงดิสรัปต์จนปรับตัวไม่ทัน อาจต้องลืมความสำเร็จในอดีต เพราะบางครั้ง การล้มแล้วสร้างใหม่ อาจจะดีกว่าทรานส์ฟอร์ม


     “อย่างบางบริษัทที่ใหญ่มากๆ จ้างคนเงินเดือนมหาศาล ในขณะที่วันนี้เราทำดิจิทัล ซึ่งคนที่เก่งดิจิทัลไม่ได้มีประสบการณ์สูง แต่มันคือเด็กรุ่นใหม่ซึ่งคอสต์ไม่ได้สูงมาก ฉะนั้นถ้าผมจะสร้างอะไรผมจะสร้างจากเด็กที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้นทุนไม่แพง มันดีกว่าการใช้คนกลุ่มเดิม ถ้าผมจะเอาคนที่เงินเดือนแพงขนาดนั้นมาทำธุรกิจดิจิทัล ก็ไม่สมเหตุสมผลจริงไหม  ซึ่งกรณีแบบนี้ ล้มแล้วสร้างใหม่อาจจะดีกว่า ซึ่งการล้มไม่ใช่เขาเจ๊งนะ แต่อาจใช้วิธีดาวน์ไซส์ธุรกิจเดิมลง และสร้างของใหม่ ก็เป็นการปรับตัวแบบหนึ่ง”
 





     ดูแลสุขภาพจิต เป็นผู้นำจิตใจต้องเข้มแข็ง



     ยามที่เกิดวิกฤต ผู้ประกอบการอาจเกิดความเครียด และสภาพจิตใจอ่อนไหวมากกว่าช่วงเวลาปกติ ธนพลบอกว่า เวลาแบบนี้จำเป็นอย่างมากที่ผู้ประกอบการต้องดูแลสุขภาพจิตของตัวเองก่อน


     “เวลาเกิดวิกฤตมันเครียด ผมเข้าใจดีเพราะผมก็ทำธุรกิจ แต่เราก็ต้องวางได้ ให้มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ทุกอย่างมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นวัฏจักร ทำธุรกิจย่อมมีทั้งจังหวะที่ดีและไม่ดี จังหวะไม่ดีเราก็ต้องฝ่ามันไปให้ได้ ลองปล่อยใจให้สบายขึ้น บางทีเราอาจมองเห็นว่า มันเป็นโอกาสที่จะได้พักบ้าง ทำงานให้น้อยลงหน่อย เอาเวลามาพัฒนาทีมให้มากขึ้น  เวลาแบบนี้อย่างน้อยถ้าเจ้าของธุรกิจแข็งแกร่งพอ ทุกอย่างก็จะไปต่อได้ แต่เมื่อไรที่เจ้าของหรือผู้ประกอบการบอกว่า ไม่เอาแล้ว ไม่ไหวแล้ว ทุกอย่างมันก็จะพัง ฉะนั้นเราต้องเข้มแข็ง และฝ่าฟันมันไปให้ได้”
 

     ในวันที่ให้สัมภาษณ์ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังครุกรุ่น แต่ YDM Thailand  ก็เพิ่งไปซื้อกิจการ “MullenLowe Thailand”  ในเครือ IPG กลุ่มธุรกิจเอเจนซี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกมา เพื่อเสริมความแกร่งด้าน Branding & Creative และสร้างผลงานที่ตอบโจทย์ลูกค้า จนทำให้มีบริษัทในเครืออยู่ถึง 10 บริษัท


      ขณะที่หนึ่งในบริษัทในเครืออย่าง AVG Thailand ผู้ให้บริการด้านการตลาดดิจิทัลสำหรับแบรนด์ไทยที่ต้องการบุกตลาดจีน ก็เพิ่งเจอวิกฤตอย่างจัง จากสถานการณ์ที่ลูกค้าเท่ากับศูนย์ แต่พวกเขากลับพลิกวิกฤตโดยใช้จุดแข็งจากการเชี่ยวชาญในตลาดจีน นำสินค้าจากจีนมาขาย ซึ่งเป็นสินค้าที่สอดรับไปกับสถานการณ์ไวรัส COVID-19


      นี่คือตัวอย่างของการใช้พลังความคิดสร้างสรรค์ในการรับมือกับปัญหา และพร้อมที่จะสู้ต่อด้วยการมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ แม้เส้นทางนั้นจะสบาย หรือเต็มไปด้วยวิกฤตอย่างในวันนี้
 
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2