จับตาภาวะการแข่งขันของธุรกิจ Grocery store

 


    ภาพรวมค้าปลีกไทยในปัจจุบันยังคงให้ความนิยมกับโมเดลขนาดเล็กแบบร้านสะดวกซื้อ ในขณะที่โมเดลขนาดใหญ่ เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ตได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ และซุปเปอร์มาร์เก็ตมียอดขายต่อตารางเมตรลดลง การแข่งขันระหว่างโมเดลจึงทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้านธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการขยายข้าม segment การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าภายในร้านให้ตอบโจทย์มากขึ้น หรือการหารายได้อื่นๆ มาชดเชยการเติบโตยอดขายที่ช้าลง

    แม้ว่าตลาดค้าปลีกไทยยังเติบโตได้ดี แต่การก้าวเข้ามาแข่งขันในตลาดค้าปลีกนี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากผู้ประกอบการในตลาดนี้ต่างมีความแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญในตลาด อีกทั้งยังมีเงินทุนสูง  โดยทางเลือกหนึ่งในการลงทุนเพื่อเข้าตลาด คือ การเข้าซื้อกิจการ (M&A) การเข้ามาร่วมทุน (Joint Venture) ซึ่งอีไอซีมองว่าภาพการแข่งขันของตลาดนี้ต่อไปน่าจะเห็นดีลในอุตสาหกรรม Grocery Store มากขึ้น


 
    โมเดลขนาดเล็กอย่างร้านสะดวกซื้อยังเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด 

    ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2009-2013) ยอดขายของร้านสะดวกซื้อไทยนั้นเติบโตกว่า 14% ต่อปี ในขณะที่โมเดลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ตมียอดขายและสาขาเติบโตพอๆ กันที่เพียง 6% ต่อปีซึ่งช้ากว่าโมเดลขนาดเล็กอยู่มาก โดยปัจจัยสนับสนุนของโมเดลขนาดเล็กนั้นมาจากความนิยมของผู้บริโภคที่ชอบความสะดวกสบายมากขึ้น ผู้ประกอบการในตลาดค่อนข้างกระตือรือร้นในการทำโฆษณา เพิ่มความหลากหลายของสินค้า และลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างโมเดลซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อให้ลดลงโดยการเพิ่มอาหารพร้อมทานหรือแม้แต่อาหารปรุงสด ยิ่งทำให้ร้านสะดวกซื้อสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น 

    อย่างไรก็ตามการเปิดสาขาของโมเดลร้านสะดวกซื้อยังคงเติบโตที่เพียง 7% ต่อปี แสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ผู้ประกอบการหลายรายยังคงสามารถเพิ่มเติมการลงทุนในโมเดลขนาดเล็กแบบนี้ได้อีกมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นผู้ประกอบการจาก segment อื่นๆ เร่งขยายสาขาโมเดลร้านสะดวกซื้อกันอย่างคับคั่ง

 


    จับตามองซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ยอดขายต่อตารางเมตรไม่เติบโตเท่าที่ควร 

    ข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ที่เกิดกับไฮเปอร์มาร์เก็ตในด้านกฎหมายผังเมืองและการหาพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นไปได้ยากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายที่มีลักษณะเป็น multi-format ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจจากการเน้นขยายแต่ไฮเปอร์มาร์เก็ตมาเป็นการเน้นเพิ่มพื้นที่ขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตแทนเพื่อจะได้เพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่นำเสนอได้มากขึ้น

   จึงทำให้เห็นว่าพื้นที่ขายโดยรวมของซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้นเติบโตสูงที่ 8% ต่อปี ซึ่งเติบโตเร็วกว่าตัวจำนวนสาขาและยอดขาย ส่งผลให้ยอดขายต่อตารางเมตรของซุปเปอร์มาร์เก็ตเติบโตติดลบที่ 7% ต่อปี ถึงแม้ยอดขายต่อตารางเมตรของซุปเปอร์มาร์เก็ตยังสูงกว่าไฮเปอร์มาร์เก็ตอยู่ถึง 20% (ระหว่าง 117,000 บาทต่อตารางเมตรของไฮเปอร์มาร์เก็ต และ 141,000 บาทต่อตารางเมตรของซุปเปอร์มาร์เก็ต) ซึ่งเป็นผลจากการขายสินค้าพรีเมี่ยมและราคาสูงกว่า

   แต่ก็เป็นที่น่าจับตามองอย่างมากว่าถ้าผู้ประกอบการในกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ตยังเน้นขยายสาขาและขนาดของซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคที่หันไปชื่นชอบความสะดวกสบายและความเข้าถึงได้ง่าย โดยการปรับเปลี่ยนสินค้าที่นำเสนอให้ตอบโจทย์ในลักษณะของความสะดวกสบายและมีอาหารพร้อมทานมากขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้าและเพิ่มยอดขาย segment ซุปเปอร์มาร์เก็ตก็อาจจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในด้านยอดขายและผลกำไรมากที่สุด  
 


    โมเดล Cash & Carry ยังน่าสนใจลงทุนเพราะเติบโตตามกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมโรงแรม ร้านอาหาร และจัดเลี้ยง (Hotel Restaurant และ Catering หรือ HoReCa)  แต่ยังมีผู้เล่นในตลาดน้อยราย 

    โมเดล Cash & Carry นั้น นอกจากจะเติบโตได้ตามตลาด traditional trade ที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยแล้ว ยังคงมีอีกกลุ่มลูกค้าหลักคือกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจ HoReCa (Hotel Restaurant และ Catering) ที่เติบโตตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดประชุมต่างๆ ในไทย ภายใน 5 ปีที่ผ่านมานั้น ขนาดของอุตสาหกรรมการจัดประชุมต่างๆ (MICE) นั้นเติบโตกว่า 8% ซึ่งเติบโตเร็วกว่าตลาด grocery store ที่เติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปีเท่านั้น และเพราะมีตลาดขนาดใหญ่และยังเติบโตได้ทำให้ผู้ประกอบการให้ความสนใจลงทุนมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเซ็นทรัลที่หันมาเปิดร้านซูเปอร์คุ้ม และซูเปอร์คุ้มขายส่ง หรือบิ๊กซีเองที่เริ่มเปิดตัวบิ๊กซีจัมโบ้ เน้นขายส่งและลูกค้าธุรกิจ HoReCa


    สมรภูมิค้าปลีกยุคต่อไปจะเป็นการแข่งขันข้าม Segment มากขึ้น การแข่งขันด้าน Product Mix และการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อหารายได้อื่นๆ 

    เช่น รายได้ค่าเช่า จากนี้ต่อไป ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่จะไม่ได้แข่งขันกันที่ราคาเท่านั้น แต่จะเป็นการเพิ่มรูปแบบร้านค้าแบบอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เทสโก้โลตัส เข้าสู่ตลาดร้านสะดวกซื้อเต็มตัวด้วยแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ “365” ที่จะเปิด 24 ชั่วโมงเหมือนกับเซเว่นอีเลฟเว่น และกำลังอยู่ในช่วงทดลองตลาด

   การปรับเปลี่ยน Product Mix ที่เน้นขายอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานมากขึ้นในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ใกล้แหล่งที่พักประเภทคอนโดมิเนียม การเพิ่มอาหารปรุงสดหรืออาหารตามสั่งในร้านสะดวกซื้อก็กำลังเป็นที่นิยมเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่มีชีวิตเร่งรีบแต่ต้องการอาหารสะอาดราคาถูก หรือการสร้างรายได้เพิ่มผ่านการเปิดพื้นที่ให้เช่าของไฮเปอร์มาร์เก็ตที่กำลังใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ไม่น่าแปลกใจที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หันมาสนใจรายได้ส่วนนี้ เพราะภายใน 3 ปีที่ผ่านมานั้นผู้ประกอบการในไฮเปอร์มาร์เก็ตสามารถสร้างรายได้ค่าเช่าเติบโตกว่า 12% ต่อปี ในขณะที่รายได้จากยอดขายสินค้าเติบโตเพียง 7% ต่อปีเท่านั้น
 


    การแข่งขันในโมเดลร้านสะดวกซื้อจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นและผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มงบประมาณด้านการตลาดและโฆษณาเพื่อดึงดูดผู้บริโภค 

    ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อหลายรายต่างก็เร่งกันโหมโฆษณาและโปรโมชั่น ทำให้ภายในปี 2013 งบประมาณด้านโฆษณาเติบโตกว่า 37% ต่อปี ผนวกกับเศรษฐกิจไทยที่ยังคงไม่เติบโตสูงเหมือนในอดีตทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคหดตัวลง ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องแข่งขันกันผ่านโปรโมชั่นซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงขึ้น ถ้าไม่ลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นผ่านการประหยัดจากขนาด หรือการควบคุมการบริหารจัดการ ผู้ประกอบการอาจจะต้องเผชิญกับการลดลงของอัตรากำไรของบริษัทได้



 
    ความสะดวกสบายกลายเป็นปัจจัยหลักของการเลือกช่องทางซื้อสินค้าประเภทอาหาร 

    ปัจจัยหลักที่ทำให้ร้านสะดวกซื้อเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้นมาจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเมื่อมีรายได้มากขึ้น ความถี่ในการเดินทางไปร้านค้าขนาดใหญ่แบบไฮเปอร์มาร์เก็ตลดลง มีการช้อปปิ้งออนไลน์ในหมวดอาหารเติบโตกว่า 50% ต่อปี และความต้องการอาหารสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ง่ายมีมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการเติบโตของยอดขายอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานแช่แข็งที่เติบโตกว่า 15% เติบโตแซงหน้าอาหารและเครื่องดื่มในหมวดอื่นๆ ที่เติบโตเพียง 4-8% 



 
    ถ้าอยากลงทุนใน grocery store ไทย ทางเลือกที่ดีคือการเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือการเข้าร่วมทุน (Joint Venture) 

    อีไอซีมองว่าด้วยความเนื้อหอมของตลาด Grocery Store ที่อนาคตมีแนวโน้มจะเติบโต 7-8% ต่อปีจะยิ่งดึงดูดให้มีคนสนใจเข้ามาลงทุนในตลาด อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งตลาด Grocery Store ไทยนั้นค่อนข้างกระจุกอยู่ที่ผู้ประกอบการไทยรายใหญ่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มียักษ์ใหญ่ 2 ราย อย่างบิ๊กซีและเทสโก้โลตัส หรือเซเว่นอีเลฟเว่นใน กลุ่มร้านสะดวกซื้อ การจะเข้ามาเจาะตลาดด้วยแบรนด์ใหม่และการจะเข้าใจผู้บริโภคอย่างถ่องแท้นั้นเป็นไปได้ยากถ้าไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในสนามค้าปลีกอยู่แล้ว ดังนั้นทางเลือกที่น่าสนใจยังคงเป็นการเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือการเข้ามาร่วมทุน (Joint Venture) 

RECCOMMEND: MARKETING

ถึงยุค B2A ครองตลาด ต้องชนะใจอัลกอริทึมก่อนชนะใจลูกค้า เคล็ดลับสุดปัง Crumbl คุ้กกี้หมื่นล้าน

จากร้านคุกกี้ในเมืองเล็กๆ สู่แบรนด์ที่คนทั่วอเมริกาต่อคิวหน้าร้าน อะไรที่ทำให้ร้านคุกกี้เล็กๆ จากยูทาห์ กลายเป็น "คุ้กกี้พันล้าน" ด้วยยอดวิว 3.4 พันล้านบน TikTok และรายได้รวมแตะหลักพันล้านดอลลาร์?

รู้จัก ‘Fast Fashion Food’ เทรนด์ใหม่ธุรกิจอาหาร ไม่เน้นขยายสาขา เน้นเพิ่มแบรนด์ ทางรอดยุคเศรษฐกิจแย่

ทำอย่างไร? ให้ธุรกิจเติบโตไปต่อได้ แม้ยามเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ ชวนมาทำความรู้จักกับเทรนด์ใหม่ธุรกิจร้านอาหาร “Fast Fashion Food” กัน

กระดาษห่อของขวัญรูป “ขนมปัง” ไอเดียแพ็คเกจจิ้งสุดคิ้วท์! กินไม่ได้…แต่ทำให้อยากกินได้

มาดูการเปลี่ยนกระดาษห่อของขวัญธรรมดาให้เป็นก้อนขนมปังน่ากิน เมื่อถูกนำไปห่อเข้ากับสิ่งของต่างๆ กัน