ก่อนหน้านี้คือความหวังของ SME แล้ววันนี้ตลาด CLMV ยังดีอยู่ไหม?




Main Idea
              
 
  • EIC (Economic Intelligence Center) คาดการณ์เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2563 จะชะลอตัวลงอย่างมีนัย ท่ามกลางผลกระทบโดยตรงของสถานการณ์โควิด -19 เศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย และความเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ
 
  • โดยมองว่าการฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2563 จะเป็นไปอย่างช้าๆ ขณะที่การฟื้นตัวที่คาดไว้ในปี 2564 จะมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ฐานที่ต่ำและนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง ตลอดจนความยาวนานของสถานการณ์โควิด-19 



       ก่อนหน้านี้ใครๆ ก็ว่า CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) คือตลาดแห่งความหวังของ
ผู้ประกอบการส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่อยากชิมลางสยายปีกไปต่างประเทศ เพราะเศรษฐกิจ CLMV ยังเติบโตได้ดีท่ามกลางสถานการณ์สงครามการค้าโลกตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
              

      แต่ทว่าทันทีที่พายุไวรัสโควิด-19 พัดผ่าน ตลาดที่เคยหอมหวานกลับเปลี่ยนแปลงไป ในวันนี้ประเทศแห่งความหวังกำลัง “บอบช้ำ”
              




      ส่องสุขภาพเพื่อนบ้านหลังเผชิญกับไวรัส



      EIC ประเมินว่าผลกระทบจากโควิด -19 จะทำให้เศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มชะลอตัวลงค่อนข้างมาก จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก (Deep Global Economic Recession) และอุปสงค์ภายในประเทศเองก็ชะลอตัวลงจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) และการจ้างงานที่ชะลอตัว รวมถึงความเสี่ยงรายประเทศ (Country-Specific Risks) ที่แต่ละคนต่างต้องเผชิญในปีนี้อีกด้วย


      โดยเฉพาะ “กัมพูชา” ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ Everything But Arms (EBA) บางส่วนจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2563 นี้ ขณะที่ “ลาว” มีความเปราะบางจากฐานะการคลังและระดับหนี้ต่างประเทศในระดับที่สูง ส่วน “เมียนมา” เองกำลังเผชิญความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2563 ปิดท้ายกับ “เวียดนาม” ที่เจอผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลกที่สำคัญในหลายอุตสาหกรรม


      EIC จึงปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ในปี 2563 ลงอย่างมีนัย โดยเศรษฐกิจกัมพูชาจะชะลอตัวลงค่อนข้างรุนแรงโดยจะเติบโตเพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ซึ่งเป็นการเติบโตที่ช้าที่สุดในรอบ 11 ปี ในขณะที่เศรษฐกิจลาว เมียนมา และเวียดนาม  จะเติบโตเพียง 2.0 เปอร์เซ็นต์ 2.4 เปอร์เซ็นต์ และ 3.0 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ช้าที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษของประเทศทั้งสามเช่นกัน อย่างไรก็ดี คาดว่า กลุ่มเศรษฐกิจ CLMV จะกลับมาขยายตัวได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนหน้าที่ 5 -7 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี อีกครั้งในปี 2564 หากการระบาดของโควิด -19 ในประเทศเหล่านี้และประเทศคู่ค้าสำคัญถูกควบคุมได้และสงบลง
 



              
      เมื่อประเทศที่พึ่งพิงการส่งออก ถูกล็อกจากวิกฤต


      เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศในกลุ่ม CLMV มีการส่งออกที่สำคัญอยู่ในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันภาคการส่งออกของกลุ่ม CLMV ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตของภูมิภาคจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ท่ามกลางสถานการณ์โควิด -19 และการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกจากมาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการระบาดในประเทศต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและการค้าโลกหดตัวในปี 2563 แน่นอนว่าจะกระทบโดยตรงต่อภาคส่งออกอย่างเลี่ยงไม่ได้


      โดยเศรษฐกิจเวียดนามและการจ้างงานจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากพึ่งพาภาคส่งออกสินค้าในระดับสูง โดยมูลค่าส่งออกสินค้าของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน 99 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ทั้งนี้ตัวเลขส่งออกล่าสุดของเวียดนามในเดือนเมษายนเริ่มส่งสัญญาณหดตัว -3.5 เปอร์เซ็นต์ (YOY) 


      รองลงมาคือกัมพูชาที่ภาคส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 46 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP โดยทั้งเวียดนามและกัมพูชาจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการหดตัวที่รุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงการชะลอตัวอย่างมากของเศรษฐกิจจีน เนื่องจาก 3 กลุ่มประเทศนี้เป็นตลาดส่งออกสำคัญมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด
ขณะที่เศรษฐกิจลาวและเมียนมาที่แม้สัดส่วนภาคส่งออกต่อ GDP (27 เปอร์เซ็นต์ และ 16 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ) ไม่สูงมาก แต่ก็น่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกตามการลดลงของรายได้ในประเทศคู่ค้าเช่นกัน โดยตัวเลขส่งออกเมียนมาในเดือนเมษายนหดตัวถึง 17.6 เปอร์เซ็นต์ (YOY) สำหรับสินค้าส่งออกที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากคือเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของกลุ่มประเทศ CLMV ไปยังสหรัฐฯและยุโรป โดยการหดตัวของการส่งออกอาจมีความรุนแรงยิ่งขึ้นหากมาตรการ Lockdown ในประเทศเหล่านี้ถูกขยายเวลาออกไปนานขึ้น 
 


              

      ท่องเที่ยวหยุดชะงัก กระทบรายได้ประเทศ


      โควิดไม่ได้พ่นพิษใส่แค่ภาคการส่งออก ทว่ายังเล่นงานภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย โดย EIC รายงานว่า จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะลดลงตามการท่องเที่ยวทั่วโลกที่หยุดชะงัก ซึ่งผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีค่อนข้างสูงต่อเศรษฐกิจของกัมพูชาและเวียดนาม เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP สูงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ และ 11 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ


      ขณะเดียวกันผลกระทบของภาคการท่องเที่ยวต่อลาวและเมียนมาจะลดหลั่นลงมาตามสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP ที่ไม่สูงมากนัก (4 เปอร์เซ็นต์ และ 3 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ) โดยตัวเลขล่าสุดสะท้อนการหดตัวที่รุนแรงของตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในเวียดนาม (-68 เปอร์เซ็นต์ และ -98 เปอร์เซ็นต์ YOY ในเดือนมีนาคมและเมษายน) และในกัมพูชา (-65 เปอร์เซ็นต์ YOY เดือนมีนาคม) สะท้อนถึงภาวะหยุดชะงักของภาคท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้


      ทั้งนี้แนวโน้มการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะมีอัตราต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ยังมีมาตรการปิดประเทศที่เข้มงวดเพื่อควบคุมโรคระบาด ขณะที่การฟื้นตัวในระยะครึ่งหลังของปีน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาที่ได้ผล โดยในระยะแรกน่าจะเป็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนหรือจีนที่ไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากนัก
 


           

     ตลาดลดความหอมหวาน เมื่อการบริโภคในประเทศชะลอตัว



      EIC รายงานต่อว่า จากมาตรการ Lockdown รวมถึงการจ้างงานและค่าแรงที่ลดลง จะส่งผลลบต่อการบริโภคภายในประเทศของกลุ่ม CLMV การชะลอตัวของเศรษฐกิจในครั้งนี้ จะต่างกับการชะลอตัวครั้งก่อนๆ เนื่องจากเศรษฐกิจ CLMV ไม่สามารถพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 65-70 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP มารองรับการชะลอตัวได้มากนัก เพราะนอกจากการระบาดของโควิด-19 จะฉุดเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนักส่งผลให้อุปสงค์จากต่างประเทศลดลงแล้ว มาตรการ Lockdown ในกลุ่มประเทศ CLMV อย่างการที่ กัมพูชาสั่งปิดประเทศทั้งหมด ขณะที่ลาว เมียนมา และเวียดนามสั่งปิดประเทศบางส่วน เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสนั้น ยังส่งผลลบต่อเนื่องไปยังการจ้างงานและรายได้แรงงานทั้งงานในประเทศและในไทย ซึ่งมีแรงงาน CLMV เข้ามาทำงานอยู่มาก


      ซึ่งนั่นเองที่น่าจะทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว หรือหดตัวลงค่อนข้างมากอีกด้วย โดยตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนเมษายนของเวียดนาม ที่หดตัวลง 26 เปอร์เซ็นต์ (YOY) สะท้อนได้ถึงความรุนแรงของผลกระทบดังกล่าวต่อการบริโภคในประเทศ
 
           

     ส่องนโยบายการเงินการคลังรับมือวิกฤต



      หลังการมาถึงของวิกฤต รัฐบาลและธนาคารกลางในกลุ่มประเทศ CLMV ได้ดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งคาดว่าจะยังใช้นโยบายในทิศทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลัง การอัดฉีดเงินเพื่อรักษาสภาพคล่อง และการปรับลดอัตราดอกเบี้ย


      อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศ CLMV ยังคงต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางการคลัง (Limited Fiscal Space) เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะลาวที่มีหนี้สาธารณะ (58 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ในปี 2562 โดยเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นหนี้ในสกุลต่างประเทศ) และการขาดดุลทางการคลัง (5.1 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP) ที่ค่อนข้างสูง นอกจากนั้นลาวยังมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพต่างประเทศ (External Stability Risk) ที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย โดย IMF คาดการณ์ว่าระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวจะสามารถรองรับมูลค่าการนำเข้าได้เพียง 1.7 เดือนในปี 2563 ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานที่ 3 เดือนอยู่ค่อนข้างมาก 


      สำหรับเวียดนามที่แม้จะมีหนี้สาธารณะที่ต่ำกว่าลาวไม่มากนัก (54.3 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ณ เดือนเมษายน 2563) แต่ในช่วงที่ผ่านมาเวียดนามประสบความสำเร็จในการลดหนี้สาธารณะลงอย่างมีนัยสำคัญ (จากที่เคยสูงถึง 63.7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2559) และยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอยู่ (0.7 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ในปี 2563 คาดการณ์โดย IMF)  ในขณะที่กัมพูชา (28.3 เปอร์เซ็นต์)  และเมียนมา (22.8 เปอร์เซ็นต์) มีหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ต่ำกว่าอย่างมีนัย
 


 
           

     ปี
2564 CLMV อาจจะกลับมาฟื้นตัว


      เมื่อพิจารณาความท้าทายรายประเทศและเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวในลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป (U-Shaped Recovery) EIC มองว่า การฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2563 จะเป็นไปอย่างช้าๆ ขณะที่การฟื้นตัวที่คาดไว้ในปี 2564 จะมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ฐานที่ต่ำและนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการคาดการณ์นี้ขึ้นอยู่กับสมมติฐานของ EIC ว่า การระบาดของโควิด -19 จะสามารถควบคุมได้ในครึ่งแรกของปี 2563 ทั้งนี้เนื่องจากความไม่แน่นอนทางด้านการระงับการระบาดของโควิด -19 ยังมีอยู่สูง การคาดการณ์จึงคงมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่พอสมควร
 






     การมาถึงของวิกฤตไวรัสที่เล่นงานเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึง แต่ผลกระทบของมันทำให้ตลาดแห่งความหวังของ SME อย่าง CLMV กำลังบอบช้ำ แต่ทว่าหากผู้ประกอบการไทยยังสามารถประคับประคองตัวเองให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ ในอนาคตอันใกล้เมื่อสงครามไวรัสสงบ และทุกอย่างฟื้นคืนกลับมา เราก็จะยังเข้าไปแสวงหาโอกาสในตลาด CLMV ได้ และไม่แน่ว่าหลังวิกฤตธุรกิจที่เตรียมความพร้อมอยู่เสมอ จะเติบโตได้ยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่า ที่สำคัญไม่ใช่แค่ CLMV แต่คือตลาดที่มีศักยภาพทั่วโลก
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024