ส่อง 'ไลฟ์สไตล์มนุษย์ยุคกักตัว’ ความเปลี่ยนแปลงที่ธุรกิจต้องจับตา

TEXT : นิตยา สุเรียมมา



 

Main Idea
 
  • จากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันต้องเปลี่ยนไปหลายอย่าง หนึ่งในนั้น คือ การเปลี่ยนมาใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน ทำงานรูปแบบ Work From Home กันมากขึ้น
 
  • ทำให้พฤติกรรมบางอย่างของผู้บริโภคต้องเปลี่ยนแปลงไป การกักตัวหยุดเชื้ออยู่บ้านส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างไรนั้น มีอะไรบ้างที่ผู้ประกอบการธุรกิจควรรู้ ไปติดตามกัน
 

 
               
     เมื่อโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของเราไป สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องรู้และปรับตัวในเวลานี้ คือ พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคกักตัว ซึ่งจากการต้องอยู่บ้านมากขึ้นเป็นเวลานานๆ ทำให้พฤติกรรมและความต้องการบางอย่างของผู้บริโภคต้องเปลี่ยนไปจากเก่า เราจะสามารถนำมาปรับใช้กับการทำธุรกิจได้อย่างไรบ้างนั้น จากการบอกเล่าและวิเคราะห์ของ “สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล” นักวางกลยุทธ์การตลาด Brand Baker Co.,Ltd. ทำให้สรุปออกมาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
 



 
  • มีความระมัดระวังกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น

     เป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ต้องเจอกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้เกิดการตื่นตัวเป็นกังวล กลัวการออกจากบ้าน การไปในสถานที่ชุมชน ทำให้เกิดการกักตุนสินค้า ผู้บริโภคยุคกักตัว จึงเป็นผู้บริโภคที่มีความระมัดระวังเตรียมตัวกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้ามากขึ้น ในส่วนนี้หากผู้ประกอบการสามารถสร้างสินค้าหรือบริการที่เข้ามาช่วยตอบความต้องการได้ เช่น การจัดส่งในรูปแบบดิลิเวอรี การจัดส่งสินค้าให้ถึงหน้าบ้านโดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องยุ่งยากเดินทางมารับสินค้าเอง หรือแม้แต่การออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบโจทย์ความกังวลให้กับผู้บริโภคได้ ก็จะทำให้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งต่อไปแม้เหตุการณ์โควิด-19 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ผู้บริโภคก็อาจมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นนั่นเอง ผู้ประกอบการจึงควรนำไปใช้เป็นบทเรียนเพื่อเตรียมตัวในอนาคตข้างหน้าที่อาจเกิดเหตุการณ์อื่นๆ ขึ้นมา
 



 
  • งานอดิเรก สิ่งใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มชีวิต

     เมื่อต้องปรับตัวมาใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ออกไปข้างนอกให้น้อยลง ทำให้ผู้บริโภคต่างมีเวลาว่างมากขึ้น ความกลัวเริ่มลดน้อยลง จึงเริ่มหันกลับมาใช้เวลาว่างเพื่อดูแลตัวเอง ทดลองทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมากขึ้น จึงไม่แปลกที่ในช่วงที่ผ่านมานั้น เราจะเห็นผู้บริโภคหลายคนเริ่มหันมาปลูกต้นไม้ ทดลองทำอาหาร และสิ่งต่างๆ เพิ่มมากขึ้น (ไปถึงการค้นพบศักยภาพบางอย่างของตัวเอง จากความจำเป็นที่ต้องลองทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น การตัดผมเป็นต้น) ถึงแม้วันหนึ่งเมื่อทุกอย่างกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมแล้ว แต่ตัวผู้บริโภคเองที่ได้เรียนรู้ ใช้เวลาว่างทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็อาจหันมาสนใจกิจกรรมและให้เวลากับงานอดิเรกมากขึ้น ในข้อนี้ผู้ประกอบการอาจนำองค์ความรู้ทางธุรกิจมาปรับรูปแบบการให้บริการ หรือเพิ่มส่วนงาน D.I.Y เปิดคอร์สเวิร์กช้อปขึ้นมา ก็อาจเป็นโอกาสให้ธุรกิจเพิ่มขึ้นมาอีกช่องทางหนึ่งก็ได้
 



 
  • ค้นพบศักยภาพใหม่ๆ ของตัวเอง
               
     จากที่ต้องติดอยู่กับบ้านนานๆ กิจกรรมบางอย่างที่เคยออกไปทำได้ ก็ทำไม่ได้ ทำให้ผู้บริโภคบางคนได้ค้นพบศักยภาพใหม่ๆ ของตัวเองด้วย ยกตัวอย่างเช่น การตัดผม เป็นต้น เมื่อร้านทำผมปิด ไม่สามารถไปตัดได้ ทำให้ผู้บริโภคหลายเริ่มฝึกหัดมาเป็นช่างผมด้วยตัวเอง สินค้าบางชนิดที่เกี่ยวข้องจึงขายดี เช่น ปัตตาเลี่ยนตัดผม ในข้อนี้ผู้ประกอบการสามารถจับตาเทรนด์ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคได้เป็นช่วงๆ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยอาจเข้าไปดูได้ง่ายๆ เบื้องต้นจากเครื่องมืออย่าง Google Trend เพื่อค้นหาความสนใจของผู้บริโภคในแต่ละช่วง และอาศัยจับจังหวะเวลาและโอกาสให้ดี ก็อาจสร้างโอกาสเพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจได้ ซึ่งแม้ในช่วงนี้เริ่มมีการคลายล็อกผ่อนปรนให้เปิดสถานที่และกิจการบางอย่างขึ้นมาได้แล้ว แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ว่าทุกอย่างอาจกลับมาวนลูปเหมือนเดิมได้อีก ตราบที่ยังไม่มีบทสรุปออกมาอย่างชัดเจนว่าสามารถจัดการกับไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว
 



 
  • ปรับตัวอยู่กับสภาพแวดล้อมต่างๆ และข้อจำกัดได้มากขึ้น
               
     เมื่อทุกอย่างไม่สามารถออกไปทำได้เหมือนเดิม ผู้บริโภคต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ระวังดูแลรักษาความปลอดภัยของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปได้อย่างปกติมากขึ้นด้วย เช่น การปรับตัวทำงานอยู่บ้าน การสื่อสารกันผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ในข้อนี้ผู้ประกอบการธุรกิจอาจสามารถนำแนวคิดมาปรับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของตนได้ ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมที่พักจากที่รองรับนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว อาจลองปรับรูปแบบบริการให้เอื้อต่อคนทำงานมากขึ้นด้วยการเปิดให้บริการรายวัน 8 -10 ชั่วโมง สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนบรรยากาศจากทำงานอยู่บ้านอย่างเดียว สร้างรูปแบบประโยชน์ได้หลากหลายจากธุรกิจที่มีอยู่ นอกจากตอบสนองผู้บริโภคได้มากขึ้น ยังเป็นการปรับตัวและสร้างโอกาสให้กับธุรกิจเพิ่มมากขึ้นด้วย
 



 
  • เหงา อยากเจอสังคม
               
     เมื่อต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ก็มากมายแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่สามารถกลับมาได้เป็นปกติ จากที่เคยสนุกกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมา ก็อาจเริ่มเปลี่ยนเป็นความเหงา ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงหันมาใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์กันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบที่ใช้ออนไลน์เป็นช่องทางสื่อสารไปยังผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นตอนนี้มีโซเซียลมีเดียที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก คือ Tiktok ผู้ประกอบการอาจพลิกแพลงนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตน เพื่อให้ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมอีเวนต์สื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ในเมืองนอกที่มีการจัดคอนเสิร์ตกลางแจ้งโดยให้ผู้ชมนั่งอยู่ในรถของตัวเองเพื่อเว้นระยะห่าง หรือการจัดไลฟ์เล่นดนตรีสด โชว์บรรยากาศของร้านผับบาร์หลายแห่ง เพื่อให้ลูกค้าได้คลายคิดถึง ทำให้ถึงแม้ไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมร่วมด้วย แต่ก็สามารถร่วมสนุกและสังสรรค์ด้วยกันได้ จนเกิดความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์และธุรกิจที่ไม่ทอดทิ้งกัน และยังทำให้การสื่อสารไม่ขาดหายไปด้วย
 



 
  • ละเอียด ใส่ใจข้อมูลมากขึ้น
               
     จากการมีเวลาว่างมากขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคยุคกักตัวปรับตัวเป็นคนใส่ใจในข้อมูล ช่างเลือก และเปรียบเทียบรายละเอียดข้อมูลต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นหากผู้ประกอบการสามารถสร้างตัวเองให้โดดเด่น แตกต่างขึ้นมาได้ ในจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้ได้รับความสนใจ และเข้าตาผู้บริโภคยุคกักตัวได้มากขึ้นนั่นเอง               
 



 
  • พร้อมออกไปจับจ่ายใช้สอย เมื่อทุกอย่างปลดล็อก
               
     เป็นธรรมดาเมื่อต้องกักตัวอยู่กับบ้านนานๆ ไม่ได้ออกไปช้อปปิ้ง หรือทำกิจกรรมอะไร วันหนึ่งเมื่อสถานการณ์เริ่มคลายล็อก ผู้บริโภคที่ต้องกักตัวเองอยู่กับบ้านนานๆ จึงมีความพร้อมที่จะออกไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นกว่าปกติ เหมือนเช่นที่เราได้เห็นสถานที่หลายแห่งเริ่มกลับมาเปิดให้บริการบรรยากาศกลับมาคึกคักมากกว่าก่อนปิด เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารต่างๆ จึงนับเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจได้ทำเงินหลังจากปิดตัวมานานหลายเดือน แต่ด้วยปริมาณผู้บริโภคที่อาจเพิ่มมากขึ้นและเข้ามาครั้งละเยอะๆ ความคาดหวังก็มากขึ้นตามไปด้วย ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมตัวตัวและตั้งรับให้ดี ตั้งแต่มาตรการป้องกันความปลอดภัยจากโรคระบาด ไปจนถึงการบริหารจัดการระบบงาน การอำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภค และการสร้างความรู้สึกประทับใจต่างๆ ซึ่งหากทำได้ดี ก็ย่อมส่งผลบวกให้กับธุรกิจได้มากขึ้น ในทางกลับกันหากสร้างความผิดหวัง ก็จะส่งผลเสียและเป็นที่จดจำไปอีกนานเช่นกัน
               



 
  • อะไรที่ง่ายสะดวก ยังต้องการเหมือนเดิม
               
     ในข้อสุดท้ายนี้กับความกังวลของผู้ประกอบการหลายคนที่คิดว่าหลังจากโควิดผ่านพ้นไปแล้วนั้น รูปแบบการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปกว่าเดิมมากน้อยแค่ใดกับวิถี New Normal แบบใหม่ ในข้อนี้นั้นนักวางกลยุทธ์การตลาดแห่ง Brand Baker ได้ทิ้งท้ายว่าโดยพื้นฐานของผู้บริโภคแล้ว อย่างไรก็ต้องการความง่ายและสะดวกเหมือนเช่นเดิม  ดังนั้นหากสถานการณ์คลี่คลายลงและกลับมาเป็นปกติได้ มาตรการใดที่ยังมีความจำเป็นและเกิดประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคได้ก็อาจจะยังคงอยู่เหมือนเช่นเดิมเช่นเดียวกับรูปแบบการทำงานอื่นๆ แต่หากนำมาซึ่งความยุ่งยากเกินจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น หากร้านอาหารต้องเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ด้วยการโทรนัดจองคิวล่วงหน้าก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง เพื่อจำกัดจำนวนคน ก็อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในเวลาที่ทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติแล้ว
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024