ฉลากอัจฉริยะ! จับผิดลำไยไม่ปลอดสาร ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นทั้งคนขายและลูกค้า

TEXT & PHOTO : พิมพ์ใจ พิมพิลา





Main Idea
 
  • สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สร้างนวัตกรรมใหม่อย่างบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะที่สามารถบ่งชี้ความปลอดภัยของปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยได้สำเร็จทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงความปลอดภัยก่อนรับประทาน
 
  • สำหรับผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ก็สามารถใช้บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะนี้ในการสร้างความแตกต่างที่เหนือกว่าคู่แข่งได้อีกด้วย




     ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันล้วนต้องการอาหารที่ปลอดภัยไร้สารพิษ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราแทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพราะผู้ผลิตจำเป็นต้องใช้สารบางอย่างทำให้ผลไม้ยังคงความสวยงาม และอยู่ได้นาน เช่นเดียวกับ “ลำไย” ที่กว่าจะมาถึงมือผู้บริโภคได้นั้นก็อาจมีสารตกค้าง อย่าง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ได้มาจากกระบวนการรมควันลำไยก่อนนำออกไปจัดจำหน่าย


     เกษตรกรต้องรมควันลำไยเพื่อทำให้สีสันยังคงความสวยงามและฆ่าเชื้อราเพื่อยืดอายุผลไม้อบแห้ง เพราะโดยทั่วไปเมื่อเก็บเกี่ยวผลไม้แล้วนำออกมาไว้ข้างนอกเป็นเวลานาน ความชื้นก็จะเข้ามาและถ้ามากในระดับหนึ่งเชื้อราก็จะมีการเจริญเติบโตขึ้น แน่นอนว่าปัญหาที่ตามมาคือผลไม้ก็จะเน่าเสียเร็วนั่นเอง แต่เนื่องจากผู้ผลิตอาจจะไม่มีความรู้เพียงพอว่าควรใส่สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากน้อยเท่าไหร่ในการรมควันจึงทำให้สารนั้นตกค้างจนก่อให้เกิดปัญหาตามมา





     ดังนั้น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. จึงได้สร้างนวัตกรรมใหม่อย่างบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะบ่งชี้ความปลอดภัยปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยวิจัยและพัฒนาออกมาในรูปแบบฉลากเปลี่ยนสีสำหรับตรวจสอบปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างบนผิวผลไม้ หากว่ามีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินมาตรฐานที่กำหนด อาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างกระบวนการส่งออกจนไม่สามารถส่งออกได้ สร้างความเสียหายให้กับผู้ผลิตเป็นอย่างมาก หรืออีกกรณีหนึ่ง หากส่งไปถึงประเทศผู้ซื้อปลายทางแล้วมีการตรวจสอบพบสารตกค้างนี้ก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของคุณภาพลำไย รวมถึงผลผลิตเกษตรชนิดอื่นจากประเทศไทยอีกด้วย


     ในขณะที่ฝั่งผู้บริโภค ที่ไม่สามารถวัดสารที่อยู่ในผลไม้ได้ด้วยตาเปล่า ก็จะได้รับผลประโยชน์จากฉลากอัจฉริยะนี้ไปเต็มๆ โดยจะได้รู้ว่าลำไยที่กินเข้าไปนั้นปลอดภัยหรือไม่ เพราะเมื่อร่างกายรับสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไปมากๆ จะเกิดอาการมึนเบลอ อาเจียน หรือส่งผลรุนแรงถึงชีวิตก็ได้





     “ดร. พัชทรา มณีสินธุ์”
ผู้อำนวยการ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทยกล่าวว่า “บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะนี้มีหลักการการทำงาน คือเมื่อนำแผ่นสไลด์ไปวางไว้ที่ผลลำไย หากมีปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต่ำ ฉลากจะยังคงสีน้ำตาลเข้มไว้ แต่ถ้ามีปริมาณสารซันเฟอร์ไดออกไซด์มากสีของฉลากจะค่อยๆ จางลงจนไม่มีสี นั่นแสดงว่ามีสารเกินมาตรฐานกำหนด”


     เรียกได้ว่าเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็วและเข้าใจง่าย โดยสามารถเตือนผู้บริโภคก่อนจะตัดสินใจบริโภคลำไย อีกทั้งวิธีการเปลี่ยนสีของฉลากนี้ยังง่ายต่อการเข้าใจของคนทุกคน นอกจากผู้บริโภคจะรับรู้ถึงความปลอดภัยในการรับประทานแล้ว ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายก็จะสามารถใช้นวัตกรรมนี้ในการสร้างความแตกต่างให้เหนือกว่าคู่แข่งด้วยบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะนี้ได้อีกด้วย นอกจากนั้นเนวัตกรรมนี้ยังสามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีการรมควันสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์อื่นๆ ได้เช่นกัน เมื่อสามารถบ่งชี้ได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความออแกนิคหรือไร้สารพิษจริงก็จะทำให้ผู้บริโภคกล้าซื้อผลไม้แบบไม่ต้องกังวลถึงอันตรายที่จะตามมา



 

     สำหรับผู้ประกอบการที่อยากนำฉลากอัจฉริยะนี้ไปใช้ก็สามารถเข้าไปปรึกษาหารือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยได้เลย เพราะฉลากนี้เป็นการพัฒนาในระดับห้องปฏิบัติการหากต้องการผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องปรับปรุงสูตรและกระบวนการผลิตให้สอดคล้องเหมาะสมกับเครื่องจักรที่ใช้ผลิตต่อไปก่อนนำไปใช้จริง เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่ไม่เหมือนใครและเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการเป็นอย่างมากเพราะการที่สามารถการันตีความปลอดภัยของผลไม้ได้ ก็ถือเป็นการสร้างความน่าสนใจให้กับผู้บริโภคมากมายนั่นเอง!

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2