อสังหาฯ เอาไงต่อ! เมื่อออนไลน์จะกลายเป็น Next Normal เข้ามาพลิกโฉมธุรกิจอนาคต

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย
 
 
 

Main Idea
 
 
  • การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ รวมถึงผู้ประกอบการในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องปรับตัวและปรับกลยุทธ์เพื่อการอยู่รอดในยุคที่กระเป๋าตังค์ของผู้บริโภคเบาบางลง
 
  • มีการคาดกันว่าวิถี New Normal จะเข้ามาเป็นปัจจัยการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต แต่ก็ต้องพิจารณาว่ากระแสดังกล่าวจะเป็นความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคด้วยหรือไม่
 
  • การปรับตัวที่สำคัญซึ่งจะกลายเป็น Next Normal ของวงการอสังหาริมทรัพย์ ก็คือ การให้บริการผ่านโลกออนไลน์นั่นเอง
 
 


     ในช่วงเกือบครึ่งปีที่ผ่านมา สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทุกธุรกิจ ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ก็โดนพิษไม่ไปน้อยเพราะผู้บริโภคอยากเก็บเงินก้อนใหญ่เอาไว้ก่อน ส่งผลให้ราคาและจำนวนโครงการต่างๆ ลดลง แถมโควิด-19 ยังได้ทิ้งของฝากเป็นวิถี New Normal ที่จะกระทบไปถึงทิศทางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตอีกด้วย





     “ผศ.ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์”
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) แสดงทรรศนะในงานสัมมนาออนไลน์ Krungsri Business Talk หัวข้อ Business Implication from Covid-19, Now and Next for Real Estate & Service ว่าสิ่งที่เราเห็นชัดในตอนนี้ก็คือ คนรายได้น้อยลง ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเพราะอยากเก็บเงินก้อนใหญ่ไว้ก่อน โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ยังขายได้ในตอนนี้เป็นสินค้าที่สร้างเสร็จแล้วพร้อมอยู่


     ดังนั้น ผู้พัฒนาอสังหาฯ จึงต้องพิจารณาสินค้าที่อยู่ในมือว่า หากเป็นสินค้าใกล้จะเสร็จหรือกำลังก่อสร้างให้อดทนสร้างจนเสร็จ ก็จะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทำให้ลูกค้าสนใจได้มากขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการต้องยอมลดราคาลงมาเพื่อกระตุ้นให้สามารถปล่อยสินค้าออกจากมือเพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสเงินสด แต่หากเป็นโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง ลูกค้ายังต้องผ่อนดาวน์นานๆ และเป็นโครงการที่อยู่ในโซนการแข่งขันที่มีโครงการใกล้เคียงสร้างเสร็จแล้วพร้อมโอน จะเอาชนะได้ยาก จึงแนะนำว่าให้ชะลอโครงการไปก่อนถึงจะรอดพ้นช่วงเวลาแบบนี้ไปได้
 



 
  • กลไกลตลาดจะชนะเสมอ

     เมื่อมองถึงอนาคตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ วันนี้เรากำลังพูดกันว่า New Normal จะทำให้คนไม่ชอบอยู่คอนโดมิเนียม เพราะมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากเกินไป หลังจากนี้คนคงอยากซื้อบ้านมากกว่า หรือพูดกันว่า คนต้องการห้องที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก เพื่อให้สามารถทำงานได้


     ผศ.ดร.เกษรา ชวนตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ว่า ความต้องการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจริงๆ หรือไม่?
โดยยกสถานการณ์ตอนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ปี 2554 ที่ทุกคนพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า ปทุมธานีเป็นพื้นที่ที่จะไม่มีคนซื้อบ้านอีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นเขตที่น้ำท่วมหนักที่สุด แต่ทว่าหลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปเพียงครึ่งปีถึง 1 ปี ความต้องการซื้อที่ดินแถบปทุมธานีก็กลับมาเหมือนเดิม ราคาที่ดินกลับมาเป็นปกติ
               




     ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ผศ.ดร.เกษตรา ให้คำตอบว่า “เพราะทำเลสำคัญที่สุด” ซึ่งทำเลที่ดีหมายถึงความสะดวกของคน เช่น คนซื้อบ้านทำเลปทุมธานีเพราะให้พ่อแม่อยู่ ซื้อเพราะใกล้ทางด่วน หรือซื้อเพราะใช้เวลาเดินทางไปถึงที่ทำงานไม่นาน เป็นต้น ดังนั้นคำพูดที่ว่าคนไม่อยากอยู่คอนโดแล้ว ก็อาจเหมือนที่บอกว่าคนไม่อยากอยู่ปทุมธานีในวันนั้นนั่นเอง


     “เป็นเรื่องยากที่การ Work from Home มากขึ้น หรือความอยากอยู่ในห้องที่ใหญ่ขึ้นจะมาบดบังความจริงที่คนอยากอยู่ทำเลใกล้เมือง ใกล้ห้าง คนอยากเสียเงินค่าเดินทางวันละไม่เกิน 100 บาท หรืออยากจะใช้เวลาเดินทางไปทำงานไม่เกินครึ่งชั่วโมง ความจริงเหล่านี้สำคัญกว่า แน่นอนว่าคงจะมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบ Next Normal บ้างแต่ยังแพ้กลไกตลาด”
               




     ที่สำคัญสิ่งที่จะเอื้อต่อ New Normal หลายอย่างล้วนแล้วแต่ทำให้ต้นทุนแพงขึ้น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังคิดปรับเปลี่ยนโปรดักต์จึงต้องระมัดระวัง เพราะการสร้างที่อยู่อาศัยตามกระแส New Normal เท่ากับเปลี่ยนเซ็กเมนต์กลุ่มเป้าหมายเพราะต้องเปลี่ยนราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น ภายใต้ข้อเท็จจริงในวันนี้ คือ คนกระเป๋าตังค์บางลง รายได้ลดลง และมีหนี้มากขึ้น
 
  • ช่องทางออนไลน์ คือ Next Normal ของภาคอสังหาฯ
               
     การเปลี่ยนแปลงที่ง่ายกว่าสร้างบ้านหรือคอนโดมิเนียมเพื่อรองรับ New Normal ที่อาจเป็นเพียงกระแสแต่ไม่สามารถเอาชนะความต้องการที่แท้จริงด้านทำเลได้ ก็คือ การยกระดับการบริการ ในตอนนี้เราจะเห็นว่ามีการซื้อคอนโดมิเนียมผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งนี่เองที่อาจกลายมาเป็น Next Normal ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นได้
               




     ใช่ว่าจะสามารถปิดการขายได้บนโลกออนไลน์ได้ทันที เพราะเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจซื้อของราคาแพงที่ต้องใช้เงินกู้ถึง 30 ปีมาซื้อโดยที่ไม่มาดูของจริง แต่ ผศ.ดร.เกษรามองว่า การทำออนไลน์จะเข้าไปเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากที่ปกติจะเข้ามาดูที่โครงการจริงถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกคนจะเข้ามาดูโครงการก่อนเพื่อดูความพึงพอใจ ถ้าชอบค่อยไปบอกครอบครัวหรือพ่อแม่ให้มาดูอีกเป็นรอบที่ 2 และรอบที่ 3 จึงเข้ามาพร้อมกับธนาคารพูดคุยว่าซื้อได้จริงหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือการใช้โลกออนไลน์เข้ามาแทนที่การเข้ามาดูโครงการในครั้งแรก ซึ่งวิธีนี้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกรายสามารถทำได้เพราะต้นทุนไม่แพงขึ้นมากนักในการสร้างเครื่องมือออนไลน์ ซึ่งถ้าเทียบกันแล้วมีความคุ้มค่าและลูกค้าก็ได้รับความสะดวกสบาย วิธีนี้น่าจะเป็น Next Normal ที่เกิดขึ้นและอยู่ในระยะยาว
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024