เกาะกระแส “Circular Design” ดีไซน์เปลี่ยนโลก เพิ่มโอกาสธุรกิจสินค้าออกแบบยุคใหม่




Main Idea
 
 
  • ในยุคปัจจุบัน การสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมานั้นไม่ได้คำนึงถึงเพียงแค่การใช้งาน ความสวยงาม ความโดดเด่นหรือความคิดสร้างสรรค์ในการดึงดูดลูกค้าเท่านั้น หากแต่ต้องมาพร้อมการรับรู้และร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม
 
  • “Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์ หมุนเวียน เปลี่ยนโลก” หัวข้อสัมมนาจากงาน Demark Award 2020 ได้บอกให้เรารู้ถึงงานออกแบบและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ว่าสามารถสอดคล้องและมีส่วนร่วมรับผิดชอบไปด้วยกันได้อย่างไรบ้าง 




 
  • New Normal คืออะไร ใครบ้างที่ต้องเปลี่ยน?


      หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า New Normal หรือมาตรฐานใหม่ที่จะกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับทุกคนในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานหรือวิถีในชีวิตและไม่ใช่แค่กับบุคคลทั่วไปเพียงเท่านั้น หากแต่นักออกแบบเองก็ต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการออกแบบกับความเป็น New Normal อีกด้วย





        สำหรับงานออกแบบแล้ว สิ่งแรกที่ต้องรู้ คือ การออกแบบต้อง ยั่งยืน ยืดหยุ่น และยืนยาว เพราะการดีไซน์จะต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอยู่เสมอ และเมื่อมีสถานการณ์ใหม่เข้ามานักออกแบบก็ต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันด้วย


       โดยการออกแบบที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคหลังโควิดนั้น ก็คือ การออกแบบกราฟิกดีไซน์ที่แทบจะอยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลา ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทต่อการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เพราะนอกจากสร้างความสวยงามแล้ว ยังเป็นตัวช่วยในการสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย
 


 
  • มุ่งสู่ Circular Design การออกแบบเพื่อความยั่งยืน


        เมื่อพูดถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในอดีตเราอาจจะรู้จักเพียงแค่ Reuse - Reduce - Recycle แต่พอบรรทัดฐานเปลี่ยนกลายมาเป็น New Normal แล้ว การดีไซน์แบบ Circular Design หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมากขึ้น


       เมื่อเรามองย้อนกลับไปสิ่งที่จำกัดความคำว่า Circular Design ที่ง่ายที่สุด คือ การทำร้ายโลกให้น้อยลงที่สุด เกิดการนำทรัพยากรมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันธุรกิจหลายด้านต่างหันมาให้ความสนใจกับการออกแบบในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น แต่อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือ ธุรกิจ Food Delivery ซึ่งปัจจุบันมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น เหล่านัก Packaging Designer ทั้งหลายอาจต้องกลับไปคิดทบทวนเพื่อหาแนวทางและนวัตกรรมมาใช้กับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อบริหารจัดการดูแลเกี่ยวกับขยะบรรจุภัณฑ์มากมายที่เกิดขึ้นนี้


        นอกจากนั้นในการเป็น Circular Design นักออกแบบหรือผู้ประกอบการจะต้องตั้งคำถามให้บ่อยขึ้นว่า เราจะผลิตทำไม เพราะอะไรเราจึงผลิต ถ้าเสียสามารถซ่อมได้ไหม หรือเราสามารถยืดระยะเวลาในการใช้งานออกไปได้อีกอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด โดย Circular Design จะมีรายละเอียดที่มากกว่าแค่การนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือใช้ในรูปแบบใหม่ๆ


       ดังนั้นนักออกแบบจะต้องมองย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นก่อน ว่าจริงๆ แล้วในแต่ละขั้นตอนแต่ละอย่างนั้น เราสามารถปรับลด ลดใช้อะไรได้บ้าง หรืออะไรที่สามารถนำมาทดแทนได้ เพื่อให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากรให้น้อยที่สุด รวมถึงเกิดความคุ้มค่า และประโยชน์สูงสุด ซึ่งการที่เราเข้าใจกระบวนการและวัตถุดิบต่างๆ ได้ดี จะทำให้เกิดการสูญเสียหรือของเหลือทิ้งให้น้อยที่สุดนั่นเอง แน่นอนว่าถ้าการเริ่มต้นได้ดี และอย่างพอดี ก็จะทำให้งานชิ้นนั้นออกมาดีและมีคุณค่ามากขึ้นไปด้วย
       


        
  • เมื่อสินค้ารักษ์โลกมาพร้อมกับราคาที่แพงกว่า?


         สำหรับการออกแบบแล้ว นักออกแบบควรถามตัวเองอยู่เสมอว่าออกแบบไปเพื่ออะไร แน่นอนว่าหน้าที่ของทุกคน คือ การออกแบบเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดกิเลส เกิดความอยากได้ และต้องการในสินค้านั้นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ขัดแย้งกับแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากร หากแต่ในอีกมุมหนึ่งนักออกแบบล้วนสร้างสินค้าหรือสร้างสรรค์ผลงานขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์


        สินค้าหลายๆ อย่างทำให้มนุษย์มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แน่นอนว่าทั้งสองอย่างนั้นมีความย้อนแย้งกันอยู่ ดังนั้นนักออกแบบจึงควรมองไว้ด้วยว่าสินค้าที่ถูกสร้างขึ้น ล้วนเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องคำนึงถึง และทำให้เกิดผลกระทบ หรือส่งผลเสียต่อโลกนี้ให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานให้ได้อีกด้วย


        แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมา คือ การสร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักตามมาด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าสินค้าอื่นทั่วไปที่มีการผลิตในปริมาณมากๆ และต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนการทำงานที่มากกว่า โดยเฉพาะกับวัตถุดิบที่เกิดจากการนำมารีไซเคิลใช้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และมักทำให้ผู้บริโภคเกิดความลำบากใจในการเลือกซื้อกับการช่วยรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่กลับต้องจ่ายแพงกว่า ดังนั้นจึงเป็นอีกหน้าที่ของนักออกแบบและผู้ประกอบการธุรกิจเองที่ต้องแก้ไขในโจทย์ปัญหาข้อนี้ให้ได้ ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดความคุ้มค่ากับวัตถุดิบที่ต้องสูญเสียไป รวมถึงความคุ้มค่าในราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายไป เพราะเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบใหม่หรือเป็นวัตถุดิบที่ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งทุกอย่างล้วนมีคุณสมบัติและฟังก์ชันที่ดีอยู่ในตัวเองเสมอ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนักออกแบบและผู้ประกอบการแล้วว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์หรือนำมาสร้างสรรค์จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากน้อยแค่ไหน
 




       ในปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้มองเพียงแค่สินค้าที่มีความสวยงาม สร้างสรรค์ หรือมีการใช้งานที่สามารถสร้างความสะดวกสบายให้ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมองลึกลงไปถึงความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไม Circular Design จึงมีความสำคัญสำหรับผู้ประกอบการและนักออกแบบไทยเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าในอนาคตความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นย่อมส่งผลดีกลับมาสู่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้อย่างแน่นอน



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024