อนาคตบรรจุภัณฑ์ในโลกหลังโควิด ที่ธุรกิจอาหารต้องรู้!

TEXT :  นิตยา สุเรียมมา
 


 

Main Idea
 
  • จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิต รวมถึงความต้องการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
 
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเดลิเวอรี และธุรกิจอาหารในรูปแบบ Ready to Eat หรือพร้อมรับประทานต่างได้รับความนิยม และเพิ่มจำนวนความต้องการมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
  • ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจะต้องเตรียมรับมือเช่นไร อะไรคือ Insight หรือความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้อย่างแท้จริง ไปติดตามกันเลย  
 
 
 
               
     ความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่พูดถึงกันมาก โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ซึ่งแม้แต่ประเทศไทยเองที่มีความพอเพียงทางด้านอาหาร ก็ยังประสบปัญหาการเข้าถึงอาหาร การนำอาหารไปใช้ และการกระจายอาหารออกไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมถึงความเสถียรและปลอดภัยของอาหารด้วย ดังนั้นแล้วเพื่อให้ประชาชนได้มีโภชนาการทางอาหารที่ดี





     หนึ่งในนวัตกรรมที่สามารถเข้ามาช่วยตอบโจทย์แก้ไขปัญหาได้ ก็คือ เทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เพื่อส่งต่ออาหารที่ดีมีคุณภาพและปลอดภัยให้ถึงมือผู้บริโภคนั่นเอง โดยในขณะที่มีสถานการณ์โรคระบาดอยู่เช่นนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารจะต้องปรับตัว และเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อย่างไรไปดูกัน
 
               
     มีรายงานกล่าวไว้ว่าในช่วง 2 – 3 เดือนแรกที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 บรรจุภัณฑ์อาหารมีการเติบโตขึ้นมากกว่า 200 - 300 เปอร์เซ็นต์ โดยเติบโตมากที่ Single Use Food Containers หรือภาชนะบรรจุอาหารเพื่อนำมารับประทานที่บ้าน ซึ่งใช้กันมากในธุรกิจอาหารเดลิเวอรี เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคต่างหันมาพึ่งพิงและใช้ช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร ประชุม สัมมนา การช้อปปิ้ง ไปจนถึงการสั่งอาหารมารับประทาน โดยหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลายอย่าง
               




     ตั้งแต่การเลือกซื้อสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อ หรือคอนวีเนียร์สโตร์ใกล้บ้านแทนมากกว่าที่จะเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ทั้งเพื่อหลีกหนีคนจำนวนมาก จนถึงความสะดวกสบายในการเดินทาง ไม่ต้องขับรถออกไปไกลๆ ไปจนถึงการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ในขณะเดียวกันคอนวีเนียร์สโตร์ต่างๆ ก็ได้มีการปรับตัวมากขึ้น จากเคยขายแต่สินค้าแพ็กเล็ก ก็มีการนำสินค้าแพ็กใหญ่เหมาะกับปริมาณการใช้ในครัวเรือนมาจำหน่ายมากขึ้นเหมือนกับที่ขายตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ รวมไปถึงอาหารแบบ Ready to Eat ที่สะดวกสบาย ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย
               

     ซึ่งด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลง และต้องระวังดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ของผู้บริโภคจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วย
 



 
  •  โควิดมา แพ็กเกจจิ้งไปต่อยังไงดี?
 
     เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลต่อทั้งสุขภาพ และสภาพเศรษฐกิจ จึงทำให้รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ควรมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยบรรจุภัณฑ์ในช่วงยุคไวรัสโควิด-19 ระบาดเช่นนี้ ควรมีลักษณะเช่นไร ไปดูกัน
 
               
     1. ตอบโจทย์สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี โดยตัวบรรจุภัณฑ์ต้องสามารถปกป้องรักษาอาหารที่อยู่ได้ในได้เป็นอย่างดี รวมถึงให้ข้อมูลที่ชัดเจน สามารถสื่อสารได้ถึงคุณค่าและคุณภาพของอาหารที่อยู่ด้านในบรรจุภัณฑ์ได้
               




     2. ความปลอดภัย ต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยในการใช้งาน ทั้งความปลอดภัยในการใช้ใส่อาหาร สามารถใช้งานได้ง่าย เข้าไมโครเวฟได้ เนื่องจากมีการซื้อสินค้าแบบพร้อมรับประทานเก็บตุนไว้มากขึ้น ซึ่งบรรจุภัณฑ์ควรมีสัญลักษณ์บอกไว้ชัดเจน เข้าใจง่าย รวมถึงการระบุข้อมูลวันเดือนปีที่ผลิต วันหมดอายุที่ให้ผู้บริโภคสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ไปจนถึงอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ


     3. สร้างรอยยิ้ม ในภาวะเช่นนี้ที่ผู้บริโภคเกิดความเครียดได้ง่าย ดังนั้นนอกจากทำหน้าที่ปกป้องสินค้าไว้อย่างดีแล้ว บรรจุภัณฑ์ควรทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมให้ผู้บริโภคเกิดรอยยิ้มได้ด้วย เช่น อาจเพิ่มสติ๊กเกอร์รูปรอยยิ้มเข้าไป เขียนคำคม หรือคำให้กำลังใจส่งผ่านบรรจุภัณฑ์ออกไป ซึ่งอาจเป็นการสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า และชื่อเสียงให้กับแบรนด์ได้ด้วย





     4. ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
เป็นเทรนด์ที่ไม่เคยจางหาย และนับวันยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสำหรับผู้บริโภคในไทยและทั่วโลกในขณะนี้
 
  • บรรจุภัณฑ์อาหารติดบ้าน – เดลิเวอรีโต อานิสงส์โควิด
 
     อย่างที่กล่าวไปว่าในช่วงเพียงไม่กี่เดือนที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มมีการระบาด บรรจุภัณฑ์อาหารที่ดูจะเติบโตและได้รับอานิสงค์ไปด้วย ก็คือ บรรจุภัณฑ์อาหารแบบพร้อมรับประทาน หรือ Ready to Eat ที่มักมีติดบ้านไว้เสมอ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊ก ข้าวต้มสำเร็จรูป และบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารเพื่อจัดส่งแบบเดลิเวอรีนั่นเอง





     โดยในส่วนของบรรจุภัณฑ์อาหารแบบ Ready to Eat หรืออาหารติดบ้านที่ผู้บริโภคมักซื้อตุนเก็บไว้ที่มีการเติบโตมากขึ้น ได้แก่ ถ้วยกระดาษ, กระป๋องโลหะ, ถุงฟอยล์มีจุกเปิด-ปิด, ถุงฟอยล์ก้นตั้ง, ถาดหรือจานหลุมพลาสติกใส่อาหาร ซึ่งแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติการเก็บรักษาถนอมอาหาร และจุดเด่นวิธีการใช้งานที่แตกต่างกันไป อาทิ กระป๋องโลหะสามารถช่วยยืดอายุอาหารออกไปได้มากกว่า 3 ปี ในขณะที่ถ้วยกระดาษอาจอยู่ได้เพียง 6 เดือน ถุงฟอยล์อยู่ได้ 1 ปี แต่บรรจุภัณฑ์กระป๋องก็มีน้ำหนักมากที่สุดเช่นกัน  


     ในด้านการจัดส่งอาหารเดลิเวอรี บรรจุภัณฑ์ที่นิยมใช้กันมาก คือ พลาสติกและกระดาษ ซึ่งในส่วนนี้ผู้ประกอบการอาจลองมองหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย แต่หากพูดในส่วนของบรรจุภัณฑ์อาหารที่ดีที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการเดลิเวอรีมีดังนี้ ได้แก่ 1. ใช้ใส่หรือสัมผัสอาหารได้อย่างปลอดภัย 2. ใส่ ของเปียกได้ 3. แยกเป็นส่วนๆ เพื่อความสะดวกในการรับประทานและปกป้องอาหารให้ปลอดภัย 4. ขนาดกระทัดรัดเหมาะแก่การขนส่ง 5. เข้าไมโครเวฟได้
 




     และนี่คือ เรื่องราวและแนวโน้มของบรรจุภัณฑ์อาหารในวันนี้ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคเองต่างมีความต้องการเลือกใช้สินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น โดยหากผู้ประกอบการสามารถรับรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคและนำมาพัฒนาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนได้ ก็จะทำให้ได้รับความนิยมและการตอบรับได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาและเติมเต็มช่องว่างให้ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงโภชนาการอาหารที่ดีได้อย่างทั่วถึง ปลอดภัย และเท่าเทียมกันนั่นเอง
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2