‘จับจ่ายในท้องถิ่น-กินใกล้บ้าน’ เทรนด์ผู้บริโภคหลังไวรัส โอกาสที่ใช่ของ SME

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย





Main Idea


 
  • การหยุดชะงักด้านโลจิสติกส์และความขาดแคลนในช่วงโควิด-19 มีผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ จนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตว่างเปล่า ผู้บริโภคจึงหันมาซื้อหาของกินของใช้จากร้านค้าใกล้บ้านแทน
 
  • การผลิตและบริโภคอาหารในท้องถิ่นมีความสำคัญมากกว่าที่เคย ช่วยลดความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่ยังเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โภชนาการและสิ่งแวดล้อมให้กับทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และชุมชน ทั้งยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SME ในชุมชนต่างๆ อีกด้วย

 
               
     ในยุคที่การคมนาคมสะดวกสบาย เราได้กินอาหารจากแหล่งวัตถุดิบทั่วประเทศหรือแม้แต่นำเข้าจากต่างประเทศได้ง่ายดาย แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด เกิดการหยุดชะงักด้านโลจิสติกส์ส่งผลกระทบต่อการผลิตและจัดจำหน่าย มีการกักตุนสินค้าจนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตว่างเปล่า เราหันกลับมาหาซื้อสินค้าจากตลาดใกล้บ้านหรือร้านเล็กๆ ในชุมชนแทน ผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจในชุมชนกลับมาเข้มแข็งเหมือนเช่นในอดีตอีกครั้ง


     ผลการสำรวจของ McKinsey & Company ได้ทำวิจัยกับผู้บริโภคมากกว่า 5,000 รายใน 7 ประเทศของทวีปเอเชีย คือ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย พบสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือผู้บริโภคใส่ใจความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และเน้นซื้อสินค้าที่มาจากท้องถิ่นมากกว่าที่เคย


     ในช่วงการระบาดเกิดการเลิกจ้างในหลายๆ อุตสาหกรรม ทำให้คนทำงานจำนวนไม่น้อยตัดสินใจหวนคืนกลับบ้านเกิด จำนวนผู้คนที่อาศัยในชุมชนจึงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น คนกลุ่มนี้พร้อมสนับสนุนและเลือกความสะดวกสบายโดยการจับจ่ายให้กับร้านค้าใกล้บ้าน เงินไหลเวียนเข้าสู่กิจการในท้องถิ่น ส่งต่อเงินไปถึงเกษตรกรผู้ผลิตและครอบครัวได้มากขึ้นอีกด้วย นั่นเองที่ทำให้เป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนต่างๆ  มากขึ้น การบริโภคอาหารท้องถิ่นจึงกลายเป็นก้าวย่างใหม่ด้านความมั่นคงทางอาหารของโลกนับจากนี้



 
 
  • ปัจจัยการเลือกซื้อที่เปลี่ยนไป

     ในช่วงเวลาปกติ ปัจจัยการเลือกซื้อสินค้ามักมาจากราคาหรือโปรโมชันส่งเสริมการขาย แต่ในช่วงการระบาดเหตุผลในการเลือกซื้อแตกต่างออกไป จากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น 30 เปอร์เซ็นต์ และคนเกาหลีใต้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ซื้อสินค้าโดยพิจารณาว่าสามารถหาซื้อได้ในท้องถิ่นหรือไม่และพร้อมใช้หรือเปล่า คนญี่ปุ่น 30 เปอร์เซ็นต์และคนเกาหลี 70 เปอร์เซ็นต์ลองซื้อสินค้าจากร้านค้าใหม่ๆ ด้วยเหตุผลข้างต้น และจนถึงตอนนี้พวกเขาก็ยังไม่ได้เปลี่ยนกลับไปใช้แบรนด์เดิมหรือซื้อสินค้าจากร้านเดิมก่อนการระบาด



 
 
  • อาหารในท้องถิ่นปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากกว่า

     โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น พวกเขามุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายผ่านการออกกำลังกายและเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพ ดังนั้น เหตุผลหนึ่งที่ผู้บริโภคชอบใจในการซื้ออาหารในท้องถิ่นเป็นเพราะความสดใหม่ พืชผลถูกเก็บเกี่ยวเมื่อสุกพอดีกินในเวลาที่คุณค่าทางโภชนาการเต็มเปี่ยม


     จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการนานาชาติปี 2551 พบว่า บรอคโคลีที่นำเข้ามีวิตามินซีเพียงครึ่งหนึ่งของบรอคโคลีที่เก็บเกี่ยวในท้องถิ่น ด้วยเหตุผลที่ว่าเกษตรกรที่ส่งออกมักเก็บเกี่ยวก่อนผลไม้จะสุกเต็มที่เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ระหว่างการขนส่งไปถึงร้านค้าปลายทาง ซึ่งเป็นผลดีสำหรับร้านค้าผู้จำหน่ายแต่ไม่ดีสำหรับผู้บริโภคเท่าไรเพราะได้รับสารอาหารไม่เต็มที่


     นอกจากนี้ในกระบวนการระหว่างห่วงโซ่อุปทาน อาหารที่มีจุดสัมผัสน้อยก็มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนลดลงด้วย การบริโภคในชุมชนที่ส่งตรงจากเกษตรกรถึงผู้บริโภคหรือผ่านตัวกลางเป็นร้านค้าเพียงแห่งเดียวย่อมปลอดภัยกว่าสินค้าที่เดินทางมาไกล ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ไม่ต้องเดินทางไปไกลเพื่อสินค้าอีกต่อไป



 
 
  • สินค้าชุมชนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
               
     ทั้งกระบวนการแปรรูป บรรจุภัณฑ์ หรือการขนส่ง ล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกจุด ยิ่งระยะทางระหว่างผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภคสั้นแค่ไหนย่อมมีผลกระทบจากคาร์บอนและของเสียน้อยลงเท่านั้น นอกจากนี้การผลิตในท้องถิ่นยังสร้างความรับผิดชอบในหมู่ผู้ผลิตได้มากขึ้น เพราะนั่นคือบ้านและถิ่นที่อยู่ของพวกเขา จึงมีแนวโน้มการมีส่วนร่วมในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า


     จากการสำรวจของ Futerra พบว่าผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรถึง 96 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าการซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมหรือมีจริยธรรมจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ได้ พวกเขาจึงยอมจ่ายให้กับร้านค้าหรือสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
                

               

     จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ว่ามา ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นจะช่วงชิงตลาดนี้เอาไว้ในมือ อาศัยความเข้าใจความต้องการของคนในชุมชนเป็นอย่างดีหาสินค้าหรือบริการที่ดีมาตอบสนอง และอย่าลืมมองหาเทคโนโลยีเข้ามาบรรเทาความอ่อนแอของระบบการผลิต เช่น เพาะปลูกได้ทุกสภาพอากาศ การลดต้นทุนต่อหน่วย และเสริมความเข้มแข็งโดยเชื่อมผู้บริโภคและผู้ผลิตเข้าด้วยกัน สร้างตลาดที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย เพื่อดึงลูกค้าให้ยังใช้ซื้อและใช้บริการต่อไปในอนาคต
 
               
     ในวิกฤตไม่ได้มีแต่เรื่องร้ายๆ แม้แต่การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคบางอย่างก็เป็นโอกาสให้ SME ได้เช่นเดียวกับเทรนด์ที่เกิดขึ้นหลังโควิดของผู้คน ลองมองหาโอกาสปรับกลยุทธ์ของตัวเองให้สอดรับและตอบสนองกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนี้ ไม่แน่ว่าหลังโควิดธุรกิจของคุณอาจจะกลับมาปังอย่างที่คาดไม่ถึงก็ได้นะ
               
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024