ส่อง 5 วิธีปรับกลยุทธ์ Online Marketing ปลุกการขายแบบไม่ตกเทรนด์

TEXT : เจษฎา
 


 

Main Idea
 
 
  • ยุคนี้ธุรกิจไหนยังไม่พร้อมปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ก็ถือได้ว่ากำลังตกเทรนด์ เพราะช่องทางการขายน้อยกว่าคู่แข่งจนอาจสูญเสียยอดขายที่เคยได้รับ และโอกาสทำกำไรได้ก็ไม่เพียงพอจะเอาไปบริหารธุรกิจต่อ
 
  • หากอยากจะเดินหน้าเรื่องเกมการตลาดออนไลน์กับเขาบ้าง ลองมาดู 5 แนวทางปรับกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ ที่ไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ก็สามารถนำไปปรับใช้สร้างยอดขาย เพิ่มกำไร และสร้างการรับรู้แบรนด์ได้พร้อมๆ กัน
 
 


     ในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่ทำธุรกิจได้อย่างยากลำบากเช่นนี้ ผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมจะปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันบนโลกออนไลน์ อาจไม่สามารถสร้างกำไรได้เพียงพอที่จะจัดการต้นทุนและบริหารธุรกิจต่อไปได้ ใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเดินเกมอย่างไร ลองมาดู 5 แนวทางการทำตลาดออนไลน์ที่ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ ก็สามารถนำไปใช้ปรับตัวเพื่อเพิ่มยอดขาย สร้างกำไร และสร้างการรับรู้แบรนด์ไปได้พร้อมๆ กัน

 



            1. เน้นดิจิทัล
              

     ยิ่งนานวัน กลุ่มเป้าหมายยิ่งใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และช้อปปิ้งผ่านร้านค้าออนไลน์มากขึ้น แบรนด์ต่างๆ จึงต้องพยายามโฟกัสไปที่การประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ สร้าง Content และขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นตามไปด้วย ลองคิดดูว่าขนาดร้านค้าต่างๆ ที่ลงทุนสร้างตึก หรือเช่าร้าน ก็ยังต้องพยายามจับกลุ่มลูกค้าที่ท่องโลกออนไลน์ให้มาซื้อของที่ร้าน หรือใช้โปรโมชันร่วมกับแอปพลิเคชันส่งของ ส่งอาหาร เพื่อให้สินค้าไปถึงมือลูกค้า แล้วเราที่ก้าวเข้ามาใหม่จะไม่ทำความเข้าใจ Digital Marketing และเน้นเรื่องการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างไร จริงไหม

 



            2. มีความเห็นอกเห็นใจ 
              

     สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ส่งผลให้ทั้งผู้ประกอบการ คู่ค้า และลูกค้า ต้องคอยช่วยเหลือกันในหลายๆ ด้าน ซึ่งความโลภ ใจแคบ เห็นแก่ตัว โก่งราคา หรือพฤติกรรมเชิงลบ นับเป็นการทำลายแบรนด์ของตัวเองอย่างแน่นอน ดังนั้น สำหรับร้านค้าหรือแบรนด์ต่างๆ แล้ว นี่คือโอกาสอันดีที่เราจะได้ใช้ความคิดนอกกรอบ ความคิดสร้างสรรค์ ที่จะสร้างความแตกต่าง และความเห็นใจให้กับลูกค้าได้


     ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด แบรนด์ Bacardi บริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ของโลก ได้เปลี่ยนไลน์การผลิตเดิมไปเป็นผลิตภัณฑ์เจลล้างมือฆ่าเชื้อโควิด ซึ่งกำลังขาดตลาดอย่างรุนแรง นอกจากนั้นยังเปิดแคมเปญ #raiseyourspirits ซึ่งสามารถระดมทุนเงินได้มากถึง 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับบาร์และร้านอาหารในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด เป็นต้น

 



            3. คิดถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์
              

     ผลกระทบจากไวรัสโควิดที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการแล้ว คงไม่พ้นยอดขาย รายรับ และกำไร ดังนั้น ในกรณีที่เราไม่สามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์เดิมได้ เราจำเป็นต้องปรับกระบวนการผลิต หรือเลือกขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้นๆ แทน เช่น ช่วงต้นการระบาดของไวรัสโควิด ผู้ประกอบการหลายๆ รายที่ปรับตัวเร็ว ก็จะจำหน่าย หน้ากากผ้า เจลล้างมือ แอลกอฮอล์สเปรย์ หรือ ดึงจุดเด่นของวัตถุดิบ ส่วนประกอบ ออกมาเป็นจุดขาย เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์
              




     การเข้าใจ และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่อธุรกิจ การสต็อก การคาดการณ์ว่าสินค้าอาจราคาสูงขึ้นเพราะนำเข้าไม่ได้ ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย ล้วนเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาคิด วิเคราะห์ และทำความเข้าใจเพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 
           4. มีสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจซื้อเพิ่มเติม
              

     แม้ว่าตอนนี้ธุรกิจอาจเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก และค่อยๆ เติบโตแบบช้าๆ แต่อย่าลืมว่าด้วยวิกฤติที่เกิดขึ้น ส่งผลให้แบรนด์ทั้งหลายต้องพยายามเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายบนโลกออนไลน์ เกิด Content ใหม่ๆ ในการเชื่อมต่อ สนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ทำให้เรามีโอกาสเข้าใจว่าลูกค้าคาดหวังอะไร ลูกค้าไม่ได้คาดหวังแค่จะได้รับผลิตภัณฑ์ หากแต่เป็นการส่งที่รวดเร็ว การรับประกันหลังการขายด้วยก็เป็นได้ 
              




     สำหรับแบรนด์ชั้นนำอย่าง Kenneth Cole เองก็ได้ประกาศบริจาคเงิน 20 เปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับกองทุน Solidarity Response Fund เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์การอนามัยโลกในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด หรือในขณะที่เราต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ก็จะมีโรงยิมหรือร้านฟิตเนส ที่อัดคลิปวีดิโอการออกกำลังกายมาเผยแพร่ให้เราได้ชมแบบไม่คิดค่าบริการ ทั้งหมดนี้คือ พลังของการให้ การแบ่งปัน ที่จะช่วยสร้างความรู้สึกดี สร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อแบรนด์ได้

 
            5. แก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง
     
      
     สุดท้ายแล้วการกระทำย่อมเสียงดังกว่าคำพูด เพราะต่อให้เราประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้บนโลกออนไลน์ดีเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ได้ลงมือทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้น ต้องทำสิ่งที่พูดให้เป็นเรื่องจริงให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารต่างๆ ที่เน้นความสะอาด ปลอดเชื้อ โดยพยายามปรับตัวด้วยการส่งอาหารถึงหน้าบ้านโดยไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายเจ้าของบ้าน หรือห้างค้าปลีกชื่อดังของสหรัฐฯ อย่าง Walmart ที่จัดสรรชั่วโมงพิเศษของการซื้อสินค้าให้กับผู้สูงอายุ ทำให้มั่นใจว่าลูกค้าจะสามารถซื้อสินค้าได้โดยไม่ต้องถูกแย่ง และมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสโควิดลดลง    
              


              

     นอกจากแนวทางเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการควรเน้นและให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และเพิ่มคุณค่าของแบรนด์ไปพร้อมๆ กัน นั่นจะทำให้ลูกค้าพูดถึงผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของเรามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้นตามไปด้วย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024