New Normal VS Old Normal SME รับมืออย่างไรกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

TEXT : กองบรรณาธิการ
 


 

Main Idea           
 
 
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมผู้บริโภคมาช่วยเบิกเนตร SME ด้วยผลสำรวจที่จะทำให้คนทำธุรกิจมองภาพตลาดกว้างขึ้น และไม่โหนกระแส New Normal จนวางแผนธุรกิจผิดทาง เพราะชีวิตแบบ Old Normal กำลังทยอยกลับมา แต่มีความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคบางอย่างที่น่าสนใจ ที่ SME ต้องรู้และปรับตัวให้ทัน
 
  • เทรนด์ความพอเพียงในการใช้ชีวิต และทำธุรกิจอย่างเพียงพอกำลังเบ่งบาน แต่จะอยู่รอดได้อย่างมั่นคงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ 4 คำนี้คือ ชัดเจน หลากหลาย คุณภาพ และความจริงใจ
 
 
              

     เชื่อว่านาทีนี้ SME หลายคนมีความกระหายใคร่รู้ว่าหลังผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในเฟสต่างๆ แล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง? จะยังเป็นชีวิตวิถีใหม่ หรือที่เรียกว่า New Normal เช่น ดูหนังหรือคอนเสิร์ตทางออนไลน์ เที่ยวผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง หรือไลฟ์สไตล์ทุกอย่างจะกลับไปเป็นแบบเดิม เพราะถ้ารู้เขารู้เรา เหล่า SME จะได้ออกแบบสินค้าและบริการได้ถูกจริตตรงใจผู้บริโภค
              

     ทั้งนี้ ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคยุคหลัง New Normal ของบริษัท เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ระบุชัดว่า New Normal นั้นเป็นแค่กระแสแฟชั่น ไม่คงอยู่ถาวรตลอดไป เมื่อทุกอย่างคลายล็อก ผู้บริโภคก็พร้อมกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเหมือนที่เคยเป็นมา





     “สรินพร จิวานันต์”
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จำกัด ให้เหตุผลว่า เพราะเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ได้ ผู้บริโภคไม่ได้ปลื้มกับการยกกิจกรรมอีเวนต์ On ground มาทำบนออนไลน์ โดยเฉพาะผู้บริโภคคนรุ่นใหม่กลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่พร้อมจะออกไปใช้ชีวิต สัมผัสประสบการณ์นอกบ้านอย่างเต็มที่ SME จึงควรค้าขายกับสองกลุ่มนี้ก่อนใคร แต่ถ้ามีลูกค้ากลุ่ม Gen X และ Baby Boomer ก็ให้เน้นเรื่องความปลอดภัย และความมั่นคงเป็นพิเศษไว้ก่อน





     อย่างไรก็ดี ทฤษฎีสร้างนิสัยใหม่ใน 21 วัน ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป หลังอยู่ติดบ้านนานหลายเดือน ผู้บริโภคหันมาพึ่งพาตนเอง และมีชีวิตพอเพียงมากขึ้น เช่น ปลูกผัก ทำกับข้าวกินเอง ทำของใช้เองในครัวเรือน ผู้คนหันมาอัพสกิลหรือทำอาชีพเสริม เพื่อให้มีรายได้หลายทาง ดังจะเห็นได้จากการเติบโตของ Homemade delivery ที่มีระบบโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศเป็นตัวเร่งให้ตลาดโตเร็วยิ่งขึ้น


     การตั้งเป้าหมายในชีวิตก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้คนปรารถนาจะมีสุขภาพที่แข็งแรง มีหน้าที่การงานมั่นคง รวยน้อยลงไม่ว่า แต่ต้องมีความสุขกับชีวิต วิถีการจับจ่ายก็เป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกผิดที่จะใช้เงิน นี่คือโจทย์ของ SME ที่จะต้องหากลยุทธมาทลายกำแพงความคิดดังกล่าว





     “ตอนนี้ผู้ประกอบการต้องกำเงินมากกว่ากำไร แนะนำให้ลดแลกแจกแถมไปเลย ยิ่งถ้าผู้บริโภคซื้อได้ในราคาที่ถูก คุ้มค่า หรือประหยัดเงินในกระเป๋าได้ เขาจะรู้สึกว่ามันคือชัยชนะ นั่นคือการทำงานของสมอง อยากให้ SME เน้นเรื่องการทำโปรโมชั่นไปเลย ไม่ต้องสร้างดีมานด์ ทำ Emotion Marketing ให้เสียเวลา”
 

     สรินพร เสริมว่า การแข่งขันในตลาดนับจากนี้จะรุนแรงไม่แตกต่างจากเดิม ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนผันไปคือ ผู้บริโภคมีความหลากหลาย แบ่งเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมากขึ้น ดังนั้น SME ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและจำนวนมากเพียงพอที่จะซื้อสินค้า ฉะนั้น อย่ามัวแต่โฟกัสช่องทางออนไลน์อย่างเดียว แต่ควรมีตะกร้ารับเงินที่หลากหลาย ปัจจุบันมีช่องทางใหม่ๆ ที่เติบโตอย่างเงียบๆ แต่แข็งแรงมากคือ Community Marketplace และ TV Direct ที่ไม่ควรมองข้าม





     “ช่องทางมาร์เก็ตเพลสของมหาวิทยาลัยต่างๆ ค่อนข้างมาแรง เช่น ธรรมศาสตร์มาร์เก็ตเพลส จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ฯลฯ เราเรียกว่า Friendship Economy หรือเศรษฐกิจแบบกัลยาณมิตร มันเป็นช่องทางการขายที่สตรองมาก เพราะมันมี Trust เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาแบรนด์ไม่สามารถสร้างความไว้วางใจตรงนี้ได้เลย ต่อให้ใช้พรีเซ็นเตอร์ ผู้บริโภคก็ไม่มั่นใจว่าใช้สินค้าจริงหรือเปล่า แต่มาร์เก็ตเพลสสร้างได้ เจ้าของขายเอง มีตัวตน ลูกค้ามั่นใจว่าสินค้าเป็นของดี แล้วมันเกิดการเกื้อกูลกันด้วย เธอซื้อฉัน ฉันซื้อเธออยู่ในคอมมูนิตี้ แถมยังช่วยบอกต่อ ก็ทำให้เกิดการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง” 





     ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจต้องทำใจยอมรับว่าการทำธุรกิจยุคนี้อาจไม่ได้รวยล้นฟ้า แต่หากทำดีๆ ธุรกิจย่อมสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างเพียงพอ


     “ในทุกวิกฤต มีผู้อยู่รอดและผู้ที่ล้มหายตายจาก ถ้าเราทำความเข้าใจว่าผู้บริโภคต้องการอะไร อย่างตอนนี้เทรนด์สุขภาพเป็นเมกะเทรนด์ที่ชัดเจนและเติบโตเร็วมาก ผู้คนหันมากินโปรตีนจากพืช (Plant-based protein) มากขึ้น ออกกำลังกายและทานวิตามินเสริม น่าเสียดายที่คนไทยทำเกษตรกรรมน้อยลง ทั้งที่มีโอกาสมหาศาลสำหรับประเทศเกษตรกรรมอย่างเรา SME อาจต่อยอดจากจุดนี้ก็ได้ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชเป็นเทรนด์โลกทั้งนั้น




     เมื่อสินค้าดี มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า มีความจริงใจในการนำเสนอสิ่งดีๆ ให้กับผู้บริโภค ไม่ต้องคิดว่ารวยมาก เชื่อว่าจะทำให้ SME อยู่ได้อย่างมั่นคงแน่นอน”
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024