ไม้ตายขายออนไลน์ให้เปรี้ยง! ‘ไอท้อปพลัส’ แนะ SME แก้เกมธุรกิจก่อนโกออนไลน์

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea           
 
 
  • ในวันที่การซื้อโฆษณาออนไลน์ ไม่ได้เทิร์นกลับมาเป็นยอดขายตามเป้า กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดออนไลน์แนะนำให้ SME ใช้โฆษณาแบบ Remarketing และให้ความสำคัญกับการสร้างคอนเทนต์ที่ดี เพื่อเป็น “ไม้ตาย”ในการกระตุกต่อมการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค  
 
  • การจัดการกระบวนการภายใน (Internal Process) ก็สำคัญไม่แพ้กัน บ่อยครั้งที่การตลาดออนไลน์เรียกลูกค้าเข้ามาหน้าร้านได้แล้ว แต่ SME กลับปิดการขายไม่ได้ แล้วจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ
 
  
          
               
     การปรากฏตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญทำให้ SME กระโดดขึ้นไปค้าขายอยู่บนโลกออนไลน์ แต่ในน่านน้ำ Red Ocean ที่ซับซ้อน ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และลงมือทำมากกว่าที่คิด


     เพราะยุคนี้ผู้บริโภคหาข้อมูลจากหลายๆ ช่องทาง มิได้จำกัดอยู่แค่ Google เหมือนเช่นแต่ก่อน กว่าจะตัดสินใจซื้อสินค้าสักชิ้น ต้องค้นหาทั้ง Google, Facebook, Line, Youtube, Pantip ฯลฯ ทำให้ Customer Journey ยาวเป็นหางว่าว ครั้นจะให้ SME ที่มีงบประมาณจำกัด ไปหว่านเงินโฆษณารายทาง ก็คงจะไม่ใช่ทางออกที่ดี  





     “กัมพล ธนาปัญญาวรคุณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอท้อปพลัส จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดออนไลน์ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าผู้ประกอบการควรแก้เกมด้วยการโฆษณาแบบ Remarketing หรือการทำการตลาดเพื่อย้ำความสนใจ เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เคยเป็นลูกค้ามาก่อน หรือเคยมีแอ็กชั่นส่งสัญญาณว่าสนใจในตัวสินค้า ถ้าทำโฆษณาย้ำไปอีกสักรอบ ก็อาจเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อสินค้าได้


     อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าสื่อออนไลน์สมัยนี้ก็ฉลาด อย่าง Facebook มีกลไกขยันหาสินค้าประเภทเดียวกันมาแบหราเปรียบเทียบให้เห็น แน่นอนว่าผลประโยชน์ตกอยู่กับผู้ซื้อ ส่วนผู้ขายอาจต้องเหนื่อยหนัก ถ้าลูกค้ามองหาของถูกอยู่ ก็จะฟันธงซื้อทันที แต่ถ้าเป็นลูกค้ากลุ่มที่อยากจะค้นหาข้อมูลเพื่อซื้อของดี นี่คือโอกาสของ SME ที่จะทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจ


     “สิ่งที่อยากจะย้ำคือ คอนเทนต์สำคัญ และเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายมากกว่าโฆษณา ผู้ประกอบการอาจคิดว่าคอนเทนต์เป็นเรื่องใหญ่ แต่ความจริงหาคนที่ทำกราฟฟิกง่ายๆ คนหนึ่ง ที่สามารถเขียนคอนเทนต์ง่ายๆ ได้ โดยเนื้อหาก็หยิบมาจากสิ่งที่ลูกค้าสนใจหรือถามเข้ามามาก เราก็หาข้อมูลมาตอบแบบไม่มโน ถ้ามีสถิติที่น่าเชื่อถือมาอ้างอิงด้วยยิ่งดีใหญ่


     คือขอแค่นำเสนอคอนเทนต์ดีๆ มากกว่าขายของ แล้วไม่จำเป็นต้องโพสต์วันละ 3 รอบ โพสต์แค่ 2 วันรอบก็ได้ เดี๋ยวยอด Like ยอด Share มาเองอัตโนมัติ การทำคอนเทนต์มันคือ น้ำซึมบ่อทราย SME ไม่ต้องรีบร้อน ทำไปเรื่อยๆ แล้วดีเอง แต่โฆษณาก็ยังจำเป็นต้องมี จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับงบประมาณ”





     กัมพล แชร์อีกประเด็นที่ผู้ประกอบการบนโลกออนไลน์ควรรู้ว่า เครื่องมือออนไลน์พาลูกค้ามาซื้อสินค้าได้ แต่จะปิดการขายได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝีมือการขายของผู้ประกอบการล้วนๆ อย่างในต่างประเทศ มีการคาดหวังว่าหากลูกค้าเข้ามาทักช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ต้องปิดการขายให้ได้ในสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์


     “ก่อนอื่นผู้ประกอบการต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนไทยยุคนี้ว่านิยมซื้อ-ขายผ่านทางแชต แล้วไปพิจารณาแก้ไขกระบวนการภายใน (Internal Process) ให้ถูกจุด ไม่ว่าจะเป็นทาง Line, Inbox ใน Facebook จะต้องมีกระบวนการขายที่ดี สิ่งที่ SME ต้องลงทุนแน่ๆ คือ แอดมิน ที่จะคอยตอบคำถามลูกค้าให้เคลียร์ชัดและเร็ว เพราะการตอบแชตช้าสัก  15 นาที ความสนใจก็ลดน้อยลงแล้ว


     หรือถ้าสินค้าของคุณจำเป็นต้องมีคนอธิบายสินค้า คุณต้องรับเซลล์ที่มีฝีมือ หรือลงซอฟต์แวร์พวก CRM เพื่อทำให้กระบวนการขายดีขึ้น และมั่นใจว่าคนจะไม่ออกจากร้านไปจนกว่าจะตัดสินใจซื้อสินค้า เรียกว่าทุก Touchpoint ต้องเป๊ะ มันเป็นการเพิ่ม Efficiency ที่สำคัญ ถ้าช่องทางไหนมีคนมารีวิวว่าไม่แฮปปี้กับตัวสินค้า ต้องรีบแก้ไข เพราะมีผลทำให้ผู้ซื้อขอคิดดูก่อน แทนที่จะตัดสินใจซื้อทันที”  





     ส่วนการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณา หากมีงบประมาณในระดับหนึ่ง กัมพลแนะให้ SME ทำการตลาดทั้ง Google, Facebook, Line ถ้ามีงบประมาณ อยากให้ทำต่อคือ Youtube เพราะตอนนี้มีคนเซิร์ชผ่านช่องทางนี้เยอะมากจนน่าตกใจ เครื่องมือสำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามคือ Website แม้วันนี้อาจจะไม่เห็นยอดอะไรมากมาย แต่เขาเชื่อว่าสักวันผู้ประกอบการจะรู้ซึ้งถึงประโยชน์ ในวันที่แต่ละแพลตฟอร์มที่ไปฝากขายสินค้า เรียกร้องขึ้นค่า GP หรือกำไรขั้นต้นขึ้นมา


     “ตลาดเมืองไทยมียอดใช้จ่ายโฆษณาออนไลน์เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอเมริกาที่ตัวเลขไปไกลถึง 40 เปอร์เซ็นต์ อนาคตจึงยังเติบโตอีกมาก แต่ SME ต้องเปิดโลกทัศน์มากกว่านี้ เพราะเครื่องมือที่กล่าวไปข้างต้นกำลังจะกลายเป็นภาคบังคับ และมันไม่พอแล้ว เช่น ถ้าขายสินค้าทั่วไป คุณอยู่บนมาร์เก็ตเพลสอย่าง Lazada, Shopee แล้วหรือยัง ถ้าขายอาหาร คุณอยู่บน Wongnai, Grab, LineMan ไหม


     จำไว้ว่าในหนึ่งการซื้อ ผู้บริโภคดูทุกจุด แต่โฆษณาแค่พาคนเข้ามา ส่วนคอนเทนต์จะทำให้คนตัดสินใจ นี่เป็นเรื่องที่อยากให้ SME ทุกคนใส่ใจ” กัมพลฝากไว้ทิ้งท้าย

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2