เศรษฐกิจดิจิตอล...ดันยอดลงทุนบรอดแบนด์ สะพัด 1.7 แสนล้าน





 

    ในโลกยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิตอลได้เข้ามามีบทบาทแทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต จะถูกต่อยอดอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิตอล หรือที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจฐานดิจิตอล” (Digital Economy) 

    ในระบบเศรษฐกิจฐานดิจิตอล การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต นับได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถเชื่อมโยงถึงกัน 
     
    ในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา ธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในปี 2557 มีจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมทั้งแบบมีสายและไร้สายในไทยกว่า 29.0 ล้านคน ขยายตัวกว่าร้อยละ 30.6 จากปี 2556 โดยมีอัตราการเข้าถึงกว่าร้อยละ 45.3 จากจำนวนประชากรทั้งหมด

    นอกจากนี้ โดยภาพรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปี 2558 ไปจนถึงปี 2559 จะมีการลงทุนโครงสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานหรือโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตต่างๆ ทั้งแบบมีสายและไร้สายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกว่า 173,200 ล้านบาท โดยคาดว่าในปี 2558 เงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากการลงทุนขยายโครงข่ายบรอดแบนด์แบบมีสายและโครงข่าย 3G ขณะที่ปี 2559 เงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากการลงทุนขยายโครงข่าย 4G

 

    
    ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีเสถียรภาพ ย่อมเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานดิจิตอลให้มีการขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว 

    นอกจากนี้ การพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้มีประสิทธิภาพและสามารถครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศได้ จะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตและการให้บริการของกลุ่มผู้ประกอบการ และเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะผู้ประกอบการในต่างจังหวัด เพราะจะสามารถใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับการพัฒนาการระบบห่วงโซ่อุปทานและพัฒนาระบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมาก

    อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ทางผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐในไทยส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาทางด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลออนไลน์จากการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต เนื่องจากต้นทุนในการพัฒนาสูง และยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบ รวมไปถึงการใช้ระบบ

     ในขณะที่ทางฝั่งผู้บริโภคไทยโดยภาพรวมยังมีสัดส่วนการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีแรงกดดันจากโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายที่ยังไม่สามารถครอบคลุมทั่วประเทศ และยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับอัตราค่าบริการที่อยู่ในระดับสูงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น 
 



    ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายร่วมกัน (Infrastructure Sharing) น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีต้นทุนสำหรับการลงทุนในการพัฒนาและขยายโครงข่ายต่ำลง สามารถมุ่งพัฒนาคุณภาพการให้บริการอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น นับว่าเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันอีกทางหนึ่งที่น่าจะทำให้อัตราค่าให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตถูกลง ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายตามครัวเรือนมากขึ้น 

    อีกทั้ง การให้ความรู้และความเข้าใจในความสำคัญของการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภควัยกลางคนที่มีอายุ 40 – 60 ปี จนถึงวัยสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป  ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานดิจิตอลประสบความสำเร็จ 




RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน