ร้อนแรงสุด! แพ็กเกจจิ้งอาหารรักษ์โลก โตทะยาน 1.3-1.6 หมื่นล้านบาท ใน 5 ปี

TEXT : กองบรรณาธิการ





Maim Idea

โอกาสแพ็กเกจจิ้งอาหารรักษ์โลก
 
  • การเติบโตของอาหารสะดวกซื้อ และธุรกิจเดลิเวอรี่ส่งผลให้เกิดวิกฤตขยะ คนจึงหันมาใส่ใจกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนาการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
  • ส่งผลให้มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรักษ์โลก ปี 2563 เติบโตเฉลี่ย 25 เปอร์เซ็นต์คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,100-2,400 ล้านบาท อยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารรวม
 
  • คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้า มูลค่าบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรักษ์โลก จะโตแตะ 13,000-16,000 ล้านบาท 


 
 
      รู้ไหมว่าเฉพาะปี 2563 บรรจุภัณฑ์อาหารสำหรับ Food Delivery น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 250 ล้านชิ้น!


       นี่คือข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจส่งอาหาร (Food Delivery) ทั้งอาหารและเครื่องดื่มแบบสะดวกซื้อ (Convenience Food) ที่ขยายตัวตามจำนวนประชากรและการบริโภคของคนไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เมือง ซึ่งเน้นสินค้าที่สะดวกรวดเร็ว มีปริมาณและพกพาง่ายมากขึ้น


       ส่งผลให้ปริมาณการใช้งานแพ็กเกจจิ้งอาหารและเครื่องดื่มในภาพรวม ทั้งในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร รวมถึงร้านอาหารรายย่อยต่างๆ ตลอดจน Food Delivery มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย





       อย่างไรก็ตามสิ่งที่ถูกทวงถามจากโลกตามมาคือวิกฤตการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นประเด็นปัญหาซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญในการจัดการบรรจุภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  การออกแบบสินค้าและส่งเสริมลดการใช้บรรจุภัณฑ์เท่าที่จำเป็น ไปจนถึงการสร้างกลไกการเรียกคืนและคัดแยกบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์ด้วย


      ปรากฎการณ์นี้ส่งอานิสงส์ถึงกระแสบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีกมากในอนาคต




               
ตลาดแพ็กเกจจิ้งอาหารรักษ์โลก ทะยานสู่หมื่นล้านใน 5 ปี
           


       ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้ปัจจัยท้าทายด้านมาตรฐานความปลอดภัยและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม จึงน่าจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์ทางเลือก โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Packaging) ในไทย ซึ่งถูกกระตุ้นด้วยสถานการณ์วิกฤตขยะบรรจุภัณฑ์ที่ยิ่งเน้นให้เห็นถึงความเร่งด่วนในการปรับตัวของผู้ประกอบการ แม้ว่าในปี 2563 ธุรกิจจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับลดต้นทุนบางส่วนลง ด้วยการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบดั้งเดิมที่มีราคาต่ำกว่าในระยะนี้ แต่มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะยังเติบโตเฉลี่ย 25 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,100-2,400 ล้านบาท ซึ่งชะลอลงจากปี 2562 ที่เติบโตเกือบเท่าตัว แต่ก็ยังทำให้ส่วนแบ่งตลาดในปี 2563 จะเพิ่มขึ้น จากประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรวม
               

       อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปใน 5 ปีข้างหน้า เชื่อว่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรักษ์โลกจะยังมีโอกาสขยายตลาดได้ ภายใต้ปัจจัยด้านความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บวกกับเงื่อนไขสนับสนุนการผลิต เช่น การมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการ ความพร้อมด้านวัตถุดิบทดแทน รวมทั้งมาตรการของภาครัฐในการสร้างระบบการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ


       ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า มูลค่าบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 13,000-16,000 ล้านบาท ในปี 2568 ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 8-10 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรวม





           
 
 ธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารต้องปรับตัวรับโอกาสในอนาคต
               

       จากกระแสแห่งโอกาส ส่งเสียงสะท้อนกลับมาให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์การลดขยะบรรจุภัณฑ์และความต้องการใช้งานของผู้บริโภค เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก
               

      ซึ่งมี 2 แนวทางหลัก คือ






      1.มาตรฐานบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เข้มข้นขึ้นทั่วโลก



       การกำหนดคุณภาพและมาตรฐานสำหรับภาชนะบรรจุอาหารจะยึดหลักด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยเพื่อการบริโภคเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เช่น มาตรฐานสำหรับภาชนะพลาสติกบรรจุน้ำบริโภค ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ เป็นต้น


       นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังจำเป็นต้องยกระดับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตระดับสากลและการพัฒนาของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามแนวทางมาตรฐานการผลิตที่ดี Good Manufacturing Practice (GMP) อีกทั้ง ยังต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาและกระบวนการผลิต ซึ่งจะเห็นได้จากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบ Smart Packaging ที่แสดงข้อมูลในแต่ละขั้นตอนของทั้งบรรจุภัณฑ์และอาหารที่บรรจุ






      2.บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (
Green Packaging) ที่สอดรับกับเทรนด์ความยั่งยืน


       ผู้ประกอบการทั้งห่วงโซ่การผลิตอาหารและเครื่องดื่มต่างให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจและเลือกใช้วัตถุดิบ/บรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่


       เช่น การซื้อสินค้าแบบ Refillable โดยผู้บริโภคสามารถนำบรรจุภัณฑ์มาบรรจุสินค้าได้เอง หรือธุรกิจให้บริการแบบเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลายประเภท เช่น บรรจุภัณฑ์กระดาษเคลือบกันความร้อน บรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติด้วยการฝังกลบอย่างเหมาะสม


       รวมถึงการนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลใช้ได้อย่างปลอดภัยสูงสุดถึง 95-100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีระบบการคัดแยกขยะและเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วถูกนำมารีไซเคิลหรือกำจัดอย่างถูกวิธีด้วย
               

       ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบดั้งเดิม เช่น Polyethylene Terephthalate (PET) และ Polypropylene (PP) ยังคงมีสัดส่วนการใช้งานในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด ดังนั้นการปรับตัวของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกน่าจะส่งผลบวกต่อภาพรวมของตลาด ทั้งในแง่ของการผลิตพลาสติกทางเลือก หรือการเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพลาสติกแบบดั้งเดิม โดยการปรับตัวของตลาดน่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการร้านค้าเริ่มใช้งานพลาสติก Oxo-(bio)degradable ที่มีการเติมสารเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดระยะเวลาการแตกตัวได้เร็วขึ้น โดยอาศัยแสงอาทิตย์ ความร้อน และออกซิเจน แต่พลาสติกชนิดนี้ยังคงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ทำให้หลายประเทศทั่วโลกอย่างสหภาพยุโรปมีมาตรการยกเลิกการใช้ Oxo-(bio)degradable และพิจารณาส่งเสริมพลาสติกชนิดอื่นทดแทน


      โดยแนวโน้มธุรกิจส่วนใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยอาจจะมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการรีไซเคิลพลาสติกเพื่อบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่ปลอดภัย เนื่องจากปัจจัยด้านความพร้อมของผู้ผลิตและระบบรีไซเคิลที่สามารถต่อยอดจากกระบวนการผลิตเดิม เช่น Recycled PET และ Recycled PP ซึ่งเอื้อให้ผู้ประกอบการทั้งรายกลางและรายย่อยสามารถปรับตัวได้ง่ายกว่าโดยเปรียบเทียบกับการผลิตไบโอพลาสติก เช่น Polylactic Acid (PLA) ซึ่งต้องมีแผนในการจัดหาวัตถุดิบ ลงทุนในเครื่องจักรและออกแบบกระบวนการผลิตเพิ่มเติม อีกทั้ง ในระยะแรกยังต้องอาศัยการทำตลาดที่เฉพาะเจาะจงเพื่อรองรับการผลิตไว้ล่วงหน้า เช่น การผลิตสำหรับธุรกิจในเครือที่มีคำสั่งซื้อแน่นอน ส่งผลให้การผลิตไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติยังคงอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมและเงินลงทุน
               

       อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยกลไกสนับสนุนเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขข้อกฎหมายให้สามารถใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานมาใช้ในการบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนในระบบติดตามและจัดการสำหรับขยะบรรจุภัณฑ์หลังใช้มาเข้าสู่การกำจัดอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเรียกคืนบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค


      เช่น การร่วมลงทุนสร้างระบบการติดตามเรียกคืนและกำจัดขยะบรรจุภัณฑ์ระหว่างภาครัฐและเอกชนในประเทศสวีเดน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตทำตลาดได้ง่ายยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสความคุ้มค่าการลงทุนในระยะยาว


       นอกจากนี้ ภาครัฐยังจำเป็นต้องมีมาตรการจูงใจในการลงทุน โดยเฉพาะผู้ผลิตรายกลางและรายย่อยอย่าง SME ให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตไบโอพลาสติกได้ในอนาคต บวกกับมาตรการเพิ่มแรงจูงใจของผู้บริโภค เพื่อให้ตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถขยายตลาดได้ในวงกว้าง และตอบโจทย์ปัญหาวิกฤตขยะบรรจุภัณฑ์ในระยะยาวได้อย่างแท้จริง
 





ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย




               
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024