คนกรุงส่อแววกินเจลดลง! ผู้ประกอบการต้องพลิกกลยุทธ์ แก้เกมพฤติกรรมคนเปลี่ยน

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 

     กลยุทธ์การตลาดตอบโจทย์คนกินเจ 2563

 
  • ควบคุมต้นทุนและปรับราคาอาหารลงให้เหมาะกับกระเป๋าเงินผู้บริโภค
 
  • เพิ่มความหลากหลายของเมนูอาหาร รวมถึงมีเมนูพิเศษในแต่ละวัน
 
  • นำเสนออาหารเจที่มีเน้นโภชนาการ ลดเลี่ยน/มัน ผสมผสานวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ
 
  • เพิ่มบริการเดลิเวอรี  เพิ่มความสะดวกและเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น
 
 


     กินเจปีนี้อาจไม่ได้คึกคักเหมือนทุกปี ผู้ประกอบการอาหารเจที่กำลังรอคอยโอกาสและความหวัง จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ในยุคที่วิกฤตโควิด-19 ยังกดดันการใช้ชีวิตของผู้คน และส่งผลกระทบถึงการกินเจที่ลดลงในปีนี้ด้วย



 
               
เศรษฐกิจพ่นพิษ คนกรุงกินเจลดลง
               

     ผู้ประกอบการรายใดที่กำลังรอโอกาสทำธุรกิจในเทศกาลกินเจ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 17-25 ตุลาคม 2563 โดยหวังว่าจะยังคงคึกคักและได้รับการตอบรับดีเยี่ยมจากทั้งผู้บริโภคคนไทยเชื้อสายจีนที่กินเจสั่งสมบุญ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมากินเจเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น อาจต้องเปลี่ยนความคิด หลังประเทศไทยยังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และกำลังซื้อที่ลดลง รวมถึงคนบางกลุ่มยังกังวลกับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการกินเจ และบรรยากาศการกินเจที่อาจไม่คึกคักเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา


     ดูได้จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ทำการสำรวจพฤติกรรมคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลกินเจปี 2563 พบว่า คนกรุงสนใจร่วมกินเจน้อยลง โดยอยู่ที่ร้อยละ 63.0 เมื่อเทียบกับกินเจปีก่อนที่มีผู้สนใจเข้าร่วมสูงถึงร้อยละ 66.7 และกลุ่มที่กินเจส่วนใหญ่ในปีนี้จะกินไม่ครบทั้ง 9 วัน โดยจะกินเพียงบางมื้อคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.6 ของผู้ที่กินเจทั้งหมด
 

     คนส่วนหนึ่งไม่กินเจเพราะความไม่สะดวก ปัจจัยด้านราคา โดยกลุ่มคนที่ไม่เข้าร่วมกินเจส่วนใหญ่จะอยู่ในสอง ช่วงอายุ คือ กลุ่มนักเรียน และกลุ่มอายุระหว่าง 30-44 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ที่มีภาระค่าใช้จ่ายครอบครัวค่อนข้างสูง และคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน จะเข้าร่วมกินเจน้อยที่สุด




               
            คนใช้เงินต่อมื้อน้อยลง ลดวันและลดจำนวนมื้อ


     จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ร้อยละ 33.0 ของกลุ่มที่กินเจได้รับผลกระทบ โดยในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 81.8 จะมีการปรับพฤติกรรม มาใช้วิธีควบคุมค่าใช้จ่ายมากขึ้น อันดับ 1 จะเลือกเมนูหรือร้านอาหารที่ไม่แพง รองลงมาคือการลดกับข้าว รวมถึงลดวันและจำนวนมื้อลง
 
 
     โดยกลุ่มคนที่กินเจบางมื้อมีการปรับพฤติกรรมจากเดิมที่ปีก่อนกินเจ 6 วัน เฉลี่ยวันละ 2 มื้อ รวม 12 มื้อตลอดช่วงเทศกาล ก็ปรับลดลงมาเหลือกินเจ 5 วัน เฉลี่ยวันละ 2 มื้อ รวมเป็น กินเจ 10 มื้อตลอดช่วงเทศกาล คิดเป็นจำนวนมื้อที่ปรับลดลงเฉลี่ย -12.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้ประกอบการที่จำหน่ายอาหารเจต้องวางแผนรับมือ โดยเฉพาะปริมาณอาหารที่ผลิตจำหน่ายออกมาในแต่ละวันต้องให้สอดรับกับความต้องการที่ลดลงนี้ด้วย


     ในด้านงบประมาณกินเจเฉลี่ยต่อมื้อก็ปรับลดลงด้วยเช่นกัน ทั้งในกลุ่มที่กินเจทุกมื้อ และกินเจบางมื้อ โดยกลุ่มที่กินทุกมื้อปรับงบลงจาก 105 บาทต่อมื้อ ในปีที่ผ่านมา เหลือเฉลี่ย 100 บาทต่อมื้อ และสำหรับกลุ่มที่กินเจบางมื้อ ปรับลดลงจาก 100 บาทต่อมื้อ เป็น 92 บาทต่อมื้อ คิดเป็นงบลดลงประมาณ -5.9 เปอร์เซ็นต์


     ในส่วนสถานการณ์ที่ช้อปอาหารเจ จะเป็นร้านค้าแผงลอย ร้านริมทาง และตลาดสดมากขึ้น โดยมีสัดส่วนร้อยละ 30.1 ของช่องทางทั้งหมด ซึ่งต่างจากปีก่อนที่นิยมซื้ออาหารจากที่ร้านมาทานเป็นลำดับแรก โดยนอกจากความหลากหลาย และการซื้อหาที่สะดวกแล้ว ยังเป็นการคำนึงถึงราคา ซึ่งตอบโจทย์คนกินเจภายใต้สภาวะการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้นั่นเอง และจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ คาดว่าจะทำให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายกินเจของคนกรุงปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3,930 ล้านบาท หรือหดตัวลงที่ 17.4 เปอร์เซ็นต์



               
         
   ผู้ค้าต้องปรับกลยุทธ์ ตอบโจทย์คนกินเจพฤติกรรมเปลี่ยน


     ปีนี้พฤติกรรมคนกินเจไม่เหมือนกับปีก่อน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย แบ่งคนกินเจออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่กินเจทุกมื้อตลอดช่วงเทศกาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนกินเจดั้งเดิมหรือกลุ่มที่ทานอาหารมังสวิรัติเป็นประจำ และกลุ่มที่กินเจบางมื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่


     โดยความต่างของสองกลุ่มนี้คือ กลุ่มคนที่กินเจทุกมื้อ จะให้น้ำหนักด้านสุขภาพในสัดส่วนที่สูงกว่าคนกินเจบางมื้อ เนื่องจากต้องทานทุกมื้อตลอด 9 วัน ขณะที่กลุ่มที่กินเจบางมื้อ จะให้ความสำคัญกับการหาอาหารเจทานที่มีความสะดวกสูง ยิ่งเข้าถึงง่าย ยิ่งจูงใจให้คนกลุ่มนี้


     หากผู้ประกอบการอาหารเจต้องการจับตลาดคนกินเจทุกกลุ่ม ก็ควรให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การตลาดที่สอดคล้องกับพฤติกรรม ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

 
  • กลยุทธ์ด้านราคาอาหารที่ต้องไม่แพง


     สำหรับปีนี้ เบื้องต้น ควรต้องรักษาระดับราคาอาหารเจให้มีความแตกต่างกับอาหารทั่วไปไม่มาก รวมถึงไม่แตกต่างกับราคาของปีก่อนโดยเปรียบเทียบ เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ โดยอาจต้องมีการบริหารโดยใช้วัตถุดิบที่สามารถทดแทนกันได้ เพื่อควบคุมต้นทุน

 
  • กลยุทธ์ด้านความหลากหลายของเมนูอาหาร


     ที่ใช้วัตถุดิบแตกต่าง ที่ควรมีการปรับเปลี่ยน หรือมีเมนูพิเศษแปลกใหม่ในแต่ละวัน เพื่อดึงลูกค้าให้กลับมาใช้บริการใหม่ โดยอาจมีการฟิวชั่นหรือการดัดแปลงผสมผสานอาหารเจรูปแบบใหม่ๆ หรืออาจมีการนำเสนอวัตถุดิบที่มีความแตกต่าง เพื่อสร้างกระแสและทำให้เกิดการทดลองทาน อาทิ โปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) ที่มีรสสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์ รวมถึงมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อทดแทนโปรตีนเกษตร รวมถึงหมี่กึ่ง เป็นต้น




 
  • กลยุทธ์ด้านสุขภาพที่เน้นโภชนาการ


     ผู้ประกอบการอาจต้องนำเสนออาหารเจที่มีความแตกต่าง อาทิ ลดเลี่ยน/มัน ขณะเดียวกัน อาจมีการผสมผสานวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผักผลไม้ปลอดสารพิษ ข้าวที่มีโภชนาการสูง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารเจ ควรมีมาตรการเข้มงวดด้านสุขอนามัยป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งในส่วนของภาชนะ พนักงานที่ให้บริการ เพื่อเพิ่มความมั่นใจต่อผู้ที่ยังกังวลต่อโควิด-19

 
  • กลยุทธ์ด้านความสะดวกเพื่อเพิ่มการเข้าถึงลูกค้า


     สำหรับกลุ่มลูกค้าที่กินเจทุกมื้อตลอด 9 วัน ผู้ประกอบการอาจให้บริการจัดเมนูอาหารในแต่ละวัน เพื่อจัดส่งถึงที่พักที่อยู่ใกล้ร้านค้า โดยมีข้อแม้ว่าบริการดังกล่าวต้องไม่ทำให้ราคาอาหารเปลี่ยนแปลงไปมาก 
 

     นี่คือความเปลี่ยนแปลงของตลาดเจในปีนี้ ที่ผู้ประกอบการอาหารเจอาจได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมเทศกาลที่คงไม่คึกคักเท่าปีก่อน ขณะที่การแข่งขันในตลาดนี้ก็มีค่อนข้างสูง ซึ่งผู้ประกอบการต้องบริหารต้นทุนวัตถุดิบประเภทผักผลไม้ ซึ่งปีนี้ราคามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาอาหารเจ ขณะเดียวกัน ต้องมีการติดตามพฤติกรรมการกินเจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มลูกค้า เพื่อจัดเตรียมกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างเหมาะสม
 
 
     ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี




 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024