“คน ชุมชน เมืองเก่า” เปลี่ยนเรื่องเล่าให้เป็นจุดขาย สไตล์ท่องเที่ยวภูเก็ต

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : Woo Gallery





Main Idea
 
 
     สร้างจุดขายในแบบท่องเที่ยวชุมชมภูเก็ต
 
 
  • ดึงเรื่องราวของ คน ชุมชน และเมืองเก่า มาสร้างจุดขายใหม่
 
  • จัดรูปแบบการท่องเที่ยวที่ Exclusive ยากจะหาจากที่ไหนได้
 
  • เน้นการทำงานร่วมกันของชุมชน
 
  • การจัดรูปแบบการท่องเที่ยวไปพร้อมกับการอนุรักษ์
 
  • ให้คุณค่ากับมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบสานกันมานาน
 
  • ดึงการท่องเที่ยวไปเป็นโมเดลเพื่ออนุรักษ์สิ่งดีงามไว้
 


 
               
     สิ่งของบางอย่าง วัฒนธรรมประเพณีที่เราเห็นจนคุ้นชิน ตำนานและเรื่องเล่าที่ฟังกันมาตั้งแต่เด็ก อาจไม่สามารถดึงดูดความสนใจของเราได้มากมายนัก จนหลายครั้งก็อาจเผลอละเลยมองข้ามไป แต่กับคนต่างถิ่น ต่างพื้นที่ ต่างวัฒนธรรม เรื่องราวแสนธรรมดาเหล่านั้นกลับสร้างแรงดึงดูดใจให้อยากไปสัมผัส จนกลายเป็นโอกาสธุรกิจและการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ขึ้นมาได้
               

     เช่นเดียวกับเรื่องเล่าของ คน ชุมชน และเมืองเก่า ในจังหวัดภูเก็ตที่เรานำมาฝากกันวันนี้




               
                เผด็จ วุฒิชาญ” กับเรื่องเล่าของตระกูลหวู ที่ Woo Gallery & Boutique Hotel
             

     ใครที่ไปเยี่ยมเยือนภูเก็ตแล้วแวะไปย่านเมืองเก่าคงมีโอกาสได้เจอกับ “หวู แกลเลอรี่ แอนด์ บูติกโฮเทล” (Woo Gallery & Boutique Hotel) การรวมตัวกันของโรงแรมและพิพิธภัณฑ์ที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแนวชิโน-ยูโรเปียนซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี เดิมบ้านหลังนี้ คือร้านขายนาฬิกานำเข้าจากต่างประเทศและรับซ่อมนาฬิกา ชื่อร้าน “หม่อเส้ง” เจ้าของคือ “หงอเลียดฉ่าน” ชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากมณฑลฟูเจี้ยน จีนแผ่นดินใหญ่ และได้แต่งงานกับ “ตันสิ้วหอง” ลูกสาวเจ้าของร้าน “หม่อหงวน” ที่ขายสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน ภายหลังร้านหม่อเส้งต้องปิดตัวลงเพราะสภาพเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ร้านยังใช้เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว จนทั้งสองเสียชีวิตลง ลูกหลานก็แยกย้ายกันออกไป





     จนปี 2560 “เผด็จ วุฒิชาญ” หลานชายของหงอเลียดฉ่าน ในฐานะทายาทรุ่น 3 ก็เข้ามาซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเก่าและเปลี่ยนเป็น  Woo Gallery & Boutique Hotel โรงแรมและพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและตำนาน กับประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าร้อยปี ภาพถ่ายเก่า ข้าวของเครื่องใช้ ของสะสมโบราณที่ส่งต่อในตระกูล รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ในตัวบ้าน ในส่วนของห้องพักตกแต่งสไตล์ Heritage Contemporary Design ให้กลิ่นอายวัฒนธรรมจีนผสมยุโรป และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน นอกจากนี้ยังมีห้องอาหารที่ให้บริการอาหารพื้นเมืองภูเก็ต เป็นเสน่ห์ให้ใครหลายคนอยากมาแวะเยือนหา


     ขณะที่เผด็จเอง ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของครอบครัวได้อย่างฉะฉาน กลายเป็นจุดขายที่ผูกเอาความเป็น “คน ชุมชน และเมืองเก่า” มาดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้อย่างน่าสนใจ และทำให้บ้านเก่าหลังนี้ไม่เคยเงียบเหงาอีกเลยในวันนี้



 

“แอนนี่-อธิษฐ์รดา จันทร์ชูวณิชกุล” นางฟ้ากู่เจิงผู้มากพรสวรรค์แม้พิการทางสายตา
               

     ใครที่ไปเยี่ยมเยือนเมืองเก่าภูเก็ต และเลือกทัวร์วัฒนธรรมโดยมีไกด์ท้องถิ่นนำทางไปสัมผัสเรื่องราวสุด Exclusive คงไม่พลาดไฮไลท์สำคัญอย่างการจิบชายามบ่ายฟังเสียงเพลงเพราะๆ จาก “แอนนี่-อธิษฐ์รดา” นักดนตรีกู่เจิงลูกหลานชาวภูเก็ตผู้พิการทางสายตาคนเดียวในประเทศไทย เจ้าของฉายา “นางฟ้ากู่เจิง”
               

     แอนนี่ เป็นสาวสวยผู้มีรอยยิ้มเปื้อนใบหน้าอยู่เสมอ เสียงเพลงเพราะๆ ทั้งเพลงเก่า เพลงใหม่ เพลงไทย เพลงจีน ที่ถ่ายทอดออกมาอย่างมากพรสวรรค์จนหลายคนอาจไม่เชื่อว่า ความจริงแล้วเธอมองเห็นเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นตั้งแต่กำเนิด โดยครอบครัวสนับสนุนให้เธอเล่นดนตรีหลากหลายชนิด จนมาเจอกับ “กู่เจิง” หนึ่งในเครื่องดนตรีที่ถูกยกให้เป็นเครื่องดนตรีปราบเซียนเพราะมีถึง 21 สาย และแม้แต่คนสายตาดีก็ไม่ใช่จะเล่นเป็นได้ง่ายๆ เธอบอกว่าเลือกเล่นกู่เจิงเพราะมีแรงบันดาลใจจากการได้ฟังฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงกู่เจิง จึงลองฝึกเล่น และหาโอกาสไปเรียนเพิ่ม แม้ช่วงแรกๆ จะเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะข้อจำกัดทางสายตา แต่เธอก็พัฒนาฝีมือขึ้นมาเรื่อยๆ จนมีโอกาสได้โชว์ฝีมือที่งานเทศกาลของ จ.ภูเก็ต ทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จัก และเริ่มเล่นดนตรีเป็นอาชีพนับแต่นั้น
 

     วันนี้แอนนี่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวชุมชนภูเก็ต เป็นหมุดหมายที่ใครหลายคนอยากแวะเยือนเพื่อฟังเสียงเพลงเพราะๆ และพรสวรรค์อันน่าทึ่ง ซึ่งนอกจากจะเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามด้วยเสียงเพลงเพราะๆ จากกู่เจิงแล้ว เธอยังเป็นเหมือนทูตวัฒนธรรมที่คอยบอกเล่าความน่าสนใจของเมืองภูเก็ต เชื้อเชิญให้ผู้คนได้มาท่องเที่ยวในเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาหารอร่อย ตึกรามบ้านช่องงดงาม และตำนานที่ยังมีลมหายใจแห่งนี้



 
 
            “แปะโป้-มนูญ หล่อโลหะการ”  ทายาทผู้สืบสานโรงตีเหล็กแห่งสุดท้าย “ไต่สุ้นอั้น”


     นอกจากสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมอันงดงามและหลากหลาย ภูเก็ตยังเป็นหนึ่งในเมืองที่เต็มไปด้วยร่องรอยของความรุ่งเรืองในอดีต หนึ่งในนั้นคือ “ไต่สุ้นอั้น” โรงตีเหล็กแห่งสุดท้ายบนถนนดีบุก ภาพสะท้อนความรุ่งเรืองในยุคการทำเหมืองแร่ แม้จะผ่านมากว่าร้อยปีแต่โรงเหล็กแห่งนี้ก็ยังคงอยู่ โดยมี “แปะโป้-มนูญ” วัย 68 ปี ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ผู้สืบทอดโรงตีเหล็ก ไต่สุ้นอั้น คอยทำหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่แวะมาเยือนร้านในความทรงจำแห่งนี้
 

     ใครที่แวะมาที่นี่คงคุ้นตาดีกับแปะโป้ในชุดกางเกงยีนส์ตัวเก่ง ไม่สวมเสื้อ พร้อมทำงานกับความร้อน คอยสาธิตอุปรกณ์เครื่องใช้ในการตีเหล็ก และชักชวนให้นักท่องเที่ยวได้ลองถือค้อนทุบเหล็กร้อนๆ ดูสักครั้ง แปะโป้เริ่มตีเหล็กมาตั้งแต่สมัยเรียน ป.6 และฝึกฝนจนประกอบอาชีพเป็นช่างตีเหล็กอย่างเต็มตัวเมื่ออายุ 16 ปี และทำอาชีพนี้มากว่า 5 ทศวรรษแล้ว สามารถเลี้ยงดูครอบครัวและส่งเสียลูกๆ จนจบปริญญาตรี และยังคงตีเหล็กอย่างมีความสุขอยู่ในวันนี้
ในวันที่โรงตีเหล็กล้มหายตายจาก ก่อนที่อาชีพช่างตีเหล็กจะกลายเป็นตำนาน ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตจึงช่วยกันอนุรักษ์โรงตีเหล็กแห่งสุดท้ายไว้ โดยการเอาการท่องเที่ยวมาสนับสนุน โรงตีเหล็กไต่สุ้นอั้น จึงมีบทบาทใหม่เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อต้อนรับผู้คนให้มารู้จักกับโรงตีเหล็ก เรียนรู้อุปกรณ์ต่างๆ และบรรยากาศภายในร้านที่เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต บางครั้งก็มีเสียงเพลงจีนมาขับกล่อม ชักชวนผู้คนให้ย้อนเวลาไปสัมผัสคุณค่าและร่องรอยความรุ่งเรืองในอดีตของพวกเขาอีกครั้ง



 
               

     นี่คือตัวอย่างของการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ทำโดยชุมชนเพื่อชุมชน โดยเลือกดึงเสน่ห์ของ “คน ชุมชน และเมืองเก่า” มาเล่าใหม่จนกลายเป็นจุดขายที่นักท่องเที่ยวทั่วสารทิศอยากแวะมาเยือนหา การทำงานร่วมกันของชุมชน การจัดรูปแบบการท่องเที่ยวไปพร้อมกับการอนุรักษ์ และการให้คุณค่ากับมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบสานกันมานาน คือสิ่งที่ทำให้ภูเก็ตประสบความสำเร็จในการจัดการท่องเที่ยวในวันนี้  ซึ่งชุมชนอื่นๆ ก็สามารถนำแนวทางนี้ไปสร้างจุดขายที่มีเสน่ห์ในแบบของตัวเองได้เช่นกัน
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2